25 มิถุนายน 2567 – อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี: ดร.ภาวดี อังค์วัฒนะ รองผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สวทช. ให้การต้อนรับ นพ.วรพล เวชชาภินันท์ รักษาการผู้อำนวยการโรงพยาบาลโรคผิวหนังเขตร้อนภาคใต้ จ.ตรัง และ นพ.ชวลิต ทรัพทย์ศรีสัญจัย ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง พร้อมคณะ ในการเข้าเยี่ยม สวทช. และหารือเพื่อพัฒนาความร่วมมือในอนาคต
ในโอกาสนี้ ดร.ภาวดี อังค์วัฒนะ รองผู้อำนวยการ นาโนเทค ได้กล่าวต้อนรับ โดยมี ดร.วิยงค์ กังวานศุภมงคล ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยการวิเคราะห์ระดับนาโนขั้นสูงและความปลอดภัย นาโนเทค และนายพงศ์สิทธิ์ รัตรกรวิทย์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารเทคโนโลยีฐานและบูรณาการเครือข่ายวิจัย นาโนเทค ร่วมให้การต้อนรับ โดย ดร.วิยงค์ ได้บรรยายสรุป ข้อมูลภาพรวมการวิจัยพัฒนา/การให้บริการวิเคราะห์ทดสอบประสิทธิภาพ และความปลอดภัยในด้านต่างๆ ของ สวทช.
หลังจากนั้นคณะผู้เยี่ยมชมชมงานวิจัยพัฒนาและ Infrastructure ต่างๆ ของ สวทช. ได้เเก่
1. ศูนย์ทดสอบทางพิษวิทยาและชีววิทยา (Toxicology and Bio Evaluation Service Center; TBES) โดย TBES เป็นหน่วยงานให้บริการทดสอบความปลอดภัยและฤทธิ์ทางชีวภาพของผลิตภัณฑ์สุขภาพ เครื่องสำอางและสมุนไพร รวมถึงการทดสอบความเข้ากันได้ทางชีวภาพ ของวัสดุทางการแพทย์ด้วยวิธีการทดสอบที่เป็นมาตรฐาน โดยไม่ใช้สัตว์ทดลอง
2. ทีมวิจัยความปลอดภัยระดับนาโนและฤทธิ์ทางชีวภาพ (Nano Safety and Bioactivity Research Team; NSB) โดย NSB เป็นทีมวิจัยที่มุ่งเน้นการทำวิจัยหลักใน 2 ขอบข่ายคือ 1) Predictive model development และ 2) Testing protocol development โดยทั้ง 2 ขอบข่ายการวิจัยดำเนินการวิจัยพัฒนาทั้ง In vitro and in vivo model เพื่อการประยุกต์ใช้ในการประเมินความปลอดภัยด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ การประเมินฤทธิ์ทางชีวภาพ และการศึกษาประสิทธิภาพ นอกจากนี้ทีม NSB ยังเปิดให้บริการวิเคราะห์ทดสอบประสิทธิภาพและความปลอดภัยผลิตภัณฑ์สมุนไพรและผลิตภัณฑ์สุขภาพโดยใช้ Testing model ต่างๆ ที่ทางทีมวิจัยได้พัฒนาขึ้น เช่น Skin model (2D 3D และ Ex vivo model), Zebra fish model และ Gut model เป็นต้น
3. โรงงานต้นแบบผลิตอนุภาคนาโนและเครื่องสำอาง (Nanoparticles and Cosmetics Production Plant) โรงงานต้นแบบฯ เป็น Translational Unit มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการด้านเครื่องสำอางใช้นวัตกรรมทางด้านนาโนเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มโอกาสในการแข่งขัน โดยให้บริการตั้งแต่การทดลองผลิต ในระดับสเกลขนาดเล็กเพื่อนำเนื้อผลิตภัณฑ์ไปทดสอบ หรือทดลองตลาด บริการขยายขนาดการผลิต และการผลิตในระดับอุตสาหกรรม ด้วยมาตรฐาน Asean GMP Cosmetic โดยให้บริการทั้งทางด้านการผลิต อนุภาคของ Active เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในเครื่องสำอาง และการผลิตผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ด้านการวิเคราะห์ทดสอบให้บริการตรวจวิเคราะห์ทั้งทางด้าน กายภาพ จุลชีวะ และการทดสอบความคงตัวเพื่อกำหนดอายุของผลิตภัณฑ์ เพื่อเป็นการยกระดับมาตรฐานด้านคุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์
การเยี่ยมชมครั้งนี้ เป็นการเปิดโอกาสให้ สวทช. โรงพยาบาลโรคผิวหนังเขตร้อนภาคใต้ จ.ตรัง และสถาบันโรคผิวหนัง ได้หารือถึงความเป็นไปได้ในการร่วมมือกันในอนาคต เพื่อส่งเสริมการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรมด้านต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยและภูมิภาค