สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ลงนามความร่วมมือทางด้านวิชาการ หวังสร้างความแข็งแกร่งทางวิชาการให้บุคลากร รวมถึงหนุนสร้างนวัตกรรมด้านการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพจากองค์ความรู้ทางด้านนาโนเทคโนโลยี สู่ความยั่งยืนด้านการแพทย์และสาธารณสุขของไทย
ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า สำหรับความร่วมมือระหว่างราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดยวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน กับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ โดยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาตินี้ นับเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือของทั้งสองหน่วยงานอย่างเป็นรูปธรรม อันจะก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาศักยภาพของทั้งสองฝ่าย รวมทั้งเป็นการสร้างความเข้มแข็งต่อการพัฒนาประเทศชาติในอนาคตต่อไป
“กำลังคนที่มีศักยภาพสูงจะเป็นกำลังสำคัญในการสร้างองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพ ให้กับประเทศ เป็นการวางกรากฐานสร้างความมั่นคงทางด้านการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศ ที่จะทำให้ไทยสามารถพึ่งตนเองและสร้างโอกาสใหม่ๆ บนเวทีโลกเช่นกัน” ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์สิริฤกษ์กล่าว
ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือทางวิชาการระหว่างราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดยวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน (วพศส.) และ สวทช. โดยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) นี้ มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา เพื่อสร้างความเข้มแข็งทางวิชาการ การพัฒนากำลังคน การพัฒนานวัตกรรมด้านการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพจากองค์ความรู้ทางด้านนาโนเทคโนโลยี ตลอดทั้งส่งเสริมนวัตกรรมไปสู่การใช้ประโยชน์เพื่อพัฒนาการแพทย์และสาธารณสุขของประทศ และร่วมกันส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง
ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ตั้งขึ้นภายใต้พระปณิธานใน ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เพื่อเฉลิมพระเกียรติ ๙๐ ปี พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงทุ่มเทพระวรกาย ทรงประกอบพระกรณียกิจเพื่อประชาชนชาวไทย ตลอดพระชนม์ชีพ ๙๐ พรรษา โดยวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน เป็นส่วนงานภายใต้ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ มีหน้าที่หลักด้านการเรียนการสอน รวมทั้งด้านวิจัยและวิชาการ
“ความร่วมมือระหว่าง 2 หน่วยงานจะเป็นความร่วมมือในหลายๆ ด้าน อาทิ ด้านวิจัยและพัฒนาด้านการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพจากองค์ความรู้ทางด้านนาโนเทคโนโลยี, ด้านการพัฒนากำลังคนด้านการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพ เพื่อให้มีองค์ความรู้และทักษะด้านการวิจัยพัฒนานวัตกรรมด้านนาโนเทคโนโลยี, ด้านการร่วมกันผลักดันให้ผลงานวิจัยหรือนวัตกรรมด้านการแพทย์ วิทยาศาสตร์สุขภาพ หรือด้านนาโนเทคโนโลยีไปสู่การใช้ประโยชน์ทั้งเชิงพาณิชย์ เชิงนโยบาย และเชิงสาธารณะ และโดยเฉพาะด้านการเรียนการสอนให้กับนักศึกษาระดับต่างๆ ของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เช่น เป็นอาจารย์พิเศษให้กับนักศึกษาแพทย์ นักศึกษาปริญญาโท–เอก เป็นต้น” ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิกล่าว
ดร.วรรณี ฉินศิริกุล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช. กล่าวว่า ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ (นาโนเทค) มีส่วนสำคัญในการวางรากฐานเพื่อขยายผลการพัฒนานาโนเทคโนโลยีของประเทศจนนำไปสู่การเป็น “องค์กรวิจัยแห่งความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมนาโนเทคโนโลยี เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ บนฐานแห่งความยั่งยืนและการยอมรับในระดับสากล” ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์ของนาโนเทคในปัจจุบันนี้ และการร่วมมือกันในครั้งนี้ มีเป้าหมายร่วมกันในการสร้างความเข้มแข็งทางวิชาการที่เกิดจากการวิจัยและพัฒนา ความสามารถในการนำผลงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์เพื่อสร้างผลกระทบเชิงเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งการพัฒนาและสร้างกำลังคนให้มีความสามารถในต่อยอดองค์ความรู้ทางนาโนเทคโนโลยีไปสู่การสร้างนวัตกรรมทางการแพทย์และสุขภาพ เพื่อให้สามารถพัฒนานวัตกรรมนาโนเทคโนโลยีไปใช้ประโยชน์ ซึ่งจะยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนภายในประเทศ
“นาโนเทคสนับสนุนและร่วมมือกับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ในการสร้างเครือข่ายการพัฒนากำลังคนผ่านกิจกรรมนำร่องที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยในระยะเริ่มต้นเป็นการอบรมวิจัยระยะสั้น ซึ่งเป็นการเสริมสร้างประสบการณ์ของนักศึกษาแพทย์ ชั้นปีที่ 3 ในการทำวิจัยและพัฒนานาโนเทคโนโลยีสู่นวัตกรรมการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพ โดยมีนักวิจัยของนาโนเทคเป็นพี่เลี้ยง เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับนักศึกษาแพทย์ในการศึกษาและปฏิบัติงานวิจัยในต่างประเทศ ซึ่งเราคาดหวังว่า การอบรมวิจัยระยะสั้นนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการขยายผลความร่วมมือผ่านนักศึกษาแพทย์และอาจารย์ของวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน เกิดเป็นความร่วมมือกับนักวิจัยของนาโนเทค เพื่อกำหนดโจทย์วิจัยในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับปัญหาสุขภาพและการแพทย์ของประเทศไทย” ดร.วรรณีเผย
ระยะต่อไปเป็นความร่วมมือกันโดยให้นักวิจัยนาโนเทคเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาร่วม ปัจจุบันราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์และนาโนเทค มีแผนงานที่จะร่วมกันกำหนดหัวข้อวิจัยสำหรับนักศึกษาในหลักสูตรตจศึกษากับกลุ่มวิจัยการห่อหุ้มระดับนาโน ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการนำนาโนเทคโนโลยีมาพัฒนาการห่อหุ้มสารสำคัญให้มีการออกฤทธิ์ทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และคาดว่าในอนาคตจะได้ขยายความร่วมมือนี้ไปกลุ่มวิจัยอื่นๆ ของนาโนเทคที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์และสาธารณสุข
“กิจกรรมนำร่องต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นนี้ เชื่อว่า จะเป็นการดำเนินการที่ดีในการพัฒนากำลังคนทางด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดยอาศัยความเชี่ยวชาญทางด้านนาโนเทคโนโลยี และมีโอกาสขยายไปสู่ความร่วมมือรูปแบบอื่นๆ เช่น การพัฒนาข้อเสนอโครงการวิจัยขนาดใหญ่ร่วมกัน และการร่วมพัฒนาผลงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนจากการบริการทางด้านแพทย์และสาธารณสุขที่เกิดจากการใช้องค์ความรู้ทางด้านนาโนเทคโนโลยีในอนาคตต่อไป” ดร.วรรณีกล่าว