นาโนเทค สวทช. ประชุมศูนย์เครือข่ายวิจัยพัฒนาด้านนาโนเทคโนโลยี (RNN) ครั้งที่ 5
“กระชับความร่วมมือ สร้าง Flagship งานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์”
เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2563 ณ ห้องประชุมอาคารสตางค์ มงคลสุข คณะวิทยาศาสตร์ (พญาไท) มหาวิทยาลัยมหิดล ดร.วรรณี ฉินศิริกุล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ผู้บริหาร นักวิจัยนาโนเทคและอาจารย์จากศูนย์เครือข่าย เข้าร่วมการประชุมติดตาม ประเมินผลรายงานความก้าวหน้าการดําเนินงาน โครงการศูนย์เครือข่ายการวิจัยและพัฒนาด้านนาโนเทคโนโลยี (RNN) ครั้งที่ 5 ในครั้งนี้ศูนย์เครือข่ายฯ ม.มหิดล เป็นเจ้าภาพจัดประชุม โดยมี รศ.ดร.ฤทัยวรรณ โต๊ะทอง รองคณบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ ในฐานะผู้แทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ให้เกียรติกล่าวต้อนรับ และ นางสาวมณีรัตน์ จอมพุก ผู้อำนวยการกองบริหารงานวิจัย กล่าวรายงาน
คุณเขมทัต สุคนธสิงห์ ประธานคณะอนุกรรมการฯ กล่าวเปิดประชุม โดยย้ำว่าการดำเนินงานศูนย์เครือข่ายที่ดำเนินการมาเป็นแนวทางที่ถูกต้อง เป็นการร่วมมือจากหน่วยงานเฉพาะทางและนาโนเทค นำผลงานมุ่งเป้าให้เป็น Flagship นำไปสู่การใช้ประโยชน์ ตอบโจทย์สำคัญของประเทศ ดร.วรรณี ฉินศิริกุล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช. กล่าวถึงประเด็นสำคัญของการทำงานร่วมกัน 11 เครือข่าย 7 มหาวิทยาลัย ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยสุรนารี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และสถาบันวิทยสิริเมธี ที่ทำงานร่วมกับนาโนเทค สวทช. เพื่อนำไปสู่การสร้างฐานเทคโนโลยี และต่อยอดงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ ที่ครอบคลุม 5 ขอบข่ายวิจัย ได้แก่ นาโนเทคโนโลยีเพื่อการแพทย์และสาธารณสุข, นาโนเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม, นาโนเทคโนโลยีเพื่อพลังงาน, นาโนเทคโนโลยีเพื่ออาหารและการเกษตร และนาโนเทคโนโลยีเพื่อมาตรวิทยาและการวิเคราะห์ทดสอบ จากนั้น ได้เสนอประเด็น Energy Disruptions ที Nanotechnology จะมีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่เครือข่ายจะต้องร่วมมือกันเพื่อสร้างขีดความสามารถมารองรับ
ผู้อำนวยการนาโนเทคตั้งเป้าว่า เมื่อสิ้นสุดโครงการฯ จะสร้างผลกระทบเชิงเศรษฐกิจและสังคมมากกว่า 5 เท่าของงบประมาณดำเนินการหรือมากกว่า 1,000 ล้านบาท ประเด็นสำคัญในการประชุมครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมประชุมทั้งในห้องประชุมและผ่านระบบประชุมออนไลน์ ต่างเห็นร่วมกันในการร่วมมือกันพัฒนาข้อเสนอแผนงานโครงการเพื่อการทำงานร่วมกัน โดยผู้อำนวยการนาโนเทคได้ยกตัวอย่างการร่วมมือที่เกิดขึ้นแล้วที่ได้รับทุนวิจัยจาก PMUB วช. และที่กำลังดำเนินการขอทุน นอกจากนี้ในที่ประชุมเสนอแนวคิดในการสร้าง Micro-Credential ที่จะทำให้เกิดความสนใจเฉพาะเรื่อง สร้างผลงานวิจัยที่จะตอบโจทย์สังคม ในขณะเดียวกัน ก็มุ่งเน้นการนำงานวิจัยไปสร้างประโยชน์ให้แก่ผู้ที่ต้องการ ทั้งในระดับชุมชน สังคม รวมถึงระดับประเทศ เพื่อนำเสนอให้เห็นว่า เทคโนโลยี และนาโนเทคโนโลยีช่วยให้ชีวิตดีขึ้น คุณภาพชีวิตดีขึ้นได้จริง
จากนั้น ตัวแทนเครือข่าย RNN นำเสนอความก้าวหน้าของโครงการวิจัยที่ดำเนินงานร่วมกับนาโนเทค และศูนย์เครือข่ายด้วยกัน โดยผลลัพธ์คาดว่าเมื่อสิ้นสุดการดำเนินงานจะเป็นไปตามเป้าหมาย โดยได้ดำเนินเสนอผลงานที่มีความน่าสนใจและคาดว่าจะเกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างมาก อาทิ งานวิจัยด้านน้ำ, ชุดตรวจวัดแบบพกพาสำหรับประเมินพาราควอต, แผ่นแปะยารักษาโรคสมองเสื่อม (Dementia), ต้นแบบเครื่องฟอกอากาศ EcoCleanAir, และอื่นๆ อีกมาก