“วรวัจน์” เปิดศูนย์รับเคลือบผ้าคุณสมบัตินาโน ให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยี – การตลาด นำร่องภาคเหนือจ.แพร่
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นำเทคโนโลยีสิ่งทอนาโนเพิ่มมูลค่าผ้าพื้นเมือง พร้อมดันภาคเอกชนแข่งขันในตลาดอาเซียน โดยเปิดศูนย์รับเคลือบผ้าคุณสมบัตินาโน 3 แห่ง ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยี – การตลาด นำร่องภาคเหนือ จังหวัดแพร่
เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2556 นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานในพิธีเปิดศูนย์รับเคลือบผ้าคุณสมบัตินาโน ณ ร้านบายศรี ตำบลร่องฟอง อำเภอเมืองแพร่ โดยได้ดำเนินการตามนโยบายยุทธศาสตร์ประเทศนำนาโนเทคโนโลยีมาใช้กับสิ่งทอของท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมและเพิ่มมูลค่าขยายโอกาสทางการค้าให้กับภูมิภาค และเตรียมความพร้อมรองรับการแข่งขันเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยมี นายอภิชาติ โตดิลกเวชช์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ นายสิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และนายศักดิ์จิระ เวียงเก่า เจ้าของร้านบายศรี ให้การต้อนรับ
ตามที่นายกรัฐมนตรีมีนโยบายส่งเสริมและเพิ่มมูลค่าสิ่งทอด้วยนาโน เทคโนโลยีเพื่อรองรับการแข่งขันเสรีการค้าในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนปี 2558 นั้น ต้องยอมรับว่าอุตสาหกรรมสิ่งทอของไทยมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศไทย และมีรายได้จากการส่งออกไม่ต่ำกว่าปีละ 120,000 ล้านบาท โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสิ่งทอพื้นเมือง ซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรม ยังมีมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 5,000 ล้านบาท ตนได้เห็นความสำคัญและสั่งการให้ศูนย์นาโนเทคฯ สวทช. ซี่งเป็นหน่วยงานวิจัยและพัฒนาด้านนาโนเทคโนโลยีของประเทศ ดำเนินการเพื่อยกระดับสิ่งทอไทยโดยเพิ่มคุณสมบัตินาโนเทคโนโลยีเข้าไปในเส้นใยผ้าทั้งในระดับหัตถอุตสาหกรรมและระดับอุตสาหกรรมสิ่งทอ เพื่อสร้างจุดเด่นให้ผ้าทอพื้นเมืองของไทยมีมูลค่าเพิ่มและเทียบเท่ากับสิ่งทอระดับสากล
“อุตสาหกรรมสิ่งทอนับเป็นจุดแข็งของประเทศไทยมายาวนาน เพราะเรามีศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี ความละเอียดอ่อน สวยงาม และวิจิตรมากที่สุดประเทศหนึ่งในแถบเอเชีย แต่ในระยะหลังหลายประเทศมีต้นทุนการผลิตและค่าแรงที่ต่ำกว่า เช่น จีน ลาว พม่า กัมพูชา ทั้งยังลอกเลียนแบบลายผ้าของเราทำให้ดูเหมือนๆ กันหมด จึงได้เกิดการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาผสมผสานกับศิลปวัฒนธรรมสิ่งทอให้มีคุณภาพที่เหนือกว่าประเทศอื่นๆ โดยใช้เทคโนโลยีนาโนในการเพิ่มคุณสมบัติให้กับสิ่งทอ อาทิ สะท้อนน้ำ นุ่มลื่น ไม่ยับง่าย มีกลิ่นหอม และยับยั้งแบคทีเรีย เป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้า ส่งผลให้ผู้ผลิตผ้าทอท้องถิ่นมีรายได้มากขึ้น” นายวรวัจน์ กล่าว
ทั้งนี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยศูนย์นาโนเทคฯ ได้เร่งนำความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้กับสิ่งทอไทย โดยในเบื้องต้นได้เปิดศูนย์ บริการรับเคลือบผ้าคุณสมบัตินาโนในส่วนกลางที่ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย กรุงเทพฯ และในส่วนภาคเหนือตอนบนที่จังหวัดแพร่ ซึ่งเป็นจังหวัดแรกในส่วนภูมิภาคที่มีการนำร่องจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการถ่าย ทอดเทคโนโลยีสิ่งทอนาโน โดยมีวิทยาลัยเทคนิคจังหวัดแพร่เป็นศูนย์ฯ ต้นแบบ ซึ่งพร้อมจะให้บริการในส่วนของการนำผ้าทอพื้นเมือง ทั้งผ้าฝ้าย ผ้าไหม ผ้าหม้อห้อม ของจังหวัดแพร่ มาเคลือบสารคุณสมบัตินาโน เพื่อให้ผ้ามีคุณสมบัติพิเศษ อาทิ ความนุ่มลื่น ไม่ยับง่าย มีกลิ่นหอม ไม่ซับน้ำ และยับยั้งแบคทีเรีย โดยมีนักวิจัยจากศูนย์นาโนเทคฯ และผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ถ่ายทอดเทคโนโลยี รวมทั้งยังเปิดศูนย์บริการ รับเคลือบผ้าคุณสมบัตินาโน จำนวน 3 แห่ง ในจังหวัดแพร่ ได้แก่ 1. ร้านบายศรี อ.เมือง 2. ศูนย์ผลิตภัณฑ์หม้อห้อมประยุกต์ ทุ่งโฮ้ง 3. ศูนย์ผ้าทอวัดสะแล่ง อ. ลอง เพื่อเป็นศูนย์บริการในการ รับผ้านาโนจากชาวบ้านไปนำส่งให้ศูนย์รับเคลือบผ้าต้นแบบที่วิทยาลัยเทคนิค แพร่ พร้อมกันนี้จะเป็นร้านผลิตภัณฑ์ต้นแบบนาโนของจังหวัดอีกด้วย ทั้งนี้ กระทรวงฯ มีแผนที่จะขยายการเปิดศูนย์รับเคลือบผ้าคุณสมบัตินาโนและร้านค้าผลิตภัณฑ์ ต้นแบบนาโนไปทั่วทุกภูมิภาคของประเทศต่อไป
“ต่อไป กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จะมีวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมประจำจังหวัดทุกจังหวัด ซึ่งคนกลุ่มนี้จะไปทำงานกับผู้ประกอบการ ส่วนราชการ และเกษตรกร เพื่อให้คนท้องถิ่นสามารถใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ได้อย่างง่ายและเป็นรูปธรรม เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” นายวรวัจน์กล่าว
นายอภิชาติ โตดิลกเวชช์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ กล่าวว่า ทางศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดศูนย์รับเคลือบผ้านาโนและร้านผลิตภัณฑ์ต้นแบบนาโนที่ร้านบายศรี จ.แพร่ โดยได้ดำเนินการตามนโยบายยุทธศาสตร์ประเทศ ด้วยการนำนาโนเทคโนโลยีมาใช้กับสิ่งทอของท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมและเพิ่มมูลค่าสินค้าให้กับภูมิภาค ทั้งยังช่วยอัพเกรดสิ่งทอไทยและขยายโอกาสทางการค้าในตลาดนานาชาติ รองรับการแข่งขันเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
ด้าน นายสิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคฯ เปิดเผยว่า นาโนเทคโนโลยีเป็นหนึ่งในเทคโนโลยี ที่จะจุดประกายดึงดูดให้เกิดความน่าสนใจ ทำให้เกิดฟังก์ชันใหม่ๆ ขึ้น เพื่อสร้างความหลากหลายให้กับผ้าไทย เช่น ผ้าม่าน เฟอร์นิเจอร์ หรือผ้าปูโต๊ะกันน้ำ เป็นต้น อย่างไรก็ดี นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัยก็ต้องเข้าใจในตลาดของกลุ่มหัตถอุตสาหกรรมผ้าไทยพื้นบ้าน ด้วยว่า คนซื้อผ้าไทยไม่ได้ซื้อเพราะว่าเป็นผ้านาโน แต่ซื้อเพราะว่าผ้ามีสีสวย ออกแบบอย่างพิถีพิถัน มีเนื้อสัมผัสที่ดี และมีจิตสำนึกที่อยากจะอนุรักษ์ผ้าไทย เป็นต้น ดังนั้นศูนย์นาโนเทค สวทช. ได้ตระหนักถึงความสำคัญดังกล่าว จึงได้แสวงหาพันธมิตร และสร้างความร่วมมือกับกลุ่มพันธมิตรต่างๆ เพื่อผลักดันให้เกิดการบูรณาการอย่างยั่งยืน ทั้งในเรื่องการออกแบบ การตัดเย็บการ พัฒนาวัสดุเส้นใย หรือการพัฒนาฟังก์ชันพิเศษเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ ในอนาคต อุตสาหกรรมสิ่งทอยังมีเรื่องของการรับรองฉลากสินค้านาโน ที่จะมีการเชิญชวนให้ผู้ประกอบการสิ่งทอนาโน นำผลิตภัณฑ์นาโนที่มีวัสดุนาโน หรือมีกระบวนการของนาโนเทคโนโลยีในการผลิต เพื่อเพิ่มคุณสมบัติการสะท้อนน้ำ หรือ ยับยั้งแบคทีเรีย มาขอรับรองฉลากนาโนคิว (NanoQ) ด้วย ซึ่งฉลากดังกล่าวจะรับรองโดยสมาคมนาโนเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคทั้งไทยและต่างชาติ ทำให้ผ้าไทยมีความแตกต่าง และสามารถยกระดับการแข่งขันกับนานาประเทศได้
///////////////////////////