ดร.อุรชา รักษ์ตานนท์ชัย รองผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ ได้รับการแต่งตั้งในตำแหน่งศาสตราจารย์กิตติมศักดิ์ (Honorary Professor) จากคณะกรรมการ The School of Chemistry and Molecular Biosciences, The University of Queensland ประเทศออสเตรเลีย ด้วยเป็นบุคคลผู้มีความเชี่ยวชาญและทำคุณประโยชน์ต่อวงการวิชาการด้าน Biosciences อย่างเป็นที่ประจักษ์ สอดคล้องกับการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยฯที่มีความโดดเด่นในด้าน Biosciences ในระดับนานาชาติ โดย ดร.อุรชาจะดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์กิตติมศักดิ์ของ University of Queensland เป็นระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2560 จนถึงเดือนมิถุนายน 2563 และจะได้เข้าร่วมกิจกรรมวิชาการของทางมหาวิทยาลัยอีกด้วย ซึ่งในปัจจุบันมีศาสตราจารย์กิตติมศักดิ์ (Honorary Professor) ที่ได้รับการเสนอชื่อจาก The School of Chemistry and Molecular Biosciences, The University of Queensland จำนวนทั้งสิ้น 15 ท่านจากหลายองค์กรชั้นนำนานาประเทศ
ดร.อุรชา รักษ์ตานนท์ชัย มีความเชี่ยวชาญด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการกักเก็บห่อหุ้มเพื่อควบคุมสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ มุ่งเน้นการประยุกต์ใช้ในทางการแพทย์ ซึ่งที่ผ่านมามีผลงานที่โดดเด่นในด้าน Biosciences ที่ถูกตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการที่มีชื่อเสียงในระดับสากลมาแล้วหลายฉบับ อาทิ Nanotechnology, International Journal of Pharmaceutics, Colloids and Surfaces B: Biointerfaces, Carbohydrate Polymers ฯลฯ นอกจากนี้ ในปี 2553 ดร.อุรชา ยังได้รับคัดเลือกจากหน่วยงาน UNESCO-L’Oreal Thailand ให้เป็นหนึ่งใน “2011 For Women in Science” จากผลงานพัฒนาอนุภาคนาโนเพื่อใช้ห่อหุ้มสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ ซึ่งขณะนั้นปฏิบัติงานเป็นผู้อำนวยการหน่วยวิจัยนาโนเทคโนโลยี ก่อนจะเข้ารับตำแหน่งรองผู้อำนวยการนาโนเทคในเดือนสิงหาคมปี 2559 สำหรับผลงานทางด้านวิชาการ ดร.อุรชา มีผลงานที่ถูกตีพิมพ์ในระดับนานาชาติมากกว่า 110 ฉบับ และมีผลงานที่ยื่นขอจดสิทธิบัตรกว่า 40 รายการ นอกจากนี้ ดร.อุรชา ยังเป็นที่ปรึกษาและอาจารย์พิเศษให้กับมหาวิทยาลัยหลายแห่งในประเทศไทย อีกทั้งได้รับเชิญจากหน่วยงานต่างๆ ให้เป็น Invited Speaker ในการประชุมวิชาการทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติอีกด้วย
ปัจจุบัน ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ และ University of Queensland เป็นหน่วยงานพันธมิตรทางด้านวิชาการและมีความร่วมมือร่วมกันมาแล้วเป็นระยะเวลา 12 ปี นับตั้งแต่ปี 2548 โดยที่ผ่านมามีนักเรียนทุนสาขานาโนเทคโนโลยีที่ไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโท-เอก และการได้รับทุนสนับสนุนจาก University of Queensland ให้นักวิจัยนาโนเทคเดินทางไปปฏิบัติงานวิจัยเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทำงานร่วมกับนักวิจัยในประเทศออสเตรเลีย
ทั้งนี้ การได้รับการเสนอชื่อให้เป็นศาสตราจารย์กิตติมศักดิ์ ของ ดร.อุรชา นั้น จะช่วยกระชับความสัมพันธ์ระหว่างนาโนเทคและ University of Queensland ตลอดจนเสริมสร้างความร่วมมือในระดับนานาชาติ เพื่อต่อยอดงานวิจัยและพัฒนาร่วมกันระหว่าง ไทย-ออสเตรเลีย ในอนาคตได้เป็นอย่างดี