นาโนเทค สวทช. จับมือ สมาคมนาโนฯและจุฬาฯ ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดประชุมวิชาการนานาชาตินาโนไทยแลนด์เพื่อผลักดันงานวิจัยเทคโนโลยีฟรอนเทียร์ด้านนาโนไปสู่การสร้างนวัตกรรมและการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์
เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2561 ณ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สวทช. ร่วมกับสมาคมนาโนเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงข่าวการจัดงานประชุมวิชาการนานาชาติด้านนาโนเทคโนโลยีของประเทศไทย ครั้งที่ 6 (NanoThailand 2018) ในหัวข้อ “From Frontier Research to Innovation and Commercialization” ที่จะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 12-14 ธันวาคม 2561 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการใช้นาโนเทคโนโลยีเพื่อเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม สามารถช่วยให้ประเทศสร้างรายได้จากการสร้างสรรค์นวัตกรรมสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน
ศาสตราจารย์ ดร.จำรัส ลิ้มตระกูล นายกสมาคมนาโนเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันสมาคมฯ มีบทบาทสำคัญ 2 ประการ คือ บทบาทในด้านวิชาการและบทบาทด้านสนับสนุนภาคอุตสาหกรรม ซึ่งในด้านวิชาการ สมาคมฯ ได้จัดงานการประชุมวิชาการและงานนิทรรศการแสดงความก้าวหน้าของผลงานวิจัยทางด้านนาโนเทคโนโลยีระดับนานาชาติ หรืองาน NanoThailand ทุกสองปี ร่วมกับมหาวิทยาลัยที่เป็นเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง โดยการจัดการประชุมฯในปีนี้ เป็นการจัดขึ้นครั้งที่ 6 ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สวทช.
รองศาสตราจารย์ ดร.ธวัชชัย ชรินพาณิชกุล รองคณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในปี 2561 นี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมาคมนาโนเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยและนาโนเทค สวทช. ร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดประชุมวิชาการ NanoThailand 2018 ระหว่างวันที่ 12-14 ธันวาคม 2561 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีให้กับนักวิจัยและนักวิชาการด้านนาโนเทคโนโลยีได้นำเสนอผลงานวิจัยและแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการ รวมทั้งการนำความรู้ด้านนาโนเทคโนโลยีที่ประยุกต์จากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสร้างความร่วมมือด้านการวิจัย ตลอดจนการแสดงสินค้าและบริการด้านนาโนเทคโนโลยี ซึ่งในปีนี้มีการรวบรวมผลงานที่น่าสนใจจากทั้งในและต่างประเทศกว่า 200 เรื่อง เน้นการบูรณาการนาโนเทคโนโลยีที่หลากหลาย เช่น ด้านการแพทย์และเภสัชศาสตร์ ด้านอาหารการเกษตรและสิ่งแวดล้อม ด้านเซ็นเซอร์และการตรวจวิเคราะห์ และด้านพลังงาน โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิมาร่วมให้ความรู้และแลกเปลี่ยนผลงานวิจัยร่วมกัน นอกจากนี้ยังมีการแสดงผลงานวิจัยและนิทรรศการจากภาครัฐและเอกชนรวมถึงการแสดงผลงานของศูนย์เครือข่ายการวิจัยและพัฒนาด้านนาโนเทคโนโลยีทั้ง 11 เครือข่าย
ด้าน ดร.วรรณี ฉินศิริกุล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยโดยกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มีแนวคิด “โมเดลเศรษฐกิจบีซีจี”(BCG) ซึ่งมาจากคำว่า “Bio-Circular-Green Economy” อันเป็นทิศทางที่ประเทศกำลังมุ่งไปเพื่อสนับสนุนหลักการ SDG (Sustainable Development Goal) ที่ประกาศโดยองค์การสหประชาชาติให้เป็นเป้าหมายสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน โมเดล BCG นี้จะช่วยเร่งรัดการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้ประสบความสำเร็จเร็วขึ้น จากการหลอมรวมแนวคิดด้านเศรษฐกิจฐานชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียวเข้าด้วยกัน สำหรับประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศที่มีความเข้มแข็งในด้านเศรษฐกิจฐานชีวภาพจากความหลากหลายทางชีวภาพและการเป็นแหล่ง
ผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญของโลก หากสามารถนำองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาพัฒนาต่อยอดและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิต จะเป็นการช่วยเพิ่มโอกาสให้ภาคเกษตรกรรมของประเทศ สร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผลผลิตดั้งเดิมถือได้ว่าเป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมการกระจายรายได้และความเจริญไปสู่ภาคส่วนต่าง ๆ อย่างทั่วถึง ซึ่งนาโนเทค สวทช. ก็ได้มีการดำเนินงานวิจัยและพัฒนาที่ตอบโจทย์ “บีซีจี” และได้นำมาจัดแสดงในการประชุมวิชาการในครั้งนี้ด้วย สำหรับบทบาทของนาโนเทคในงาน NanoThailand 2018 ในปีนี้ มีส่วนช่วยในการสนับสนุนงาน ในด้านต่าง ๆ เช่น การเชิญวิทยากรชั้นนำที่เป็นผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ การร่วมมือกับศูนย์เครือข่ายการวิจัยด้านนาโนเทคโนโลยีในการนำเสนอผลงานวิจัยเพื่อแสดงความก้าวหน้าด้านนาโนเทคโนโลยีของประเทศ นอกจากนี้ยังได้เชิญชวนภาคเอกชนที่สนใจงานด้านนาโนเทคโนโลยีมาร่วมในงาน พร้อมกันนี้เนื่องจากในปี 2561 เป็นปีครบรอบการก่อตั้งศูนย์ปีที่ 15 นาโนเทค จึงได้มีการจัดกิจกรรมควบคู่ไปกับงาน NanoThailand 2018 ในครั้งนี้ด้วย ซึ่งจะเป็นกิจกรรมพิเศษที่ได้รวบรวมผลงานภายใต้โครงการวิจัยและพัฒนา การดำเนินงานโครงการต่าง ๆ ทั้งในเชิงของผลงานด้านการวิจัย การพัฒนากำลังคน และความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรที่ได้คัดสรรมาแล้วเป็นจำนวนทั้งสิ้น 15 โครงการ ภายใต้ชื่อ “โครงการนาโนเทค 15 ปี 15 Best Things” โดยจัดแสดงในรูปแบบของนิทรรศการแสดงผลงาน อีกทั้งยังมีกิจกรรมสัมมนาหัวข้อพิเศษจากภาคเอกชนชั้นนำ รวมไปถึงการเปิดห้องปฏิบัติการวิจัยของนาโนเทคให้เข้าเยี่ยมชมอีกด้วย
นอกจากการแถลงข่าวจัดงานประชุมวิชาการฯและกิจกรรมพิเศษแล้ว ภายในงานแถลงข่าวฯยังมีการจัดแสดงผลงานวิจัยที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อตอบโจทย์ในกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้แก่ ทีมวิจัยจากนาโนเทค สวทช. นำเสนอการพัฒนาเส้นใยสำหรับสิ่งทอจากพอลิเมอร์ที่ย่อยสลายได้ซึ่งเป็นงานวิจัยระหว่างนาโนเทคและบริษัท พีทีที เอ็มซีซี ไบโอเคม จำกัด เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นรูปสิ่งทอจากเม็ด Bio PBS ซึ่งเป็นพลาสติกที่ย่อยสลายได้ในธรรมชาติและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยีไมโครนีดเดิ้ลเซ็นเซอร์เพื่อการตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์ ศูนย์เครือข่ายการวิจัยด้านนาโนเทคโนโลยี-จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำเสนอแถบตรวจวัดชนิดของไออนโลหะด้วยเทคนิคฟลูออเรสเซนต์ นวัตกรรมเม็ดบีดกักเก็บจุลินทรีย์และสมุนไพรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการปลูกพืชและผลผลิตทางการเกษตร แคปซูลบรรจุน้ำมันหอมระเหยที่หุ้มด้วยเปลือกจากสารสกัดสาหร่ายสีน้ำตาล เทคโนโลยีการกรองด้วยเมมเบรนสำหรับการผลิตน้ำประปาและการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ และเจลไบโอโซลลูโลสจากแบคทีเรียที่สามารถพัฒนาให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง
สำหรับการจัดประชุมวิชาการนานาชาติด้านนาโนเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 6 นี้ จะแสดงให้เห็นถึงศักยภาพและขีดความสามารถในเชิงการวิจัยและพัฒนาทางด้านนาโนเทคโนโลยีของประเทศ จากการร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัย สมาคมนาโนเทคโนโลยีฯ รวมไปถึงนาโนเทค สวทช. ทั้งนี้ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการและผลงานวิจัยและสร้างโอกาสให้เกิดความร่วมมือทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ ซึ่งผลที่ได้จากการประชุมในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วนในการนำความรู้ด้านนาโนเทคโนโลยีไปประยุกต์ใช้เพื่อร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรมและนำไปสู่การพัฒนาประเทศด้วย วทน. สอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของประเทศต่อไป
ติดตามรายละเอียดการจัดประชุมนาโนไทยแลนด์ครั้งที่ 6 เพิ่มเติมได้ที่ www.nano-thailand.com