Biorefinery series: การผลิตกรดแลคติกจากน้ำตาล ด้วยกระบวนการเชิงเคมีความร้อน

ไบโอรีไฟเนอรี่ (Biorefinery) หรือ อุตสาหกรรมพลังงานและเคมีชีวภาพ คือ อุตสาหกรรมการผลิตแห่งอนาคตที่นำชีวมวล หรือวัตถุดิบที่ได้จากพืช มาใช้เป็นสารตั้งต้น (feedstock) ในการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ สารเคมี และพลาสติกชีวภาพ ด้วยกระบวนการทางเทคโนโลยีชีวภาพ เช่น กระบวนการหมัก การเร่งปฏิกิริยาด้วยเอนไซม์ หรือกระบวนการทางวิศวกรรมเคมี เช่น กระบวนการทางเคมีความร้อน เคมีไฟฟ้า หรือ ปฏิกิริยาเชิงแสง ซึ่งต้องอาศัยตัวเร่งปฏิกิริยาเคมี 

 

ประเทศไทยมีศักยภาพในการพัฒนาอุตสาหกรรมเคมีชีวภาพอย่างมาก เนื่องจากมีวัตถุดิบทางการเกษตรที่หลากหลาย มีอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องในการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ และมีอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่เข้มแข็ง ในทางทฤษฎี กระบวนการไบโอรีไฟเนอรี่นั้นสามารถผลิตสารเคมีชีวภาพ ที่นำมาใช้ทดแทนผลิตภัณฑ์จากปิโตรเลียมที่ผลิตจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมีได้โดยง่าย แต่ในทางปฎิบัติ สารตั้งต้นชีวภาพนั้นมีความหลากหลาย แตกต่างกันตามแหล่งที่มา ทั้งยังมีองค์ประกอบที่เป็นน้ำและออกซิเจนสูงกว่าปิโตรเลียม ทำให้การเปลี่ยนชีวมวลเป็นสารเคมีนั้นต้องอาศัยองค์ความรู้ด้านการเร่งปฏิกิริยาชั้นสูง และการออกแบบกระบวนการให้เหมาะกับพืชพันธุ์ในท้องถิ่น องค์ความรู้เหล่านี้จะต้องมีการพัฒนาขึ้น เพื่อเป็นรากฐานสำคัญในการรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมไบโอรีไฟเนอรี่ไทยในอนาคต

 

ในบทความภายใต้ Biorefinery series นี้ เราจะมาไฮไลต์สารเคมีฐานที่สำคัญของอุตสาหกรรมไบโอรีไฟเนอรี่ในประเทศไทย ซึ่งสารเคมีตัวแรกที่เราอยากแนะนำให้รู้จัก คือ

 

กรดแลคติก (Lactic acid) อันเป็นสารเคมีชีวภาพที่ผลิตได้จากน้ำตาล และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลายในอุตสาหกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น 

 

  1. อุตสาหกรรมอาหาร ในกระบวนการหมักอาหาร อาทิ นมเปรี้ยว โยเกิร์ต ขนมปัง เบียร์ เนยเทียม ผักผลไม้ดอง ไส้กรอก และเครื่องดื่มบางชนิด เป็นต้น นอกจากนั้นยังใช้เติมในอาหารเพื่อให้มีกลิ่น และรสเปรี้ยวให้น่ารับประทาน หรือเพื่อป้องกันการเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์อื่นที่ทำให้อาหารบูดเน่า และใช้ผสมในเครื่องดื่มในรูปแคลเซียมแลคเตทเพื่อเสริมเกลือแร่ และแคลเซียม 

 

  1. อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง เป็นส่วนประกอบในการผลิตเครื่องสำอางและยา เช่น ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวและทำความสะอาดร่างกาย เพื่อเป็นสารเร่งการผัดผิวใหม่ ให้ความชุ่มชื้น ลดการเกิดสิว ผลิตภัณฑ์สำหรับช่องปาก เช่น แคลเซียมแลคเตท เพื่อป้องกันฟันผุ และยับยั้งการก่อตัวของหินปูน ในรูปของส่วนผสมของยาสีฟัน และน้ำยาบ้วนปาก และผลิตภัณฑ์บำรุงเส้นผม ทำหน้าที่เคลือบให้เส้นผมเงางาม เป็นต้น และ 

 

  1. อุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ โดยเฉพาะ พอลิแลคติกแอซิด (PLA) ซึ่งเป็นพลาสติกที่สามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ใช้ทดแทนพลาสติกที่ผลิตจากปิโตรเคมี ซึ่งต้องใช้เวลานานในการย่อยสลายและก่อให้เกิดปัญหาทางสิ่งแวดล้อม

 

ตลาดของกรดแลคติกโลกนั้นมีมูลค่าสูงถึง 3.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2564 และคาดว่าจะเกิน 6.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2573 โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) 8.91% ในช่วงระยะเวลาคาดการณ์ โดยกรดแลคติกเป็นกรดที่ผลิตได้จากกระบวนการสังเคราะห์ทางเคมี หรือกระบวนการหมักด้วยจุลินทรีย์ มีลักษณะเป็นของเหลวไม่มีสี ละลายในน้ำ และตัวทำละลายทั่วไปได้ดี มีชื่อทางเคมี คือ 2-hydroxypropanoic acid เนื่องจากกรดแลกติกนั้นเป็นไครัลโมเลกุล (Chiral molecule) มีโครงสร้าง 2 แบบ ได้แก่ L+ และ D- ที่เป็นภาพสะท้อนในกระจก (mirror image) ของกันและกัน กรดแลกติกเชิงพาณิชย์จึงแบ่งออกเป็น 3 ชนิด คือ ชนิด L+ ล้วน ชนิด D- ล้วน และชนิด DL (ผสม) 

 

ประเทศไทยมีแหล่งวัตถุดิบชีวมวลเหลือทิ้งจากภาคการเกษตรมากมาย อาทิเช่น ชานอ้อย ซังข้าวโพด จุกสับปะรด เป็นต้น ชีวมวลเหล่านี้สามารถนำมาย่อยให้เป็นน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว เช่น น้ำตาลไซโลส และ กลูโคส ซึ่งเป็นสารตั้งต้นของกรดแลกติกได้ โดยทั่วไปแล้วกรดแลคติกมักจะผลิตจากกระบวนการหมักน้ำตาลโดยใช้จุลินทรีย์ ซึ่งต้องใช้ระยะเวลานานและต้นทุนสูง แต่อีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจที่ทำได้รวดเร็วกว่า คือกระบวนการเชิงเคมีผ่านการใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาแบบวิวิธพันธ์ ซึ่งสามารถผลิตกรดแลคติกได้ภายในระยะเวลาไม่กี่ชั่วโมง และยังสามารถแยกสารผลิตภัณฑ์ของเหลวออกได้ง่ายดาย และยังสามารถตัวเร่งปฏิกิริยากลับมาใช้งานซ้ำได้อีกหลายครั้ง ทำให้ลดต้นทุนในการผลิตได้เป็นอย่างมาก

 

ทีมวิจัย NCAS ของพวกเรา ได้พัฒนากระบวนการเปลี่ยนน้ำตาลไซโลสเป็นกรดแลคติกด้วยกระบวนการทางเคมีความร้อนร่วมกับการใช้ตัวเร่งปฏิกิริยากลุ่มอะลูมินา ซึ่งเป็นวัสดุราคาถูกและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีประสิทธิภาพในการเร่งปฏิกิริยาสูง จากการทดลอง ประกอบการศึกษาพื้นผิวของตัวเร่งด้วยเครื่องมือวิเคราะห์ขั้นสูง และการประยุกต์ใช้เคมีเชิงคำนวณมาอธิบายกลไกการเกิดปฏิกิริยาเชิงลึกในระดับนาโน ทีมวิจัยพบว่า คุณสมบัติความเป็นกรดและเบสของตัวเร่งปฏิกิริยามีความสำคัญอย่างยิ่งในการผลิตกรดแลคติก โดยอะลูมินาในเฟสแกมมาเป็นตัวเร่งที่ดีที่สุดเมื่อเทียบกับเฟสอื่นๆ เช่น อัลฟาหรือเบต้า และดีกว่าตัวเร่งปฏิกิริยาทั่วไปอื่นๆ เช่น ซีโอไลต์และซิลิกา เพราะพื้นผิวของแกมมาอะลูมินามีตำแหน่งทำปฏิกิริยาที่เป็นกรดลิวอิส (Lewis acid site) สูง ซึ่งเอื้อต่อการดูดซับของสารตั้งต้นและการแตกพันธะของ C-C ของน้ำตาลเป็นกรดแลคติก 

 

งานวิจัยของพวกเรายังไม่หยุดเพียงเท่านี้ ทีมวิจัยได้พัฒนาการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตกรดแลคติกจากน้ำตาลอีกขั้น ด้วยการเติมออกไซด์ของโลหะลงบนอะลูมินาเฟสแกมมาด้วยวิธีการเอิบชุ่ม (impregnation) ซึ่งเป็นวิธีการที่สามารถยกระดับการผลิตได้ในปริมาณมากสำหรับการใช้ในอุตสาหกรรม จากออกไซด์ของโลหะ 5 ชนิดที่ศึกษา ได้แก่ Cu, Co, Ni, Cr และ Sn พบว่าตัวเร่งปฏิกิริยา Cr/Al2O3 และ Sn/Al2O3 ให้ผลการเร่งปฏิกิริยาที่โดดเด่นกว่าตัวเร่งอื่นๆ คือ สามารถเปลี่ยนน้ำตาลไซโลสไปเป็นกรดแลคติกได้ในปริมาณสูงที่สุดถึง 70% ทั้งนี้ทีมนักวิจัยได้ทำการวิเคราะห์คุณสมบัติต่างๆ ของตัวเร่งปฏิกิริยาดังกล่าว ทั้งคุณสมบัติเชิงกายภาพและเชิงเคมี และพบว่าคุณสมบัติความเป็นกรดได้เพิ่มขึ้นจากการเติมออกไซด์ของโลหะ และเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ตัวเร่งปฏิกิริยาทั้งสองชนิดให้ผลการเร่งปฏิกิริยาที่ดีขึ้น เนื่องจากตัวเร่งปฏิกิริยาทั้งสองนี้มีปริมาณ weak acid site สูง ซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพการเปลี่ยนโมเลกุลน้ำตาลให้เป็นกรดแลคติกได้อย่างดีเยี่ยม 

 

การพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาอะลูมินาราคาถูกและประสิทธิภาพสูงนี้ ทำให้ทีมวิจัยของเราสามารถขยายการผลิตกรดแลคติกด้วยระบบปฏิกรณ์แบบกะขนาด 13 ลิตร ได้ที่ 300 กรัมต่อวัน และในระบบการไหลแบบต่อเนื่อง (continuous system) ได้ที่ 3 กรัมต่อกรัมตัวเร่งปฏิกิริยาต่อวัน ซึ่งสามารถนำไปต่อยอดการขยายสเกลไปยังระดับเชิงอุตสาหกรรมต่อไปในอนาคต

 

ติดตามอ่านบทความในหัวข้อ Biorefinery series ได้ในตอนถัดไป จากเพจ Nanocatalysis and Molecular Simulation (NCAS) ของพวกเรา 

 

อ้างอิง

 

[1] Roles of acidic sites in alumina catalysts for efficient D-xylose conversion to lactic acid, Kiatphuengporn S. et al., Green Chemistry 2020, 22, 8572-8583, https://doi.org/10.1039/D0GC02573A

 

[2] Selective conversion of xylose to lactic acid over metal-based Lewis acid supported on γ-Al2O3 catalysts, Kosri C. et al., Catalysis Today 2021, 367, 205-212, https://doi.org/10.1016/j.cattod.2020.04.061

 

เรียบเรียงโดย นส. สุฑารัตน์ ทองรัดแก้ว, นส. ชนกภรณ์ โกศรี, ดร. พงษ์ธนวัฒน์ เข็มทอง และดร. ศิรภัสสร เกียรติพึ่งพร

 

ภาพโดย ชาคริต ยิ้มสุขอนันต์

 

 

 

โพสต์ที่คุณน่าจะสนใจ

CCUS เทคโนโลยีกำจัดคาร์บอน สู่ทางรอดของประเทศไทย?

สวัสดีปีใหม่ 2567 ผู้อ่านทุกท่าน ปีเก่าผ่านไปปีใหม่เข้ามาพร้อมกับความท้าทายโจทย์ใหญ่โจทย์เดิม คือ สภาวะโลกร้อน ที่ทำให้เกิดสภาพอากาศแปรปรวน อันส่งผลกระทบต่อชีวิตมนุษย์และระบบนิเวศของโลก สภาวะโลกร้อนนี้มีสาเหตุหลักมาจากกิจกรรมของมนุษย์ที่เพิ่มปริมาณก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศ โดยก๊าซเรือนกระจกหลักก็คือคาร์บอนไดออกไซด์

CARBANO เทคโนโลยีผลิตถ่านกัมมันต์ประสิทธิภาพสูงจากวัสดุคาร์บอน

ประเทศไทยขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศแห่งอุตสาหกรรมเกษตรและมีวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรที่มากมายหลายหลาก การนำวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงจึงเป็นหนึ่งในแนวคิดสำคัญที่จะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับอุตสาหกรรมเกษตรของประเทศไทย หนึ่งในผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงที่สามารถผลิตได้จากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร คือ ถ่านกัมมันต์ (activated carbon) ซึ่งเป็นถ่านที่มีรูพรุนปริมาณมาก สามารถนำไปใช้ดูดซับและกำจัดสิ่งปนเปื้อนเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่สะอาดเหมาะกับการนำไปใช้อุปโภคและบริโภคในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น

รางวัลโนเบล สาขาเคมี 2023 ผู้ปลูกควอนตัมดอทส์ เมล็ดพันธุ์แห่งวงการนาโนเทคโนโลยี

รางวัลโนเบลสาขาเคมีประจำปี 2023 ได้มอบรางวัลให้กับการค้นพบและการพัฒนาควอนตัมดอทส์(Quantum Dots, QTDs) หรือ “จุดควอนตัม” ซึ่งเป็นอนุภาคที่มีขนาดเล็กมากในระดับ 1-10 นาโนเมตร

รู้จักกับ “ลิกนิน” สารธรรมชาติที่แสนจะไม่ธรรมดา

ลิกนิน (Lignin) เป็นพอลิเมอร์ธรรมชาติ ที่สามารถพบได้ในพืชทั่วไปสูงถึง 30% ทำหน้าที่เปรียบเสมือนกาวประสานช่วยยึดโครงสร้างพืชให้มีความแข็งแรง นอกจากนี้ยังช่วยลดการระเหยของน้ำ และช่วยป้องกันการถูกทำลายของเนื้อเยื่อจากจุลินทรีย์ได้อีกด้วย ลิกนินมีโครงสร้างแบบอะโรมาติก (Aromatic

หมวดหมู่

โพสต์ยอดนิยม

Biorefinery series: การผลิตกรดแลคติกจากน้ำตาล ด้วยกระบวนการเชิงเคมีความร้อน

ไบโอรีไฟเนอรี่ (Biorefinery) หรือ อุตสาหกรรมพลังงานและเคมีชีวภาพ คือ อุตสาหกรรมการผลิตแห่งอนาคตที่นำชีวมวล หรือวัตถุดิบที่ได้จากพืช มาใช้เป็นสารตั้งต้น (feedstock) ในการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ

Biorefinery series: น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพจากน้ำมันปาล์ม

น้ำมันปาล์มเป็นน้ำมันพืชที่ได้จากผลของต้นปาล์มน้ำมันซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่หมุนเวียนได้ น้ำมันปาล์มนั้นสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลาย ตั้งแต่นำมาใช้ได้โดยตรงเพื่อการปรุงอาหาร นำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง หรือนำมาใช้เป็นสารตั้งต้นในอุตสาหกรรมโอลีโอเคมี (oleochemical industry) เช่น ผลิตสารหล่อลื่นชีวภาพ (biolubricant)

โพสต์ล่าสุด

นาโนสารสนเทศและปัญญาประดิษฐ์ ใน ยุค Web 3.0

เราคงคุ้นเคยกับคำว่า ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เป็นอย่างดี ว่าจะมาช่วยมนุษย์ทำงาน คิดวิเคราะห์ข้อมูล และช่วยในการตัดสินใจ ทำให้เราทำงานได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เนื่องจาก

การคำนวณเคมีเชิงคอมพิวเตอร์ภายใต้กลุ่มวิจัย NCAS (ตอนที่ 1)

การพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาเคมีใหม่ๆ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการเคมี โดยหลักการนั้นไม่ต่างจากการออกแบบรถยนต์ ที่ต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจเชิงลึกเกี่ยวกับการทำงานของเครื่องยนต์ แต่ในกรณีของตัวเร่งปฏิกิริยาเคมี เครื่องยนต์กลไกที่เป็นหัวใจของการเกิดปฏิกิริยานั้น เป็นผลมาจากแรงอันตรกิริยาที่เป็นแรงดูดหรือแรงผลักระหว่างพื้นผิวของตัวเร่งและโมเลกุลของสาร ซึ่งปรากฎการณ์ดังกล่าวนั้นเกิดขึ้นในระดับนาโนเมตรหรือเล็กกว่า การวิเคราะห์วัสดุที่มาตราส่วนดังกล่าวนั้นมีความซับซ้อนและมักมีข้อกำจัดด้านเครื่องมือ หรือในบางกรณีสมบัติที่สำคัญนั้นยังไม่สามารถวัดได้โดยเครื่องมือที่มีอยู่ในปัจจุบัน