ก.วิทย์ ทุ่ม 2,000 ล้าน ผุดโครงการหุ่นยนต์การแพทย์ชั้นสูง มั่นใจ 5 ปี เป็นฐานการผลิตของอาเซียน
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) ผนึกเครือข่ายพันธมิตร ทั้งภาครัฐ เอกชน มหาวิทยาลัย และโรงเรียนแพทย์ เปิดตัวสุดยิ่งใหญ่ “โครงการเทคโนโลยีหุ่นยนต์ทางการแพทย์ชั้นสูง” สนองนโยบายรัฐบาล ผลักดันประเทศไทยเป็นศูนย์กลางบริการทางการแพทย์ มุ่งเป้ากลุ่มเบบี้บูมเมอร์ที่จะเป็นผู้สูงวัยกลุ่มใหญ่ที่ต้องการใช้บริการ มั่นใจใน 3 ปี ลดนำเข้าเครื่องมือแพทย์กว่า 50% และใน 5 ปี สามารถเป็นศูนย์กลางการผลิตและจำหน่ายหุ่นยนต์การแพทย์ของอาเซียนรวมถึงเป็นฐานผลิตของประเทศยักษ์ใหญ่ อเมริกา เกาหลี ญี่ปุ่น ได้อีกด้วย
ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ (5 เมษายน 2556) นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมด้วย รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ดร.นเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการ TCELS ศ.นพ. สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ตลอดจนผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ เข้าร่วมแถลงข่าวเปิดตัว “โครงการเทคโนโลยีหุ่นยนต์ทางการแพทย์ชั้นสูง” โดยมีการนำโมเดลหุ่นยนต์การแพทย์ชั้นสูงมาแสดงในงานด้วย
นายวรวัจน์ กล่าวว่า โครงการเทคโนโลยีหุ่นยนต์ทางการแพทย์ชั้นสูงนี้ เป็นหนึ่งในโครงการบูรณาการภายใต้แผนงานกระทรวงฯ เพื่อพัฒนาเครือข่าย โครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีโอกาสใกล้สำเร็จให้สามารถออกสู่ตลาดเป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ โดยการประสานกับหน่วยงานต่าง ๆ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ตลอดจนสร้างเครือข่ายในภูมิภาคอาเซียนให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี สำหรับหน่วยงานหลักภายในกระทรวงฯ ที่รับผิดชอบแผนงานหุ่นยนต์ มี 2 หน่วยงาน ได้แก่ TCELS ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ ภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ โดยใช้งบประมาณทั้งโครงการจำนวน 2,000 ล้านบาท ในเวลา 5 ปี
นายวรวัจน์ กล่าวถึงทิศทางในการพัฒนาโครงการดังกล่าวว่า ควรเริ่มสร้างศักยภาพในการผลิตเอง และทำให้เป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่จะสนับสนุนการผลักดันประเทศไทยเป็นศูนย์กลางบริการทางการแพทย์ นำรายได้เข้าประเทศ ซึ่งเป็นนโยบายหลักของรัฐบาล ทั้งนี้หุ่นยนต์ทางการแพทย์และเครื่องมือแพทย์ในภาพรวมนั้นจะต้องผ่านมาตรฐานและเงื่อนไขที่รับรองความปลอดภัยในการใช้กับร่างกายมนุษย์ ขณะเดียวกันก็ต้องมองถึงแนวโน้มความต้องการของตลาดโลกด้วย ทั้งนี้ปัจจุบันพบว่ากลุ่มเบบี้บูมเมอร์ ซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ของโลกกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และเป็นกลุ่มที่ความต้องการใช้บริการเทคโนโลยีทางด้านนี้สูง
ด้านดร.นเรศ ผู้อำนวยการ TCELS กล่าวถึงแผนงานในการดำเนินโครงการ ว่า ในเฟสแรก TCELSจะเปิดศูนย์บูรณาการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการหุ่นยนต์ทางการแพทย์ชั้นสูง ซึ่งจะมีบทบาทในการบูรณาการงานวิจัยตั้งแต่ระดับการพัฒนานวัตกรรม จนถึงระดับอุตสาหกรรม และสร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกับภาคเอกชนในประเทศและต่างประเทศ นอกจากนี้ยังได้จัดวางโครงสร้างพื้นฐานกลางที่มหาวิทยาลัยมหิดล ประกอบไปด้วยห้องปฏิบัติการวิจัยและพัฒนาห้องปฏิบัติการทดสอบและห้องปฏิบัติการรับรองคุณภาพและศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ ขณะเดียวกันก็เปิดรับและพิจารณาข้อเสนอโครงการวิจัยประเภทการถ่ายทอดเทคโนโลยีร่วมกับภาครัฐ มหาวิทยาลัย และเอกชน รวมทั้งจัดทำแผนกลยุทธ์หุ่นยนต์การแพทย์ชั้นสูง เพื่อเชื่อมโยงกับแผนและกิจกรรมหุ่นยนต์ด้านอื่น ๆ รวมถึงแผนเครื่องมือแพทย์ โดยในเฟสนี้จะใช้เวลาประมาณ 2 ปี
ผู้อำนวยการ TCELS กล่าวต่อว่า สำหรับเฟสสองจะทำการคัดเลือกต้นแบบผลิตภัณฑ์เพื่อนำไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ เช่น หุ่นยนต์ดูแลผู้สูงอายุ และหุ่นยนต์ผ่าตัด ฯลฯ และร่วมทุนกับบริษัททั้งในและต่างประเทศเพื่อยกระดับประเทศไทยให้เป็นฐานการผลิตหุ่นยนต์ของภูมิภาครวมถึงประเทศยักษ์ใหญ่อย่าง สหรัฐอเมริกา เกาหลี ญี่ปุ่น อันจะนำไปสู่การสร้างแบรนด์หุ่นยนต์การแพทย์ของไทยที่จะผงาดในเวทีระดับโลกได้ นอกจากนี้ยังผลักดันให้เกิดศูนย์ฝึกอบรมและใบรับรองคุณวุฒิวิชาชีพเพื่อยกระดับเส้นทางวิชาชีพของนักวิชาการหุ่นยนต์ ตลอดจนพัฒนาและใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์ เพื่อให้เกิดผลิตภัณฑ์และบริการที่เกี่ยวเนื่องต่อไปซึ่งในเฟสนี้จะเป็นรูปธรรมภายใน 5 ปี
ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช. กล่าว ในโอกาสกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดตัวโครงการพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์ทางการแพทย์ชั้นสูง โดยความร่วมมือระหว่าง ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์(องค์กรมหาชน) ศูนย์นาโนเทคฯ สวทช. คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และองค์กรภาครัฐภาคเอกชนหลายแห่ง ว่า กระทรวงวิทย์ฯ มีแนวคิดส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาระบบอัตโนมัติทางการแพทย์ หุ่นยนต์ เครื่องมือและชุดตรวจโดยใช้เทคโนโลยีชั้นสูง เข้ามาเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ประเทศไทย เนื่องจากปี 2555 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล สำรวจพบว่า ไทยมีผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปมากถึงร้อยละ 12.59 ถือว่ามากสุดในกลุ่มประเทศอาเซียน ขณะที่มีผู้ดูแลลดลง และยังมีความต้องการคุณภาพในการบริการทางการแพทย์สูงขึ้น ดังนั้นองค์ประกอบสำคัญของประเทศไทยในฐานะเป็นศูนย์กลางบริการทางด้านการแพทย์( Medical Hub ) หากประเทศไทยสามารถพัฒนาและผลิตหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติทางการแพทย์รวมทั้งเครื่องมือวินิจฉัยและรักษาทางการแพทย์ได้เอง นอกจากเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์แล้ว ยังจะนำมาซึ่งรายได้เข้าประเทศและสอดคล้องกับนโยบายการทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางบริการทางการแพทย์ของภูมิภาคได้เป็นอย่างดี
ศ.นพ.สิริฤกษ์ กล่าวต่อว่า สำหรับศูนย์นาโนเทคฯ มีความร่วมมือในการทำระบบส่งยารักษาโรคเข้าสู่เป้าหมายจำเพาะ และยังสร้างระบบอัตโนมัติในการตรวจวินิฉัยโรคโดยเฉพาะมะเร็ง อย่างไรก็ตามสิ่งที่จะต้องให้การสนับสนุนจากความร่วมมือของหลายองค์กรควบคู่กันไปในเชิงนโยบาย หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องควรสนับสนุนให้เกิดการบูรณาการเพื่อการสร้างแผนนโยบายและยุทธศาสตร์ในระดับประเทศ เช่น กระทรวงสาธารณสุขสนับสนุนเรื่องมาตรฐานการทดสอบทางคลินิก การขึ้นทะเบียน และการใช้งาน กระทรวงวิทยาศาสตร์มีการส่งเสริมงานวิจัยจากภาครัฐและมหาวิทยาลัยที่มีศักยภาพทางการทำงานวิจัยร่วมวิจัยพัฒนาอย่างมุ่งเป้า ทั้งนี้เพื่อนำไปสู่การใช้งานจริงในกลุ่มโรงพยาบาล ภาคเอกชน และอุตสาหกรรมเพื่อเพิ่มโอกาสเชิงพาณิชย์ให้กับประเทศ
ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Call Center 1313 หรือ 02-6445499 , www.tcels.or.th,www.facebook.com/tcelsfan
/////////////////////////////////////////////////