[22 มี.ค. 65] พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ปี 2565 โดย ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมเป็นเกียรติในพิธีพร้อมกับผู้บริหารจาก 5 หน่วยงาน ได้แก่ ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) พันตำรวจโทประวุธ วงศ์สีนิล รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ดร.วรรณี ฉินศิริกุล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ ผู้แทนผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ดร.สุทัศน์ วีสกุล ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) กล่าวถึงการร่วมขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือร่วมกัน ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพมหานคร
พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การจัดกิจกรรมเนื่องในวันน้ำโลก ประจำปี 2565 มุ่งเน้นในการสื่อสารองค์ความรู้ และการขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน รวมถึงการสร้างความร่วมมือและพัฒนาแนวคิดของเยาวชน โดยเฉพาะเรื่อง “น้ำใต้ดิน” ซึ่งสอดคล้องกับประเด็นที่องค์การสหประชาชาติ ให้ความสำคัญและเป็นที่มาของการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในวันน้ำโลกปีนี้ เพื่อขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ระหว่าง 5 หน่วยงาน เป็นการยกระดับความเข้มข้นของการดำเนินงานที่จะช่วยส่งเสริมให้การบริหารจัดการน้ำของประเทศไทยเกิดผลสัมฤทธิ์ตามแผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน จากการร่วมลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังในครั้งนี้ ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้มุ่งเน้นความสำคัญในการบริหารจัดการน้ำทั่วประเทศ โดยให้หน่วยงานทั้งส่วนกลางและท้องถิ่น มีส่วนร่วมดูแลการจัดการน้ำและจัดสรรน้ำอย่างเหมาะสม ทั้งในภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และบริการ และให้สอดรับกับการพัฒนาและการเจริญเติบโตของประเทศ เพื่อให้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำให้มีความมั่นคงและก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับพี่น้องประชาชน และในโอกาสนี้ ได้ย้ำถึงเจตนารมณ์ของรัฐบาลไทยที่ นายกรัฐมนตรีได้ให้ไว้เนื่องในวันน้ำโลกปีนี้ว่า ประเทศไทยจะดำเนินการบริหารจัดการน้ำใต้ดินอย่างเป็นระบบตามหลักวิชาการ ตั้งแต่การฟื้นฟูป่ารักษาความชุ่มชื้นให้แก่ระบบนิเวศ การเติมน้ำใต้ดินผ่านแหล่งน้ำต่าง ๆ และติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาสมดุลของธรรมชาติ ลดการรุกล้ำของน้ำเค็ม บรรเทาอุทกภัย และการใช้ประโยชน์ในช่วงวิกฤตภัยแล้ง พร้อมไปกับการปลูกจิตสำนึกให้ประชาชนตระหนักและร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ ด้วยการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ลดการปนเปื้อนของแหล่งน้ำและน้ำใต้ดิน เพื่อให้ประเทศไทยสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ตามนโยบาย “ทศวรรษแห่งการร่วมมือปฏิบัติของทุกประเทศ เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” ของสหประชาชาติด้านน้ำ และเพื่อประโยชน์สูงสุด คือการรักษาทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนเพื่อประชาชนรุ่นหลังสืบต่อไป
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ สทนช. ลงนามร่วมกับ 4 หน่วยงาน รวมทั้งสิ้น 4 ฉบับ ได้แก่ 1) ความร่วมมือในการส่งเสริมองค์ความรู้ เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งระบบในเรือนจำและสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กับกระทรวงยุติธรรม 2) ความร่วมมือว่าด้วยการพัฒนาและประยุกต์ใช้ระบบสารสนเทศทรัพยากรน้ำ เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ กับสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และอีก 2 ฉบับ เป็นความร่วมมือในการบริหารจัดการน้ำด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) กับ 2 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย “นับเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญในบูรณาการขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำและบรรเทาวิกฤติการขาดแคลนน้ำ ซึ่งทั้ง 5 หน่วยงาน จะร่วมกันยกระดับการทำงานด้านการจัดการน้ำอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการนำองค์ความรู้ทั้งการพัฒนาและประยุกต์ใช้ข้อมูลและสารสนเทศภูมิศาสตร์ การประเมินผลด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์ การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม มาใช้ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนและมั่นคงต่อไป” เลขาธิการ สทนช. กล่าว
ดร.วรรณี ฉินศิริกุล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อการบริหารจัดการน้ำด้วย วทน. กับ สทนช. จะเป็นการร่วมกันส่งเสริมการนำองค์ความรู้จากการวิจัยและพัฒนาเพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการน้ำในมิติที่หลากหลาย ทั้งตรวจวัด บำบัด และพัฒนาคุณภาพน้ำ ตลอดทั้งส่งเสริมให้เกิดการนำนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์เพื่อการบริหารจัดการน้ำ มีขอบเขตความร่วมมือ 4 ด้าน ได้แก่
ด้านที่ 1 ดำเนินการวิจัยและพัฒนาทางด้านนาโนเทคโนโลยี เทคโนโลยีวัสดุ เทคโนโลยีสารสนเทศ และเทคโนโลยีอื่นที่เหมาะสมสำหรับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งในมิติปริมาณและคุณภาพน้ำ
ด้านที่ 2 ร่วมกันจัดหาและสนับสนุนทรัพยากรเพื่อการวิจัยและพัฒนาสำหรับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ
ด้านที่ 3 ร่วมกันสนับสนุนข้อมูลทางวิชาการเพื่อการใช้ประโยชน์ในการบริหารจัดการน้ำ และพัฒนาคุณภาพน้ำสำหรับการอุปโภคและบริโภค
ด้านที่ 4 ร่วมกันถ่ายทอด เผยแพร่ผลการวิจัยและพัฒนา เพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ นำไปใช้ประโยชน์ในการเพิ่มประสิทธิภาพการบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ
“สำหรับโครงการ (นำร่อง) ที่คาดว่าจะดำเนินการภายใต้ข้อตกลง ได้แก่ โครงการนวัตกรรมตรวจวัดและพัฒนาคุณภาพน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภค โครงการตรวจวัดและพัฒนาฐานข้อมูลน้ำและแหล่งน้ำที่มีการปนเปื้อน ซึ่งจะสนับสนุนให้เกิดการขยายผลนวัตกรรมจากการวิจัยและพัฒนาไปใช้ประโยชน์แก่หน่วยงานที่มีพันธกิจเพื่อการบริหารจัดการน้ำและขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำ วทน. อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป” ผู้อำนวยการนาโนเทค กล่าว