“นาโนเทค”ฉลอง 10 ปี เปิดตัว 10 งานวิจัยมุ่งเป้าด้านนาโนเทคโนโลยี
แก้ปัญหา “ภาคเกษตร–สุขภาพ–อุตสาหกรรม–พลังงานและสิ่งแวดล้อม”
เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2556 ที่อาคารกลุ่มนวัตกรรม 2 อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี นายนิรุตติ คุณวัฒน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานเปิดงานครบรอบการก่อตั้ง 10 ปี ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยมี ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทค ผู้บริหารศูนย์ฯนักวิจัยและพนักงาน ให้การต้อนรับ
นายนิรุตติ กล่าวว่า ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ นับว่าเป็นศูนย์วิจัยด้านนาโนเทคโนโลยีในระดับชาติแห่งแรกในอาเซียนที่ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2546 นับตั้งแต่รัฐบาลในยุคนั้นมีความตั้งใจที่ให้นาโนเทคให้เป็นศูนย์แห่งชาติ ก็เพื่อต้องการให้เห็นชัดเจนว่าประเทศไทยให้ความสนใจในเรื่องนี้อย่างจริงจัง เช่นเดียวกับรัฐบาลโดยการนำของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่เล็งเห็นความสำคัญของการนำนาโนเทคโนโลยีมาปรับปรุงและเพิ่มมูลค่าสินค้าไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะมอบนโยบายให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ นำนาโนเทคโนโลยีมาเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยและส่งเสริมคุณภาพชีวิต ตัวอย่างเช่น การพัฒนาและเพิ่มมูลค่าของผ้าไหมไทยซึ่งเป็นผ้าทอพื้นเมือง ให้มีความสามารถในการแข่งขันกับนานาประเทศ
และในโอกาสครบรอบ 10 ปี ของศูนย์นาโนเทค ในวันนี้ตนขอแสดงความยินดีและชื่นชมที่ได้เห็นความก้าวหน้าอย่างมากของนาโนเทคโนโลยีในประเทศไทย โดยนาโนเทคมีการวิจัยเทคโนโลยีชั้นสูงที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก ซึ่งการพัฒนาประเทศด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนั้น รัฐบาลมีความต้องการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นฐานในการพัฒนาประเทศ ตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำและกลางน้ำทั้งในด้านการเกษตร อุตสาหกรรมและสังคม ที่สำคัญรัฐบาลต้องการให้วิทยาศาสตร์เข้าถึงประชาชนและเกิดประโยชน์ที่เป็นรูปธรรม เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ ยกระดับคุณภาพสังคม และเป็นฐานในการพัฒนาประเทศ
นายนิรุตติ กล่าวว่า ทั้งนี้ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ มีความตั้งใจที่จะวิจัยและพัฒนา งานวิจัยมุ่งเป้า หรือ Flagship Program ซึ่งเป็นงานวิจัยที่มุ่งเน้นเรื่องสำคัญและเป็นประโยชน์กับประเทศ และรัฐบาลอยากจะเห็นว่า Flagship เป็นงานวิจัยที่ช่วยแก้ปัญหาสำคัญและสามารถพัฒนาประเทศไทยได้จริง ซึ่งตนมีความเชื่อมั่นว่า ศูนย์นาโนเทคฯเป็นกำลังสำคัญที่จะทำเรื่องสำคัญยิ่งของประเทศ โดยมีโครงการวิจัยมุ่งเป้าเป็นจุดมุ่งมั่น และช่วยกันใช้นาโนเทคโนโลยีในการพัฒนาประเทศ โดยกระทรวงวิทย์ฯ จะให้การสนับสนุนการดำเนินการเป็นอย่างดีต่อไป
ด้าน ศ.นพ.สิริฤกษ์ กล่าวว่า ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ มีความตั้งใจที่พัฒนางานวิจัย โดยเฉพาะงานวิจัยมุ่งเป้า หรือ Flagship Programs ที่เปิดตัวในวันนี้เนื่องจากประเทศไทยมีโจทย์ในการแก้ไขปัญหาใหญ่ๆหลายด้าน ซึ่งศูนย์นาโนเทค พยายามที่จะพัฒนางานวิจัยให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการหลักของประชาชนในประเทศ จึงเริ่ม 10 โครงการวิจัยมุ่งเป้า แบ่งเป็นงานวิจัยที่แก้ปัญหาด้านต่างๆ ได้แก่
ด้านการเกษตร ได้แก่ โครงการพัฒนาปุ๋ยนาโนควบคุมการปลดปล่อยและวัสดุปรุงแต่งดินจากการแปรรูปผักตบชวา หรือที่เรียกว่าSmart Soil and Fertilizerและ โครงการใช้นาโนเทคโนโลยเพื่อส่งเสริมการผลิตอาหารที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และเพียงพอ หรือ Q Delicious
ด้านสุขภาพของประชาชน ได้แก่ โครงการวินิจฉัยและรักษาโรคมะเร็งปากมดลูกซึ่งเป็นมะเร็งลำดับต้นของผู้หญิงไทย หรือ SmartHEALTH โครงการใช้นาโนเทคโนโลยีในการกรองน้ำ หรือ Clean Water และ โครงการควบคุมป้องกันและกำจัดยุง หรือ Mosquito Control ที่จะช่วยลดอัตราการเจ็บป่วยจากโรคไข้เลือดออกและมาลาเรีย
ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคฯ กล่าวต่อว่า ด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม ได้แก่ โครงการผลิตพลังงานทางเลือกโดยใช้นาโนเทคโนโลยี หรือ Green Energy และ เรื่องการทำให้อากาศบริสุทธิ์ หรือ Clean Air และสุดท้าย คือ ด้านการแข่งขันด้านอุตสาหกรรมของประเทศและแนวโน้มโลก ได้แก่ โครงการมาตรฐานและความปลอดภัยด้านนาโนเทคโนโลยี หรือ Nano-mark โครงการนวัตกรรมการใช้เครื่องสำอางและอาหารจากรังไหม หรือ Miracle of Thai silk และ โครงการเพิ่มมูลค่าสิ่งทอด้วยนาโนเทคโนโลยี หรือ NanoTextile ซึ่งจะทำให้สินค้านาโนของประเทศไทยมีมาตรฐานและปลอดภัย และสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีประสิทธิภาพและมีมาตรฐานในระดับสากล เป็นการนำนวัตกรรมด้านนาโนเทคโนโลยีต่อยอดและปรับใช้กับงานวิจัยด้านต่างๆ เพื่อให้เกิดนวัตกรรมที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยให้ดีขึ้น โดยเฉพาะการรองรับสังคมผู้สูงอายุในประเทศไทยที่จะเพิ่มจำนวนมากขึ้นในอนาคตอันใกล้
“ทั้งนี้งานวิจัยมุ่งเป้าทั้ง 10 ด้าน มีการรวมนักวิจัยสาขาต่างๆทั้งในศูนย์นาโนเทค และมหาวิทยาลัยต่างๆกว่า 20 คนต่อ 1งานวิจัย โดยมีระยะเวลาในการดำเนินการ 3 ปี ในระยะสั้นแต่ละงานวิจัยจะต้องทำให้เห็นผลภายใน 1 ปี ซึ่งในต้นปีหน้า ที่จะเห็นเป็นรูปธรรม คือ งานวิจัยด้านการเกษตร คือ โครงการพัฒนาปุ๋ยนาโนควบคุมการปลดปล่อยและวัสดุปรุงแต่งดินจากการแปรรูปผักตบชวา หรือที่เรียกว่าSmart Soil and Fertilizer ซึ่งจะมีโรงงานเคลื่อนที่ในการผลิตวัสดุปรุงแต่งดินจากการแปรรูปผักตบชวากำลังการผลิตสามารถผลิตได้ 8 ตันต่อวัน ซึ่งจะช่วยให้กำจัดผักตบชวาที่ขวางทางน้ำได้จำนวนมาก ขณะเดียวกัน ยังได้ประโยชน์ในการนำสารปรับปรุงดินจากผักตบชวา ที่มีคุณสมบัติอุ้มน้ำได้ดี กักเก็บธาตุอาหาร\ได้ดี น้ำหนักเบาทำให้รากของต้นกล้าพืชกระจายตัวได้ดีและเจริญเติบโตได้ง่ายขึ้น” ผอ.ศูนย์นาโนเทค กล่าว
/////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////