กระบวนการสกัดและทำบริสุทธิ์สารโพลิโคซานอลจากกากหม้อกรองแบบรวดเร็วเพื่อการประยุกต์ใช้เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องสำอาง

ชื่อเทคโนโลยี / สิ่งประดิษฐ์

กระบวนการสกัดและทำบริสุทธิ์สารโพลิโคซานอลจากกากหม้อกรองแบบรวดเร็วเพื่อการประยุกต์ใช้เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องสำอาง


วิจัยและพัฒนาโดย

ทีมวิจัยกระบวนการระดับนาโนเพื่ออุตสาหกรรมเกษตร (ACP)

ที่มา และความสำคัญที่นำมาสู่การพัฒนาเทคโนโลยี

ไขอ้อย (sugarcane wax) เป็นสารที่ไม่ละลายในน้ำที่น่าสนใจ ส่วนมากไขอ้อยจะได้จากการสกัดกากหม้อกรองที่เป็นวัสดุเหลือทิ้งในกระบวนการอุตสาหกรรมผลิตน้ำตาล ในปัจจุบันมีประโยชน์ในแง่การนำเอาไปใช้เป็นสารตั้งต้นในอุตสาหกรรมยา และเป็นส่วนผสมในเครื่องสำอาง นอกจากนี้ยังสามารถนำมาใช้แทนไขคาร์นูบา (carnauba wax) ที่มีราคาแพงในการผลิตเครื่องสำอาง อาหาร และผลิตภัณฑ์ยาได้เป็นอย่างดี โดยสารสำคัญที่มีอยู่ในไขอ้อยมีหลายชนิดและมีปริมาณไม่แน่นอน ได้แก่ กลุ่มกรดไขมัน (fatty acid) คีโตน (ketone) แอลดีไฮด์ (aldehyde) เอสเทอร์ (ester) กลุ่มของสารพวกไฟโตสเตอรอล (phytosterols) และแอลกอฮอล์สายโซ่คาร์บอนยาวหลายชนิดที่ไม่ชอบน้ำหรือเรียกว่ากลุ่มสารโพลิโคซานอล (a mixture of long chain primary aliphatic alcohols หรือ policosanol)

องค์ประกอบหลักของสารโพลิโคซานอลที่ได้จากไขอ้อย ได้แก่ เตตระโคซานอล (tetracosanol, C24) เฮกซะโคซานอล (hexacosanol; C26) ออกตะโคซานอล (octacosanol; C28) และไตรอะโคซานอล (triacosanol; C30) จุดเด่นของไขอ้อยที่สำคัญมาก คือมีสัดส่วนของออกตะโคซานอลสูงเมื่อเปรียบเทียบกับไขจากแหล่งอื่น (ประมาณ 66 เปอร์เซ็นต์) ซึ่งสารโพลิโคซานอล (โดยเฉพาะออกตะโคซานอล) มีรายงานว่า สามารถลดปริมาณไขมันโคเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL-Cholesterol) และยังช่วยกระตุ้นการสร้างไขมันโคเลสเตอรอลชนิดดี (HDL-Cholesterol) ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวนำพาไขมันที่สะสมและอุดตันตามผนังหลอดเลือดกลับไปทำลายที่ตับ ช่วยลดการอุดตันและลดการจับตัวกันของเกล็ดเลือดได้ด้วย ช่วยป้องกันภาวะความหนาตัวของผนังหลอดเลือด ฟื้นฟูสมรรถภาพการทำงานของหัวใจและตับ อีกทั้งยังสามารถช่วยกระตุ้นการหมุนเวียนของเลือดที่บริเวณผิวหนังหลอดเลือด นอกจากนี้ยังมีประสิทธิภาพในการยับยั้งการเกิดของสิวอีกด้วย

เทคโนโลยีที่ใช้ในการสกัดไขอ้อยและการทำบริสุทธิ์สารโพลิโคซานอลจากกากหม้อกรอง โดยทั่วไปในปัจจุบันที่นิยมใช้จะเป็นการสกัดด้วยตัวทำละลายเพื่อให้ได้ปริมาณผลผลิตสูง (yield) แต่มีข้อเสียคือไม่มีความจำเพาะเจาะจง (selectivity) ในการสกัด ทำให้ได้สารประกอบหลากหลายชนิดซึ่งมีความยากในการทำให้สารเหล่านั้นบริสุทธิ์ในขั้นตอนต่อมา นอกจากนี้การสกัดด้วยตัวทำละลายจะทำให้เกิดของเสียปริมาณมากและยากแก่การนำกลับมาใช้ใหม่ เทคโนโลยีการสกัดโดยไม่ใช้ตัวทำละลายหรือใช้น้อยมากสามารถทำได้โดยการสกัดโดยของไหลเหนือวิกฤต (supercritical fluid extraction) และก๊าซที่นิยมนำมาใช้เป็นของไหล คือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ทางทีมวิจัยจึงได้มีการพัฒนาต่อยอดและได้ทำการปรับปรุงกระบวนการสกัดและทำบริสุทธิ์สารโพลิโคซานอลให้มีความบริสุทธิ์สูง ซึ่งเป็นวิธีการที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน ใช้เวลาในการสกัดน้อยลง ให้ผลผลิตสูง

สรุปเทคโนโลยี

เป็นกระบวนการสกัดและทำบริสุทธิ์สารโพลิโคซานอลจากกากหม้อกรองแบบรวดเร็ว

คุณลักษณะ และจุดเด่นของเทคโนโลยีหรือผลิตภัณฑ์ที่ได้จากเทคโนโลยี

เป็นกระบวนการที่ทำการขยายขนาดสเกลการผลิตในการผลิตสารโพลิโคซานอลที่มีความบริสุทธิ์สูงได้ง่าย ไม่ซับซ้อน และมีการลงทุนต่ำ

ระดับความพร้อมเทคโนโลยี

ระดับการทดลอง (Experimental)
ระดับต้นแบบ (Prototype)
ระดับถ่ายทอด (Transfer)

ตลาด/กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย

                • ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ เสริมอาหาร เครื่องสำอาง และยา
                • ผู้ที่สนใจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
                • นักลงทุน

สถานภาพสิทธิบัตร

ระหว่างการยื่นจด

สนใจขอรับข้อมูลเพิ่มเติม หรือติดต่อได้ที่
ชื่อ : จารุรัตน์ แดงทน หน่วยงาน : งานพัฒนาธุรกิจ
เบอร์ติดต่อ : 02-564-7100 ต่อ 6782 อีเมล : jarurat.dan@10.228.26.6