Nobel Prize in Chemistry 2022

พันธะเคมี ว่าง่ายๆ ก็คือแรงที่เชื่อมต่ออะตอมต่างๆ เข้าด้วยกันให้เกิดเป็นโมเลกุลที่มีคุณสมบัติหลากหลาย การสร้างพันธะเคมี จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่นักเคมีใช้ในการสังเคราะห์สารเคมีต่างๆ ที่ใช้ประโยชน์ได้ในชีวิตประจำวัน ตัวอย่างเช่น กาวตราช้าง ที่ตอนอยู่ในหลอดเป็นของเหลวใส แต่เมื่อเราบีบมันออกมาจากหลอดเนื้อกาวก็จะเกิดปฏิกิริยากับความชื้นในอากาศ เกิดการสร้างพันธะเป็นสายโซ่โพลิเมอร์ที่สามารถเชื่อมต่อวัตถุสองชนิดเข้าด้วยกันได้อย่างแน่นหนา หรือยารักษาโรคทั้งหลาย ก็ล้วนเกิดจากการนำโมเลกุลย่อยๆ มาเชื่อมต่อกันด้วยพันธะเคมี เพื่อให้มีโครงสร้างที่สามารถจับกับ receptor ในสิ่งมีชีวิต และรักษาโรคได้ สารเคมีหลายชนิดที่เราใช้ในชีวิตประจำวันนั้นมีโครงสร้างซับซ้อน ต้องผ่านกระบวนการสร้างพันธะหลายขั้นตอน การสังเคราะห์สารเหล่านี้ให้มีต้นทุนต่ำ จึงต้องอาศัยการออกแบบปฏิกิริยาการสร้างพันธะให้มีประสิทธิภาพสูงที่สุด ใช้เวลาในการทำปฏิกิริยาน้อยที่สุด และเกิดผลพลอยได้ที่ไม่พึงประสงค์น้อยที่สุด เพื่อลดกระบวนการแยกสารที่ไม่ต้องการเหล่านี้ออก

ในช่วงปี 2000 Barry Sharpless ซึ่งปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์ทางด้านเคมีอยู่ที่ Scripps Reserach Institute ณ สหรัฐอเมริกา ได้ริเริ่มพูดถึงไอเดีย click chemistry หรือการสร้างพันธะเคมีที่เกิดขึ้นอย่างว่องไว มีความจำเพาะเจาะจงและประสิทธิภาพสูง และทำได้ง่าย ทั้งในสภาวะที่มีออกซิเจน และในตัวทำละลายน้ำ ซึ่งในเวลานั้น มีปฏิกิริยาที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงอยู่บ้างแต่ก็ยังไม่ดีพอ Sharpless และทีม จึงลงมือวิจัยหาปฏิกิริยาในอุดมคติที่ว่านี้ โดยหวังว่าจะทำให้การสังเคราะห์โมเลกุลยาราคาแพงต่างๆ ทำได้ง่ายและถูกลง [1]

 

ในปี 2001 Morten Meldal ศาสตราจารย์เคมีจาก University of Copenhagen ประเทศเดนมาร์ก กำลังพัฒนาทำเนียบโมเลกุล (molecular libraries) เพื่อใช้เป็นยาต้นแบบ งานวิจัยนี้ทำให้เขาและทีมต้องสังเคราะห์โมเลกุลใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลาเพื่อนำมาศึกษาฤทธิ์ต่อต้านโรค ด้วยความบังเอิญ เขาได้พบว่า ตัวเร่งปฏิกิริยาทองแดง (copper) สามารถเร่งปฏิกิริยาระหว่างหมู่ azide (ไนโตรเจนสามอะตอมเชื่อมต่อกันด้วยพันธะคู่ N=N=N) กับหมู่ alkyne (คาร์บอนสองอะตอมเชื่อมต่อกันด้วยพันธะสาม) ให้เกิดเป็นวง triazole ได้ที่อุณหภูมิห้องด้วยความแม่นยำและรวดเร็ว โดยปฏิกิริยา copper-catalysed azide-alkyne cycloaddition (CuAAC) นี้มีความรวดเร็วกว่าปฏิกิริยาที่ไม่ได้ใส่ตัวเร่งทองแดงถึง 10 ล้านเท่า! และยังใช้ผลิตวง triazole ซึ่งเป็นหมู่ฟังก์ชันทางเคมีที่สำคัญสำหรับการผลิตยา สี และสารเคมีทางการเกษตร ได้หลากหลายชนิด [2,3]

ในปีเดียวกันนั้นเอง Sharpless ได้เผยแพร่ผลงานวิจัยเกี่ยวกับปฏิกิริยาที่มีลักษณะคล้ายกับงานวิจัยของ Meldal โดยมิได้นัดหมาย [4] Sharpless และทีม แสดงให้เห็นว่าปฏิกิริยาระหว่าง alkyne และ azide ที่มีทองแดงเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา สามารถเกิดขึ้นได้ในน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ และมีความแม่นยำสูง อย่างที่แทบจะไม่มีปฏิกิริยาไหนเทียบได้ ด้วยความเรียบง่ายและไว้วางใจได้ ทำให้ปฏิกิริยานี้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก และถูกนำมาใช้ในการพัฒนาวัสดุพลาสติก วัสดุนำไฟฟ้า สารต่อต้านแบคทีเรีย และสารเคมีต่างๆ มากมาย

 

 

ผู้ชนะรางวัลโนเบลคนสุดท้าย คือ Carolyne Bertozzi (ปัจจุบันดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์เคมี ณ Stanford University สหรัฐอเมริกา) ผู้นำคอนเซปต์ของ click chemistry เข้าไปใช้ในวงการชีวโมกุล (molecular biology)

ย้อนกลับไปในช่วงปี 1990 เริ่มมีงานนำเทคนิคทางชีวโมกุลมาใช้ในการติดตามยีนและโปรตีนในเซลล์ เพื่อศึกษาการทำงานของเซลล์ โมเลกุลกลุ่มหนึ่งที่มีความสำคัญมากแต่ศึกษาได้ยากในยุคนั้น คือ โมเลกุลน้ำตาล glycan ซึ่งพบได้บนพื้นผิวของโปรตีนและเซลล์ และมีความเกี่ยวข้องกับกระบวนการสำคัญมากมาย เช่น กระบวนการที่ไวรัสเข้าสู่เซลล์ หรือกระบวนการสร้างภูมิคุ้มกันในสิ่งมีชีวิต

Bertozzi เป็นผู้ริเริ่มพัฒนากลไกทางชีวโมเลกุลเพื่อใช้ในการศึกษา glycan โดยกลไกที่ว่านี้จะต้องมีคุณสมบัติที่สำคัญ 2 ประการคือ (1) สามารถเชื่อม glycan เข้ากับสารเรืองแสงได้ เพื่อให้สามารถติดตาม glycan ในเซลล์ได้ด้วยกล้องจุลทรรศน์ และ (2) จะต้องใช้ได้ในสภาวะปกติของเซลล์ โดยไม่มีการรบกวนการทำงานของเซลล์ และไม่ทำปฏิกิริยากับหมู่ฟังก์ชันอื่นๆ ของสารเคมีที่พบในเซลล์ หรือที่ Bertozzi เรียกว่า bioorthogonal chemistry [5]

ในช่วงปี 2000 Bertozzi สามารถพัฒนากลไกการติดสารเรืองแสงเข้ากับ glycan ได้สำเร็จ โดยเป็นการป้อนน้ำตาลพิเศษที่มีหมู่ azide ลงในเซลล์ เพื่อให้หมู่ azide ไปปรากฎอยู่บนน้ำตาล glycan ซึ่งจะทำปฏิกิริยากับสารเรืองแสงที่มีหมู่ฟอสฟีน แต่กลไกดังกล่าวยังมีข้อจำกัดบางประการอยู่ [6-8]

ผลงานวิจัยของ Meldal และ Sharpless เรื่องการใช้ทองแดงเร่งปฏิกิริยาระหว่าง azide และ alkyne นั้นสร้างแรงบันดาลใจให้ Bertozzi พัฒนากลไกการติดแท็กน้ำตาล glycan ที่ดีกว่าเดิม แต่จะเอา click chemistry เวอร์ชันหลอดทดลองมาใช้ตรงๆ กับเซลล์เลยก็ไม่ได้ เพราะตัวเร่งปฏิกิริยาทองแดงนั้นมีความเป็นพิษต่อเซลล์ Bertozzi จึงไปค้นงานวิจัยที่มีก่อนหน้า แล้วพบว่า ถ้าใช้ cyclooctyne (วงคาร์บอน 8 อะตอมที่มีหมู่ alkyne หนึ่งตำแหน่ง) ซึ่งเป็น alkyne ที่มี strain สูง มาทำปฏิกิริยากับหมู่ azide จะเกิดได้รวดเร็วมากโดยไม่ต้องมีตัวเร่งปฏิกิริยา เนื่องจากพันธะ alkyne โดยปกติจะเป็นเส้นตรง ทำมุม 180 องศา แต่พอทำให้เป็นวง 8 เหลี่ยม จะถูกบีบให้ทำมุม 118 องศา ทำให้หมู่ alkyne นั้นผิดรูป พร้อมจะแตกออกได้โดยง่าย [9,10] กลไกการติดแท็ก glycan แบบใหม่นี้มีประสิทธิภาพมาก เปิดประตูบานใหญ่ให้กับการศึกษาการทำงานของเซลล์ ไปจนถึงการพัฒนาวัคซีน และยาใหม่ๆ ที่มีประโยชน์กับมนุษยชาติอีกมากมาย

 

#สรุป
คอนเซปต์ของ click chemistry และ bioorthogonal chemistry นั้น ก่อให้เกิดการค้นพบใหม่ๆ มากมายในวงการเคมี รวมไปถึงวงการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งด้านการพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยา พัฒนายาชนิดใหม่ เซนเซอร์ สารเรืองแสง การเชื่อมต่อสารชีวโมเลกุลเข้าด้วยกัน รวมไปถึงการติดตามกระบวนการทางชีววิทยาที่มีความซับซ้อนได้ จึงทำให้นักวิจัยทั้ง 3 ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีในปี 2022 นี้นี่เอง

เรียบเรียงโดย: ดร. บุญรัตน์ รุ่งทวีวรนิตย์
บรรณาธิการ: ดร. ปองกานต์ จักรธรานนท์

 

อ้างอิง
[1] https://www.nobelprize.org/…/chemistry/2022/press-release/

[2] Tornøe, C. W.; Meldal, M. Peptidotriazoles: Copper(I)-Catalysed 1,3-Dipolar
Cycloadditions on Solid Phase. In Peptides 2001, proc. Am. Pept. symp.; American Peptide
Society; American Peptide Society; Kluwer Academic Publishers: San Diego, 2001; pp 263–264.

[3] Tornøe, C. W.; Christensen, C.; Meldal, M. Peptidotriazoles on Solid Phase: [1,2,3]-
Triazoles by Regiospecific Copper(I)-Catalyzed 1,3-Dipolar Cycloadditions of Terminal Alkynes to Azides. J. Org. Chem. 2002, 67 (9), 3057–3064.

[4] Rostovtsev, V. V.; Green, L. G.; Fokin, V. V.; Sharpless, K. B. A Stepwise Huisgen
Cycloaddition Process: Copper(I)-Catalyzed Regioselective “Ligation” of Azides and Terminal
Alkynes. Angew. Chem. Int. Ed. 2002, 41 (14), 2596–2599.

[5] Dube, D. H.; Bertozzi, C. R. Metabolic Oligosaccharide Engineering as a Tool for
Glycobiology. Curr. Opin. Chem. Biol. 2003, 7 (5), 616–625

[6] Saxon, E.; Armstrong, J. I.; Bertozzi, C. R. A “Traceless” Staudinger Ligation for the
Chemoselective Synthesis of Amide Bonds. Org. Lett. 2000, 2 (14), 2141–2143

[7] Saxon, E.; Bertozzi, C. R. Cell Surface Engineering by a Modified Staudinger Reaction.
Science 2000, 287 (5460), 2007–2010.

[8] Prescher, J. A.; Dube, D. H.; Bertozzi, C. R. Chemical Remodelling of Cell Surfaces in Living
Animals. Nature 2004, 430 (7002), 873–877.

[9] Agard, N. J.; Prescher, J. A.; Bertozzi, C. R. A Strain-Promoted [3 + 2] Azide−alkyne
Cycloaddition for Covalent Modification of Biomolecules in Living Systems. J. Am. Chem. Soc.
2004, 126 (46), 15046–15047.

[10] Baskin, J. M.; Prescher, J. A.; Laughlin, S. T.; Agard, N. J.; Chang, P. V.; Miller, I. A.; Lo,
A.; Codelli, J. A.; Bertozzi, C. R. Copper-Free Click Chemistry for Dynamic in Vivo Imaging. Proc. Natl. Acad. Sci. USA 2007, 104 (43), 16793–16797.

โพสต์ที่คุณน่าจะสนใจ

CCUS เทคโนโลยีกำจัดคาร์บอน สู่ทางรอดของประเทศไทย?

สวัสดีปีใหม่ 2567 ผู้อ่านทุกท่าน ปีเก่าผ่านไปปีใหม่เข้ามาพร้อมกับความท้าทายโจทย์ใหญ่โจทย์เดิม คือ สภาวะโลกร้อน ที่ทำให้เกิดสภาพอากาศแปรปรวน อันส่งผลกระทบต่อชีวิตมนุษย์และระบบนิเวศของโลก สภาวะโลกร้อนนี้มีสาเหตุหลักมาจากกิจกรรมของมนุษย์ที่เพิ่มปริมาณก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศ โดยก๊าซเรือนกระจกหลักก็คือคาร์บอนไดออกไซด์

CARBANO เทคโนโลยีผลิตถ่านกัมมันต์ประสิทธิภาพสูงจากวัสดุคาร์บอน

ประเทศไทยขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศแห่งอุตสาหกรรมเกษตรและมีวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรที่มากมายหลายหลาก การนำวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงจึงเป็นหนึ่งในแนวคิดสำคัญที่จะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับอุตสาหกรรมเกษตรของประเทศไทย หนึ่งในผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงที่สามารถผลิตได้จากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร คือ ถ่านกัมมันต์ (activated carbon) ซึ่งเป็นถ่านที่มีรูพรุนปริมาณมาก สามารถนำไปใช้ดูดซับและกำจัดสิ่งปนเปื้อนเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่สะอาดเหมาะกับการนำไปใช้อุปโภคและบริโภคในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น

รางวัลโนเบล สาขาเคมี 2023 ผู้ปลูกควอนตัมดอทส์ เมล็ดพันธุ์แห่งวงการนาโนเทคโนโลยี

รางวัลโนเบลสาขาเคมีประจำปี 2023 ได้มอบรางวัลให้กับการค้นพบและการพัฒนาควอนตัมดอทส์(Quantum Dots, QTDs) หรือ “จุดควอนตัม” ซึ่งเป็นอนุภาคที่มีขนาดเล็กมากในระดับ 1-10 นาโนเมตร

รู้จักกับ “ลิกนิน” สารธรรมชาติที่แสนจะไม่ธรรมดา

ลิกนิน (Lignin) เป็นพอลิเมอร์ธรรมชาติ ที่สามารถพบได้ในพืชทั่วไปสูงถึง 30% ทำหน้าที่เปรียบเสมือนกาวประสานช่วยยึดโครงสร้างพืชให้มีความแข็งแรง นอกจากนี้ยังช่วยลดการระเหยของน้ำ และช่วยป้องกันการถูกทำลายของเนื้อเยื่อจากจุลินทรีย์ได้อีกด้วย ลิกนินมีโครงสร้างแบบอะโรมาติก (Aromatic

หมวดหมู่

โพสต์ยอดนิยม

Biorefinery series: การผลิตกรดแลคติกจากน้ำตาล ด้วยกระบวนการเชิงเคมีความร้อน

ไบโอรีไฟเนอรี่ (Biorefinery) หรือ อุตสาหกรรมพลังงานและเคมีชีวภาพ คือ อุตสาหกรรมการผลิตแห่งอนาคตที่นำชีวมวล หรือวัตถุดิบที่ได้จากพืช มาใช้เป็นสารตั้งต้น (feedstock) ในการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ

Biorefinery series: น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพจากน้ำมันปาล์ม

น้ำมันปาล์มเป็นน้ำมันพืชที่ได้จากผลของต้นปาล์มน้ำมันซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่หมุนเวียนได้ น้ำมันปาล์มนั้นสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลาย ตั้งแต่นำมาใช้ได้โดยตรงเพื่อการปรุงอาหาร นำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง หรือนำมาใช้เป็นสารตั้งต้นในอุตสาหกรรมโอลีโอเคมี (oleochemical industry) เช่น ผลิตสารหล่อลื่นชีวภาพ (biolubricant)

โพสต์ล่าสุด

นาโนสารสนเทศและปัญญาประดิษฐ์ ใน ยุค Web 3.0

เราคงคุ้นเคยกับคำว่า ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เป็นอย่างดี ว่าจะมาช่วยมนุษย์ทำงาน คิดวิเคราะห์ข้อมูล และช่วยในการตัดสินใจ ทำให้เราทำงานได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เนื่องจาก

การคำนวณเคมีเชิงคอมพิวเตอร์ภายใต้กลุ่มวิจัย NCAS (ตอนที่ 1)

การพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาเคมีใหม่ๆ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการเคมี โดยหลักการนั้นไม่ต่างจากการออกแบบรถยนต์ ที่ต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจเชิงลึกเกี่ยวกับการทำงานของเครื่องยนต์ แต่ในกรณีของตัวเร่งปฏิกิริยาเคมี เครื่องยนต์กลไกที่เป็นหัวใจของการเกิดปฏิกิริยานั้น เป็นผลมาจากแรงอันตรกิริยาที่เป็นแรงดูดหรือแรงผลักระหว่างพื้นผิวของตัวเร่งและโมเลกุลของสาร ซึ่งปรากฎการณ์ดังกล่าวนั้นเกิดขึ้นในระดับนาโนเมตรหรือเล็กกว่า การวิเคราะห์วัสดุที่มาตราส่วนดังกล่าวนั้นมีความซับซ้อนและมักมีข้อกำจัดด้านเครื่องมือ หรือในบางกรณีสมบัติที่สำคัญนั้นยังไม่สามารถวัดได้โดยเครื่องมือที่มีอยู่ในปัจจุบัน