นาโนเทคเข้าร่วมงานแถลงข่าวผลงาน สวทช. ประจำปี 2562

นาโนเทค สวทช. เข้วร่วมงานแถลงข่าวผลงาน สวทช. ประจำปี 2562 “NSTDA Beyond Limits: Sustainability Impact วิถีสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” เปิดเวทีชูนโยบายเตรียมความพร้อมเข้าสู่ปี 2020 อย่างแข็งแกร่ง มุ่ง “เกษตร-อาหาร” และ “สุขภาพ-การแพทย์” 2 เรื่องหลักตอบโจทย์ BCG ชูนวัตกรรมตอบอุตฯ โคนมแบบครบวงจร นำร่องนมอัดเม็ด/นมผงเติมโภชนาการที่ขาดในแต่ละพื้นที่ พร้อมปูทางวิจัยการแพทย์แห่งอนาคต ส่ง “เข็มนาโน/ไมโคร” นำทัพสู่นาโนโรบอท การแพทย์แห่งอนาคต


สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดงานแถลงข่าวผลงาน สวทช. ประจำปี 2562 “NSTDA Beyond Limits: Sustainability Impact วิถีสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” นำเสนอผลสรุปและเผยผลงานโชว์ศักยภาพงานวิจัย สวทช. ประจำปี 2562 ที่สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม พร้อมทิศทางการวิจัยและพัฒนา รวมถึงผลงานสำคัญที่จะเกิดขึ้นในปี 2563 กับไฮไลท์สำคัญกับการนำเสนอบทบาทของ สวทช. (NSTDA BCG in Action) ในเรื่อง BCG Economy Model ที่จะส่งเสริมเศรษฐกิจแบบทั่วถึง ตอบโจทย์นโยบายรัฐบาลและประเทศ ใน 4 อุตสาหกรรมหลัก คือ เกษตรและอาหาร สุขภาพและการแพทย์ พลังงานและวัสดุและเคมีชีวภาพ และท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ รวมถึงการพัฒนา Big Data เพื่อสนับสนุนและรองรับอุตสาหกรรมต่าง ๆ นำโดย ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. พร้อมด้วยผู้อำนวยการศูนย์วิจัยแห่งชาติทั้ง 4 ศูนย์ (ไบโอเทค เนคเทค เอ็มเทค และนาโนเทค)


ดร.วรรณี ฉินศิริกุล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า นาโนเทคมีพันธกิจหลักในการดำเนินการวิจัยและพัฒนาด้านนาโนเทคโนโลยีสู่ความเป็นเลิศ ซึ่งเราได้ให้ความสำคัญในการสร้างการรับรู้และเผยแพร่ผลงานวิจัยที่มีศักยภาพไปสู่กลุ่มเป้าหมายต่างๆ เพื่อให้เกิดการนำไปใช้ประโยชน์ทั้งในเชิงพาณิชย์และสังคม สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ทำให้ตลอดปี 2562 ที่ผ่านมา นาโนเทคมีผลการดำเนินงานที่สำคัญ ดังนี้ ด้านงานวิจัย พัฒนา และถ่ายทอดเทคโนโลยี มีบทความตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติ 101 บทความ มีการยื่นขอจดทรัพย์สินทางปัญญา 103 รายการ

สำหรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี นาโนเทคถ่ายทอดผลงาน 39 โครงการ ให้กับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนต่างๆ รวม 30 หน่วยงาน สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม 3,543 ล้านบาท ผลักดันให้เกิดการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ของภาคการผลิตและบริการ มูลค่ากว่า 117 ล้านบาท
“จากความสำเร็จในปี 2562 ที่เรามุ่งเน้นเทคโนโลยีหลักอย่างเทคโนโลยีการกักเก็บในระดับนาโน หรือ นาโนเอ็นแคปซูลเลชั่น (Nano Encapsulation Technology) ที่ตอบโจทย์ทั้งอุตสาหกรรมอาหาร และปศุสัตว์ ทำให้ในปี 2563 นี้ จะเป็นการขยับต่อยอดสู่นวัตกรรมที่ตอบโจทย์เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG) ของประเทศสู่ความยั่งยืน ใน 3 ด้านที่นาโนเทคเกี่ยวข้อง ได้แก่ เกษตรและอาหาร การแพทย์และสุขภาพ วัสดุและพลังงาน” ผู้อำนวยการนาโนเทคชี้

 

เติมโภชนาการให้ผลิตภัณฑ์นม
งานวิจัยในกลุ่มของเกษตรและอาหาร ดร.วรรณีกล่าวว่า เป็นโครงการวิจัยที่นาโนเทคร่วมมือกับองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อพัฒนากิจการโคนมแบบครบวงจร ด้วยวัตถุประสงค์ในการยกระดับอุตสาหกรรมโคนมด้วย วทน.


“สำหรับโครงการการยกระดับอุตสาหกรรมโคนมไทยด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมนี้ จะมี 10 โครงการย่อยที่จะใช้ วทน. ด้วยงบประมาณโครงการกว่า 100 ล้านบาท ระยะเวลา 3 ปี (2563-2565) เพื่อตอบโจทย์อุตสาหกรรมโคนมตั้งแต่ต้นน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ อาทิ สุขภาพของโคนม อาหาร ชีวภัณฑ์ กระบวนการตรวจสอบคุณภาพของผลิตภัณฑ์จากโคนม รวมถึงการเพิ่มมูลค่าให้กับนม ซึ่งจะมีโครงการย่อยที่จะยกระดับผลิตภัณฑ์นมของไทย”

จากโครงการย่อยดังกล่าว ภายในปี 2563 จะได้ผลลัพธ์เป็นผลิตภัณฑ์นำร่องหรือควิกวิน (Quick-Win) ของโครงการนี้ ทั้งในรูปของนมอัดเม็ดเกรดพรีเมี่ยม นมผง ที่มีจุดเด่นในการใช้เทคโนโลยีนาโนเอ็นแคปซูลเลชั่น เพื่อนำส่งสารอาหารที่เป็นโภชนาการสำคัญสำหรับเด็กๆ ในแต่ละพื้นที่ทั่วไทย ซึ่งมีปัญหาขาดสารอาหารที่แตกต่างกัน ช่วยให้เด็กมีคุณภาพชีวิต พัฒนาการที่ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้ คาดการณ์ว่า หลังสิ้นสุดโครงการ จะเกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมกว่า 6,300 ล้านบาทใน 4 ปี

 

’63 คิกออฟเข็มจิ๋วสู่ “นาโนโรบอท”
สำหรับด้านสุขภาพและการแพทย์ ดร.วรรณีเผยว่า นาโนเทคเองมีโครงการวิจัยขั้นแนวหน้า (Frontier Research) ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ในการวางรากฐานความเชี่ยวชาญด้านงานวิจัยในอนาคตอย่างนาโนโรโบติก (Nano Robotic) การสร้างจักรกล/หุ่นยนต์ขนาดนาโนเมตรที่ออกแบบให้ทำงานได้เองภายในร่างกายตามภารกิจต่างๆ เช่น ระบบนำส่งยาแบบมุ่งเป้า, การผ่าตัด, การตรวจวินิจฉัยสุขภาวะ หรือแม้กระทั่งการใช้เพื่อตัดแต่งดัดแปลงสารพันธุกรรม โดยมีเป้าหมายมุ่งเน้นเพื่อต่อสู้กับโรคมะเร็งโดยเฉพาะในประเภทที่คนไทยเป็นกันมากโดยมี ดร.ไพศาล ขันชัยทิศ หัวหน้าทีมวิจัยเข็มระดับนาโน กลุ่มวิจัยวัสดุตอบสนองและเซ็นเซอร์ระดับนาโน เป็นหัวหน้าโครงการ

แผนการดำเนินงานระยะสั้นในช่วง 5 ปีแรกจะเป็นการพัฒนาส่วนประกอบต่างๆของนาโนโรบอท โดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่นาโนเทคมีความเชี่ยวชาญ และกำลังเดินหน้าวิจัยอยู่ ยกตัวอย่างเช่น การประยุกต์ใช้เทคนิคขึ้นรูปเข็มระดับไมโคร/นาโน (Micro/Nano Needle) เพื่อสร้างส่วนการขับเคลื่อน ในขณะที่ปลายเข็มทำหน้าที่เจาะทะลุทะลวงเนื้อร้าย โดยใช้แหล่งพลังงานจากความร้อนภายในร่างกายเป็นพลังขับเคลื่อนนาโนโรบอท ด้วยเทคเทคโนโลยีวัสดุนาโนเทอร์โมอิเล็กทริก ส่วนตัวยาจะถูกบรรจุในนาโนโรบอทด้วยเทคโนโลยีกักเก็บระดับนาโน ‘Smart Encap’ และควบคุมการปลดปล่อยยังจุดที่ต้องการด้วยเทคโนโลยีวัสดุนาโนตอบสนอง ซึ่งจะคิกออฟในปี 2563 นี้


“สำหรับปี 2563 นาโนเทคมองว่า เป็นปีแห่งโอกาสและการพัฒนา เอานาโนเทคโนโลยีที่เรามี และกำลังพัฒนาองค์ความรู้ของเราไปสู่การใช้ประโยชน์ Beyond Limits ให้มากกว่าเป็นเทคโนโลยี แต่จะเป็นเครื่องมือที่ตอบความต้องการ สร้างความยั่งยืนให้กับประชาชน ชุมชน สังคม และประเทศ เพื่อ” ผู้อำนวยการนาโนเทคทิ้งท้าย

 

บรรยากาศและนักวิจัยนาโนเทค