เครื่องสำอางและเวชสำอางเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ประเทศกำลังผลักดัน ซึ่งนาโนเทคเองกำลังทำงานเพื่อขับเคลื่อนเมืองนวัตกรรมเครื่องสำอาง ผ่านการระดมความคิดเห็นในหลายๆ กลุ่ม ซึ่งผู้ที่เข้าร่วมงานทั้งในวันนี้ และในการประชุมครั้งแรกถือเป็นจิ๊กซอว์สำคัญ ที่จะขับเคลื่อนเพื่อสร้างมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมนี้ เราจึงอยากรับฟังแนวทางที่สร้างสรรค์ในการยกระดับขีดความสามารถในการคิดและสร้างสรรค์อุตสาหกรรมนี้ – ดร.อุรชา รักษ์ตานนท์ชัย รองผู้อำนวยการด้านวิจัยและพัฒนา นาโนเทค สวทช.
(6 พย. 2562) จากความตื่นตัวของผู้ประกอบการด้านเครื่องสำอางของไทยที่มุ่งเน้นการส่งออกและผลิตวัตถุดิบ รวมไปถึงนักวิจัยที่เกี่ยวข้องที่เข้าร่วมการประชุมระดมความเห็นจากภาคอุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทย เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2562 ที่ผ่านมา ในการเดินหน้าโครงการเมืองนวัตกรรมเครื่องสำอาง” หรือ Thai Cosmepolis นำมาสู่การประชุมระดมความเห็นฯ ในครั้งที่ 2 ที่ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) รับลูกนโยบายการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทยจาก กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพื่อรับฟังปัญหา ความต้องการ และความคิดเห็นจากผู้ประกอบการ โดย ดร.อุรชา รักษ์ตานนท์ชัย รองผู้อำนวยการด้านวิจัยและพัฒนา และ ดร. สุธี ผู้เจริญชนะชัย รองผู้อำนวยการด้านบริหาร นาโนเทค ร่วมดำเนินการ ซึ่งในครั้งนี้ มีผู้ประกอบการด้านเครื่องสำอางของไทยที่เน้นการขายในประเทศ และนักวิจัยที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมกว่า 60 คน
ดร.อุรชา รักษ์ตานนท์ชัย รองผู้อำนวยการด้านวิจัยและพัฒนา ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และผู้จัดการโครงการ “เมืองนวัตกรรมเครื่องสำอาง (Thai Cosmepolis)”กล่าวในการเปิดการประชุมระดมความเห็นจากภาคอุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทย ครั้งที่ 2 ว่า โครงการเมืองนวัตกรรมเครื่องสำอางนี้ อยู่ภายใต้ BCG Model (Bio Economy, Circular Economy และ Green Economy) ที่ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ให้ความสำคัญ ในเรื่องของเครื่องสำอางและเวชสำอางที่เกี่ยวเนื่องกับกลุ่มการแพทย์แม่นยำ และกลุ่มสุขภาพการแพทย์ ใน BCG Model ของประเทศ
“เครื่องสำอางและเวชสำอางเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ประเทศกำลังผลักดัน ซึ่งนาโนเทคเองกำลังทำงานเพื่อขับเคลื่อนเมืองนวัตกรรมเครื่องสำอาง ผ่านการระดมความคิดเห็นในหลายๆ กลุ่ม ซึ่งผู้ที่เข้าร่วมงานทั้งในวันนี้ และในการประชุมครั้งแรกถือเป็นจิ๊กซอว์สำคัญ ที่จะขับเคลื่อนเพื่อสร้างมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมนี้ เราจึงอยากรับฟังแนวทางที่สร้างสรรค์ในการยกระดับขีดความสามารถในการคิดและสร้างสรรค์อุตสาหกรรมนี้” ดร.อุรชากล่าว พร้อมชี้ว่า การประชุมระดมความเห็นฯ ในครั้งต่อไป (ครั้งที่ 3) จะมุ่งเน้นมหาวิทยาลัย หน่วยงานวิจัย หน่วยงานที่ให้บริการทดสอบ หน่วยงานภาครัฐ ส่วนครั้งที่ 4 ซึ่งเป็นครั้งสุดท้าย จะเป็นการจัดทำประชาพิจารณ์ต่อร่างสมุดปกขาว (White Paper) นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป
เมืองนวัตกรรมเครื่องสำอาง มีกรอบการทำงานภายใต้ 4 เสาหลัก ได้แก่ ฐานข้อมูล (Database) ที่จะเป็นตัวเชื่อมโยงข้อมูลสารสกัดสมุนไพร และงานวิจัยที่มีทั้งในและต่างประเทศ, โครงสร้างพื้นฐาน ทั้งมาตรฐานการวิเคราะห์ ระบบทดสอบความปลอดภัย เพื่อให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล รวมถึงภาคนโยบายด้านมาตรฐานภายในประเทศ, การวิจัย พัฒนาและนวัตกรรมที่ทั้ง สวทช. และมหาวิทยาลัยต่างๆ ทำอยู่ เพื่อวิจัยและพัฒนา เพิ่มมูลค่าให้กับสมุนไพร หรือองค์ประกอบ วัตถุดิบของไทย และหน่วยบริการแบบครบวงจร (One Stop Service) เพื่อให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องสามารถเข้าถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ได้มาตรฐาน
โดยเป้าหมายระยะสั้นคือการเป็นศูนย์กลางด้านเครื่องสำอางของอาเซียน และเครือข่ายผู้ให้บริการ (Solution Provider Network) ก่อนที่จะขยับสู่เป้าหมายระยะกลาง คือ การยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง พร้อมส่งเสริมและสนับสนุนการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและการใช้สารสกัดสมุนไพรไทย เป็นสารออกฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อนำไปสู่เป้าหมายระยะยาว คือ การเพิ่มมูลค่าการส่งออกสารสกัดสมุนไพรและผลิตภัณฑ์กลุ่มเวชสำอางไม่น้อยกว่า 4,400 ล้านบาท ภายในปี 2565 ในขณะเดียวกัน ก็จะผลักดันให้มีผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ได้มาตรฐานสากลออกจำหน่ายไม่น้อยกว่า 100 ผลิตภัณฑ์ต่อปี พร้อมฐานข้อมูลสารสกัดสมุนไพรและสารออกฤทธิ์ไม่น้อยกว่า 1,000 รายการ
“สิ่งที่เรามองเห็นคือ องค์ประกอบทุกอย่าง ไทยมีหมดแล้ว แต่ไม่เชื่อมโยงกัน ดังนั้น โมเดลการทำงานของเราจึงอยู่ภายใต้แนวคิด Connect Dots ที่จะไปเชื่อมแต่ละจุด ไม่ว่าจะเป็นด้านนโยบาย ทั้งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.), ด้านการบริการ อย่างสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ, ด้านการทดสอบอย่างห้องปฏิบัติการต่างๆ, ด้านมาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นสถาบันมาตรวิทยา (มว.)หรือ สมอ., ด้านโครงสร้างพื้นฐานอย่างโรงงานต้นแบบจีเอ็มพี อุทยานวิทยาศาสตร์ เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรือ อีอีซีไอ ศูนย์บ่มเพาะ รวมถึงด้านการวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม เพื่อให้เกิดการพัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ”
การประชุมระดมความคิดเห็นจากภาคอุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทย ครั้งที่ 2 นี้ แบ่งออกเป็น 2 ประเด็นได้แก่
1. แนวทางการจัดทำฐานข้อมูลกลาง (Database) กฎหมายและข้อบังคับต่างๆ เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทย แนวทางการสร้างกลไกสนับสนุนอุตสาหกรรมเครื่องสำอางในอนาคต และการจัดตั้ง “เมืองนวัตกรรมเครื่องสำอาง (Thai Cosmepolis)”
2. แนวทางด้านการวิเคราะห์ทดสอบประสิทธิภาพ ความปลอดภัย การทดสอบเพื่อการอ้างอิงสรรพคุณ (Functional claims) ในเครื่องสำอางเพื่อยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของอุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทย
โดยผลจากการประชุมระดมความคิดเห็นฯ ในครั้งนี้ ในข้อที่ 1 มองไปในมุมของฐานข้อมูลกลางสำหรับพืชสมุนไพรที่เน้น 3 เรื่องหลักคือ ชนิดของพืช ประสิทธิภาพและกฎข้อบังคับ โดยเป็นฐานข้อมูลสารเติมแต่งเครื่องสำอาง (Cosmetics Ingredient Database: Cosing) ที่เชื่อมกับฐานข้อมูลของ อย. รวมถึงฐานข้อมูลเกี่ยวกับมาตรฐาน/กฎระเบียบการส่งออกของแต่ละประเทศที่เป็นตลาดปลายทาง อาทิ ผู้แทนจำหน่ายในต่างประเทศที่น่าเชื่อถือ สารต้องห้ามในแต่ละประเทศ เป็นต้น
ส่วนในข้อที่ 2 เป็นเรื่องของการวิเคราะห์ทดสอบที่ผู้ประกอบการให้ความสำคัญและต้องการอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องของการแยกประเภทการวิเคราะห์ทดสอบ ระหว่างเครื่องสำอางและเวชสำอาง รวมถึงแนวโน้มการวิจัยและพัฒนาที่ต้องการ ที่ให้ความสำคัญเรื่องของความยั่งยืนของอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง
“การประชุมระดมความคิดเห็นฯ ทำให้เราเห็นภาพของอุตสาหกรรม ความต้องการ และปัญหาที่ชัดขึ้น บางครั้งเห็นมุมที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน เช่น Contact Point หรือฐานข้อมูลมาตรฐาน/กฎระเบียบการส่งออกของแต่ละประเทศ ซึ่งจะนำไปสู่การกำหนดกลยุทธ์ ให้ภาพของเมืองนวัตกรรมเครื่องสำอางครบถ้วน สมบูรณ์ ตอบโจทย์ทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง” ดร.อุรชากล่าว
ภายหลังการประชุมระดมความเห็น ดร. สุธี ผู้เจริญชนะชัย รองผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ กล่าวสรุปว่า ในเบื้องต้น ผลการระดมความคิดเห็นตอบโจทย์ 4 เสาหลักจำเป็นจะต้องเชื่อมโยงทุกมิติให้ตอบโจทย์ 4 เสาหลัก ที่จะทำให้กรอบการทำงานชัดเจนขึ้น
“หลังจากวันนี้ เราควรจะนำร่องด้วยผลิตภัณฑ์สมุนไพร 1 ตัว เพื่อให้ภาพการดำเนินการเมืองนวัตกรรมเครื่องสำอางชัดเจนขึ้นตั้งแต่เสาหลักที่ 1 ไปจนถึงเสาหลักที่ 4 จากการสร้างมูลค่าเพิ่มให้สมุนไพรแบบครบวงจร เพื่อให้เกิด Change Agent ได้ง่ายและเร็วขึ้น โดยนาโนเทคเอง พร้อมที่จะสนับสนุน” ดร.สุธีชี้