นาโนเทค สวทช. สร้างความร่วมมือร่วมกับพันธมิตร ณ ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 1 – 4 กุมภาพันธ์ 2566

เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 ดร.วรรณี ฉินศิริกุล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ และประธานสมาคมนาโนเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (ANF) พร้อมด้วย ดร.ภาวดี อังค์วัฒนะ รองผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ และเลขานุการสมาคมนาโนเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (ANF) เข้าร่วมงานประชุม Asia Nano Forum Executive Committee Meeting 2023 (ANF ExCo Meeting 2023) เพื่อรายงานสรุปกิจกรรมตลอดปี 2565 และหารือกิจกรรมระหว่างประเทศสมาชิก โดยจัดขึ้นร่วมกับงาน The 22nd International Nanotechnology Exhibition & Conference (nano tech 2023) ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

ดร.เวฬุรีย์ ทองคำ นักวิชาการอาวุโส งานความปลอดภัยนาโนเทคโนโลยี เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ในฐานะตัวแทนของนาโนเทคเพื่อรายงานความคืบหน้าการทำงานภายใต้ Working Group on Nanosafety & Risk Management เกี่ยวกับกิจกรรมความปลอดภัยนาโนเทคโนโลยีในภูมิภาคผ่านเครือข่าย Asia Nano Safety

นอกจากนี้ ดร.ธันยกร เมืองนาโพธิ์ นักวิจัย ทีมวิจัยนวัตกรรมเคลือบนาโน กลุ่มวิจัยวัสดุผสมและการเคลือบนาโนและกรรมการผู้จัดการ บริษัท นาโน โค๊ตติ้ง เทค จำกัด (ประเทศไทย) ได้รับเชิญนำเสนอในหัวข้อ “Nano Coating Tech: Research-to-Commercialization” ในงาน ANF Workshop on Commercialization

เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566 ดร.วรรณี ฉินศิริกุล (ผศน. และประธาน ANF) ได้รับเชิญให้บรรยายเรื่อง “Nanotechnology Activities of NANOTEC, Thailand and Asia Nano Forum” ในงาน The 15th  Nanotech Association Conference จัดโดย Nanotechnology Business Creation Initiative (NBCI) & JTB Communication Design ซึ่งมี 8 ประเทศเข้าร่วม อาทิ แคนาดา ญี่ปุ่น เกาหลี เนเธอร์แลนด์ มาเลเซีย ไต้หวัน ไทย และสหรัฐอเมริกา นำเสนอในงานดังกล่าว ทั้งนี้ NBCI จัดตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนการขยายธุรกิจทางด้านนาโนเทคโนโลยีทั้งในและต่างประเทศ

 

นอกจากนี้ ดร. ภาวดี อังค์วัฒนะ (รอง ผศน.) และ ดร. เดือนเพ็ญ จาปรุง (ผอ. กลุ่มวิจัยวัสดุตอบสนองและเซ็นเซอร์ระดับนาโน) ได้รับเชิญนำเสนอในหัวข้อ “Nano Characterization Facility and Networking in Thailand” ในงาน 2023 Symposium on User-Facility Network in Asia กิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นภายใต้ Working Group on User-Facility Network เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ขั้นสูงและโครงสร้างพื้นฐานด้าน nanofab, nanobio และ nano-characterization ในภูมิภาคเอเชีย

ข้อมูลเกี่ยวกับสมาคมนาโนเทคโนโลยีแห่งเอเชีย

สมาคมนาโนเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (The Asia Nano Forum – ANF) ก่อตั้งขึ้นในปี 2547 โดยมีประเทศสมาชิกร่วมก่อตั้ง 6 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น ประเทศไทย ออสเตรเลีย เวียดนาม อินเดีย และสหรัฐอเมริกา มีวัตถุประสงค์เพื่อทำหน้าที่สนับสนุนให้เกิดความร่วมมือด้านนาโนเทคโนโลยีในกลุ่มประเทศสมาชิกและร่วมกันกำหนดรูปแบบกิจกรรมและแนวทางเพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือในระดับนานาชาติ สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ ปัจจุบันมีสมาชิก 14 หน่วยงานจาก 10 ประเทศสมาชิก ได้แก่ ออสเตรเลีย อินเดีย อิหร่าน ญี่ปุ่น เกาหลี มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน ไทย และเวียดนาม โดยในปี 2565-2566 ดร.วรรณี ฉินศิริกุล ได้รับการเลือกตั้งให้เป็นประธาน และ ดร. ภาวดี อังค์วัฒนะ ได้รับเลือกตั้งให้เป็นเลขานุการของสมาคมนาโนเทคโนโลยีแห่งเอเชีย โดยมีงาน ICO ทำหน้าที่เป็นทีมเลขาธิการ ANF โดยมีบทบาทหน้าที่การดำเนินงานดังนี้

1) จัดกิจกรรมการประชุมของสมาคมฯ อาทิ ANF ExCo Meeting, ANF Office Bearers และ ANF Summit)

2) จัดทำข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของ ANF

3) จัดทำจดหมายข่าว และรายงานกิจกรรมของ ANF เพื่อเผยแพร่ข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของ ANF

 

 

เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2566 ดร.วรรณี ฉินศิริกุล และคณะจากนาโนเทคหารือความร่วมมือ ณ Tokai University (วิทยาเขต Shonan) ประเทศญี่ปุ่น โดย Prof. Rio Kita (Director of the Micro/Nano Technology Center), Prof. Shigeru Yamaguchi (General manager global initiatives) และกลุ่มนักวิจัยของศูนย์ฯ เข้าร่วมหารือ โดยมีแผนผลักดันการทำงานร่วมกันเกี่ยวกับระบบไมโครฟลูอิดิก ระบบจุลภาค (MPS) ที่ใช้ในการทดสอบกับสัตว์สำหรับการวิจัยทางการแพทย์ เภสัชกรรม และชีววิทยาศาสตร์

อีกทั้งยังได้เข้าพบคณะทำงานของ Japan Science and Technology Agency (JST) เพื่อหารือเกี่ยวกับโครงการให้ทุนสนับสนุนความร่วมมือด้านการวิจัยระหว่างประเทศ อาทิ SATREPS, SAKURA, e-ASIA และ JRP เป็นต้น โดยมี Mr. Osamu Kobayashi (Director of Department of International affairs) นำเสนอความร่วมมือระหว่าง JST และประเทศไทย โดย JST เป็นผู้ให้ทุนสนับสนุนการวิจัยระดับชาติที่มีพันธกิจมุ่งเน้นด้านนวัตกรรม เชื่อมโยงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่หลากหลาย และผลักดันการสร้างงานวิจัยที่สามารถสร้างคุณค่าที่แท้จริงให้กับสังคมโลก

เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2566 ดร.วรรณี ฉินศิริกุล และ ดร.ภาวดี อังค์วัฒนะ เดินทางเข้าหารือความร่วมมือร่วมกับ Prof. Takeshi Kikutani, Professor of Department of Materials Science and Engineering, School of Materials and Chemical Technology, Tokyo Institute of Technology (Tokyo Tech) เพื่อหารือต่อยอดความร่วมมือด้านการผลิตเส้นใย ซึ่งมีความร่วมมือกับกลุ่มวิจัยวัสดุผสมและการเคลือบนาโนในหัวข้อ “The development of polypropylene nanocomposite fibers” ตั้งแต่ปี 2562