รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการระดับนานาชาติ “สมาคมวิจัยวัสดุแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 1” หรือ “The First Materials Research Society of Thailand International Conference” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม ถึง 3 พฤศจิกายน 2560 ณ ห้อง แกรนด์ฮอลล์ โรงแรมดิเอ็มเพรสเชียงใหม่ โดยสมาคมวิจัยวัสดุ ร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และหน่วยงานต่างๆ ได้แก่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา มหาวิทยาลัยนเรศวร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) และ บริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งการประชุมประกอบด้วย 20 Symposia ที่ครอบคลุมในทุกๆ ศาสตร์ของวัสดุและการประยุกต์ใช้ใหม่ๆ ที่ตอบสนองนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาล ทั้ง Old S-curve และ New S-curve มีนักวิจัยที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านวัสดุทั้งในและต่างประเทศกว่า 20 ประเทศ ทั้งทวีปอเมริกา ยุโรป เอเชีย และออสเตรเลีย จำนวนกว่า 1,200 คน
การประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และเทคโนโลยีใหม่ๆ จากนักวิจัยที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านวัสดุทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้เกิดความร่วมมือการวิจัยด้านวัสดุศาสตร์และเทคโนโลยีในระดับสากล สนับสนุนการตีพิมพ์ผลงานในวารสารวิชาการระดับนานาชาติและระดับชาติที่มี Peer Review เพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการ และสามารถต่อยอดงานวิจัยและนวัตกรรมไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้จริง รวมทั้งเป็นศูนย์กลางความร่วมมือด้านวัสดุของประเทศไทย
ดร.ภาวดี อังค์วัฒนะ รองผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) ได้เข้าร่วมพิธีเปิดการประชุมครั้งนี้ในฐานะหน่วยงานร่วมจัดเเละสนับสนุนการจัดประชุมครั้งนี้ โดยนาโนเทคเล็งเห็นความสำคัญที่ประเทศไทยจำเป็นต้องพึ่งพาเทคโนโลยีในสาขาวัสดุศาสตร์ ซึ่งเป็น 1 ใน 4 ของสาขาเทคโนโลยีที่ได้รับการชี้บ่งว่าจะเป็นเทคโนโลยีหลักในการพัฒนาประเทศในระยะยาวและจำเป็นอย่างยิ่งในระยะ 20 ปีต่อจากนี้ เพื่อผลักดันโมเดลไทยแลนด์ 4.0 สำหรับ 5 อุตสาหกรรมใหม่หรืออุตสาหกรรมอนาคต (New S-curve) คืออุตสาหกรรมหุ่นยนต์ (Robotics) อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ (Aviation and Logistics) อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (Biofuels and Biochemicals) อุตสาหกรรมดิจิตอล (Digital) และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub) ซึ่งเป็นกลไกที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (New Growth Engines) ของประเทศ
พร้อมกันนี้ นักวิจัยนาโนเทคได้เข้าร่วมการประชุม และเผยแพร่ผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ทั้งในรูปแบบการนำเสนอแบบบรรยายและโปสเตอร์ นอกจากนี้ผลงานที่ผ่านการประเมินจากผู้ทรงคุณวุฒิจะได้นำไปตีพิมพ์ในวารสารในระดับสากลกว่า 15 วารสาร กว่า 400 ผลงาน