นักวิจัยนาโนเทคนำเสนอนวัตกรรมนาโนเทคโนโลยี ตอบโจทย์อุตฯ เครื่องสำอาง
(20 กย. 2562) ดร. สุวิมล สุรัสโม และดร. ศศิธร เอื้อวิริยะวิทย์ นักวิจัยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) นำเสนอความเชี่ยวชาญในด้านการวิจัยและพัฒนาทางด้านนาโนเทคโนโลยี ในงานสัมมนา 2nd BBAB Supply Chain Conference ภายในงาน Beyond Beauty Asean Bangkok
“นวัตกรรมนาโนเทคโนโลยีการกักเก็บเพื่อเพิ่มมูลค่าสารสกัดสมุนไพร” โดย ดร. สุวิมล สุรัสโม นักวิจัยกลุ่มวิจัยห่อหุ้มระดับนาโน นาโนเทค ให้ภาพของแนวโน้มการใช้ส่วนผสมจากสมุนไพรในผลิตภัณฑ์กลุ่มสกินแคร์ ในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อชะลอวัย เพิ่มความชุ่มชื้น ป้องกันรังสียูวี เป็นต้น หรือเวชสำอาง หรือ Cosmeceuticals ที่นิยมใช้สารสกัดสมุนไพร หรือใช้สมุนไพรมากกว่า 1 ตัว เพื่อเสริมฤทธิ์ เพิ่มประสิทธิภาพให้ผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะกลุ่มชะลอวัย ลดเลือนริ้วรอย ทำให้สมุนไพร และสารสกัดสมุนไพรมีบทบาทอย่างมาก
อย่างไรก็ดี การใช้สมุนไพรหรือสารสกัดสมุนไพร มีข้อจำกัดในการใช้งาน อาทิ สีหรือกลิ่นที่มากเกินไป เมื่อขึ้นสูตรตำรับอาจมีสีตกค้างหรือกลิ่นไม่พึงประสงค์, ความสามารถในกรละลายน้ำน้อย ทำให้การพัฒนาเป็นสูตรตำรับยาก, ไม่ทนต่ออุณหภูมิสูงหรือสภาวะที่มีแสง ทำให้ได้รับประสิทธิภาพของสารสกัดสมุนไพรนั้นๆ ไม่เต็มที่
นาโนเทคโนโลยีจึงเข้ามามีบทบาทในการปลดล็อคข้อจำกัดดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีการกักเก็บ หรือ Nanoencapsulation, การนำส่งยาโดยใช้คลื่นประจุ หรือคลื่นเสียงความถี่สูง หรือการพัฒนาสารตัวพา โดยเฉพาะกลุ่มอนุภาคนาโน ที่จะนำสารไปสู่ชั้นผิวได้ง่ายขึ้น ซึ่งการวิจัยมีการทดสอบแล้วว่าสารอนุภาคนาโนสามารถนำพาสารเข้าสู่ชั้นเซลล์ผิวได้ดีที่สุดผ่านรูขุมขน
ดร. สุวิมลยกตัวย่างนวัตกรรมที่ทีมวิจัยนาโนเทคพัฒนาขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสารสกัดที่สามารถไล่ยุงด้วยนาโนเทคโนโลยี ที่สามารถพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ทั้งสเปรย์ โลชั่น ครีมกันแดด แผ่นแปะไล่ยุง หรือการกักเก็บอนุภาคสมุนไพรไทยอย่างกานพลู บัวบก และมังคุด เพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์รักษาสิวที่สามารถเข้าสู่ชั้นผิวหนังได้ดีขึ้น
ในขณะเดียวกัน “การประเมินด้านความปลอดภัย โดยใช้แบบจำลองเซลล์และปลาม้าลาย” โดย ดร.ศศิธร เอื้อวิริยะวิทย์ นักวิจัยกลุ่มวิจัยการวิเคราะห์ระดับนาโนขั้นสูงและความปลอดภัย นาโนเทค ที่นำเสนอเรื่องของความปลอดภัยและพิษวิทยา เพราะสารทุกอย่างอาจเป็นพิษได้หากได้รับในปริมาณที่สูง ดังนั้น การพัฒนาจำเป็นต้องใส่ใจเรื่องของปริมาณและระยะเวลาในการรับสารนั้นๆ จึงเป็นประเด็นจำเป็นต้องทราบและให้ความสำคัญ โดยเฉพาะเพื่อประเมินความเสี่ยง และตรวจสอบมาตรฐานของผลิตภัณฑ์หรืองานวิจัยต่างๆ
การทดสอบพิษวิทยาและความปลอดภัย มี 2 รูปแบบคือ In Vivo และ In Vitro ซึ่ง In Vivo นั้น ดร.ศศิธรอธิบายว่า เป็นการใช้ตัวอ่อนปลาม้าลาย ตัวหนอน C.elegans หนูทดลองต่างๆ เป็นต้น อย่างไรก็ดี EU มีความพยายามในการลดใช้สัตว์ทดลองและใช้วิธีทางเลือก เช่น การใช้แบบจำลองต่างๆ แทน
In Vitro จึงเป็นวิธีทางเลือกที่หลายที่ให้ความสนใจ เช่น การใช้โมเดลเซลล์ทั้งสองมิติและสามมิติ ซึ่งมีต้นทุนการทดสอบต่ำกว่าใช้สัตว์ และมนุษย์ รวมถึงสามารถประยุกต์ใช้ทดสอบได้หลากหลาย ทดอบกับสารปริมาณน้้อยได้ เป็นต้น
ดร.ศศิธร ยกตัวอย่างการใช้เซลล์ปลาม้าลาย ที่จะเป็นทางเลือกแทนการใช้ตัวอ่อนปลาม้าลาย โดยที่ข้อมูลยีนของปลาม้าลาย มีข้อมูลที่ค่อนข้างสมบูรณ์ และมีความใกล้เคียงกับมนุษย์มากกว่า 70% ไม่มีปัญหาเรื่องจริยธรรม หรือการใช้เนื้อเยื่อผิวหนัง เพื่อทดสอบฤทธิ์การระคายเคืองต่อผิวหนัง
ความก้าวหน้าจากงานวิจัยและพัฒนาทางด้านนาโนเทคโนโลยีของดร.สุวิมลและดร.ศศิธร ที่นำเสนอในเวทีสัมมนา 2nd BBAB Supply Chain Conference นี้ เป็นเพียงฟันเฟืองที่ชี้ให้เห็นการประยุกต์ใช้งานนาโนเทคโนโลยีในมิติที่หลากหลาย ไม่จำกัดแค่อิเล็กทรอนิกส์ การแพทย์ แต่สามารถประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง / เวชสำอางได้อีกด้วย