ศน. ในห้วงวิกฤต COVID-19: การเปลี่ยนแปลง การปรับตัว และ NANOTEC Spirit

ในช่วงหลายเดือนมานี้ ตั้งแต่มีเหตุการณ์ระบาดของโรค COVID-19 ทุกคนคงทราบว่า เรามีเวลาปรับตัวไม่มากนัก ที่ผ่านมา ทุกฝ่ายใน ศน. ต่างหารือแนวทางการเข้าไปมีส่วนร่วมเพื่อช่วยแก้ปัญหาอันเร่งด่วนนี้ ปัจจุบัน นาโนเทค สวทช. มีการปรับแผนการทำงานเพื่อรับมือและฟื้นฟูสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 (COVID-19) NANOTEC e-Newsletter ฉบับนี้ เราจะมาคุยกับ ดร.วรรณี ฉินศิริกุล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (ศน.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ว่า ศน. ในช่วงเวลานี้ วิกฤตนี้ เราจะเดินไปในทิศทางไหนต่อไป

 

ถาม:    สวัสดีค่ะ พี่ฉิน เชื่อว่าหลายคนกำลังสงสัยว่า โควิด-19 ที่เปลี่ยนวิถีชีวิต วิถีการทำงานของคนทั้งโลก สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับ ศน. มากน้อยแค่ไหน และเรารับมืออย่างไรบ้าง

ตอบ:    สวัสดีค่ะ ในสถานการณ์วิกฤต COVID-19 นี้ เรา ศน. ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องร่วมเผชิญ สิ่งที่เกิดตามมาก็คือ “การปรับตัว” โดยเราปรับตามนโยบายขององค์กรที่สอดคล้องไปกับนโยบายของประเทศ พี่ขอบคุณพวกเราชาว ศน. ที่เข้าใจ ให้ความร่วมมือ และเสนอแนวคิด วิธีการทำงาน การปรับแผนงาน ทั้งการ Work from Home หรือการใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือ ทำให้เราสามารถทำงานได้โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของบุคลากร การรักษาระยะห่างทางสังคมหรือ Social Distancing โดยยังสามารถร่วมกันทำงานตามหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

          สิ่งที่เราร่วมมือช่วยกันคิด ช่วยกันทำทั้งสายวิจัยและสายสนับสนุนก็เกิดเป็นโครงการเฉพาะกิจจากฐานความรู้และความเข้มแข็งที่ทีมวิจัยมีอยู่ เป็น 7 งานวิจัย งานทั้งเจ็ดเรื่องนี้เกิดจากความตั้งใจ ความพยายาม และความมุ่งมั่น พี่จึงเรียกทุกคนผู้ร่วมสร้างงานเหล่านี้แบบสั้นๆ ว่า “ทีมนาโน Hero ผู้พัฒนา”

งานทั้ง 7 เรื่องนี้ ก็คือ

    1. ชุดตรวจหาเชื้อในกลุ่มโคโรนาไวรัสแบบรวดเร็วเพื่อการคัดกรองเบื้องต้น
    2. แผ่นกรองและหน้ากากอนามัยสำหรับการป้องกันฝุ่น PM 2.5 แบคทีเรียและไวรัส
    3. ผลิตภัณฑ์ยับยั้งเชื้อจุลชีพทดแทนการใช้เอทานอล (ethanol)
    4. การพัฒนาเทคโนโลยีระบบนำส่งเพื่อเสริมประสิทธิภาพการนำส่ง nucleic acid vaccine (DNA/mRNA)
    5. สเปรย์ฉีดพ่นพื้นผิวกันน้ำและต้านเชื้อโรค
    6. ระบบ AI สำหรับช่วยคัดกรองภาวะปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จากภาพถ่าย x-ray
    7. หมวกแรงดันลบ Negative Pressure Helmet

ซึ่งในรายละเอียดแต่ละโครงการ เราจะได้เห็นและอ่านใน e-Newsletter ฉบับนี้ค่ะ

         สิ่งสำคัญที่สะท้อนให้เราได้เรียนรู้ในช่วงวิกฤต คือ คิด ทำอย่างไรให้สำเร็จ ใช้ได้ทันการ/ทันเวลา เพราะ โจทย์เกิดขึ้นแบบที่เราไม่เคยเห็นหรือรู้มาก่อน จึงต้องหากุญแจที่จะทำงานที่มีคุณภาพตอบโจทย์ได้ทันกับความจำเป็นที่เร่งด่วนและนำงานของเราไปสู่ผู้ผลิตและผู้ใช้ เราพยายามทำงานให้ไปใช้ได้เร็ว (ซึ่งเยี่ยมมาก) แต่สำหรับงานพัฒนาที่เป็นฐานสำคัญเพื่ออนาคต แม้อาจไม่เสร็จในเร็ววัน เราก็ทำ เราจึงหันมาช่วยกันมองว่า ยังมีจิ๊กซอว์ที่ขาดหายไปตรงไหนบ้างที่จะช่วยให้งานสำเร็จเร็วขึ้น เพราะงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับชีวิตคน การจะต่อยอดไปสู่การใช้ประโยชน์ได้จริง ไม่ใช่แค่ทำให้เสร็จแล้วนำไปใช้ได้เลย แต่ต้องผ่านการทดสอบ ผ่านมาตรฐาน เราจึงควรทำงานกับพันธมิตรที่สำคัญตั้งแต่ต้นทางถึงการนำไปใช้ เพื่อร่วมมือกันสร้างสรรค์นวัตกรรมที่มีคุณค่า และเกิดประโยชน์ได้มากที่สุด

          ขณะเดียวกัน ในองค์กรฯ ก็ต้องวางสมดุลของทรัพยากรงานวิจัยพัฒนา เพราะทั้ง COVID-19 ที่จะยังอยู่กับเราไปอีก ในขณะที่ประเทศก็ยังเผชิญกับอีกหลายเรื่อง เราจึงต้องทำงาน 2 แทรคขนานกันไป คือ 1) งานด้านการรับมือวิกฤต COVID-19 และ 2) งานด้านการฟื้นฟูเศรษฐกิจก็เป็นสิ่งจำเป็น

           ดังนั้น ในอีกมุมหนึ่งพวกเราก็ยังทำงานตอบโจทย์ความต้องการของประเทศในด้านอื่นๆ ไปพร้อมๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ภัยแล้ง พลังงาน การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ดังจะเห็นได้จากการที่นักวิจัยของ ศน. ส่งข้อเสนอโครงการอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบโจทย์สำคัญๆ ของประเทศและเราก็ได้รับทุนจากแหล่งทุนภายนอกอย่างต่อเนื่องเช่นกัน รวมทั้งทุนพัฒนาบัณฑิตคุณภาพสูงร่วมกับมหาวิทยาลัยต่างๆ

          พี่จึงขอขอบคุณและอยากสะท้อนความภาคภูมิใจว่า ในสภาวะวิกฤตนี้ ทั้งทีมวิจัยและเพื่อนๆ พนักงานทุกสายงานช่วยกันทำงานอย่างเต็มที่ ซึ่งเป็นอีกก้าวหนึ่งในการเดินหน้าด้วย NANOTEC Spirit ที่ผสานรวม Nanovation และ Value Co-Creation เข้าด้วยกันอย่างชัดเจน

ถาม:    นอกจากฝั่งวิจัยแล้ว ในส่วนอื่นๆ เปลี่ยนแปลงหรือไหม อย่างไรคะ

ตอบ:    การเปลี่ยนแปลงหรือปรับวิธีการทำงานเกิดขึ้นในทุกส่วนค่ะ ตัวอย่างที่ชัดเจน คือ ทุกฝ่าย/งาน จัดทำแผน BCP ส่วนของศูนย์ฯ และ ส่วนกลางสวทช. มีมาตรการรับมือ ป้องกัน เฝ้าระวัง COVID-19 ที่ Update ร่วมกันทุกสัปดาห์ ทั้งด้านการดูแลบุคลากร ด้านสถานที่ พื้นที่ทำงาน (การคัดกรองตรวจวัดอุณหภูมิ การทำความสะอาดพื้นที่ที่ถี่ขึ้น การจัดการขยะปนเปื้อน)  ทุกสัปดาห์ผู้บริหาร, RGDs และ ผอ.ฝ่าย มีการประชุมเพื่อหารือสถานการณ์ และบริหารจัดการหรือแก้ปัญหาที่สำคัญ เช่น การดูแลบุคลากรที่ปฏิบัติงานในต่างประเทศ การเดินทางกลับไทย ความเป็นอยู่ ความปลอดภัยของพนักงานที่จำเป็นต้องพักค้างคืน ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 10 คน ที่ห้องพักใน Tower D หรือ การจัดโต๊ะสำหรับทานอาหารที่เหมาะสมและเพียงพอตามมาตรการเว้นระยะห่าง เป็นต้น

           นอกจากนี้ายใต้วิกฤต เรามีเวลาและโอกาสในการทบทวน เพื่อปรับปรุง จัดเรียงลำดับความสำคัญของสิ่งที่ต้องเร่งทำ การวางกลยุทธ์เชิงรุก เช่น การยกระดับความร่วมมือกับพันธมิตรสำคัญ หรือ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อให้งานวิจัยตอบโจทย์ COVID-19 ของ ศน. สำเร็จไปถึงผู้ใช้ได้โดยไม่ต้องสะดุดที่ปลายทาง นี่คือหนึ่งจิ๊กซอว์ที่เราหยิบขึ้นมาเร่งทำตั้งแต่ต้น….ซึ่งเป็นนโยบายที่จะรองรับโครงการทั้งเจ็ดให้เป็นโครงการนำร่องฯ นอกจากอย. ในสภาพความคับขันหรือช่วงการระบาดอย่างหนัก ก็เป็นโอกาสให้เกิดการทำงานร่วมกันใกล้ชิดในหลายๆ งานร่วมกับศูนย์แห่งชาติและหน่วยงานอื่นๆ ของ สวทช. รวมทั้งหน่วยงานภายนอก สวทช. ผ่านเครือข่ายการวิจัยและพัฒนาด้านนาโนเทคโนโลยี (RNN) หรือพันธมิตรใหม่ ได้แก่ โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ด้วย

          ในขณะเดียวกัน ภายใน ศน. เราก็ร่วมกันทบทวน รวมถึงการลด/เลิก ในสิ่งที่ไม่จำเป็นด้วยวิถีการทำงานแบบใหม่ที่คงไว้ซึ่งประสิทธิภาพ และตอบภารกิจของเรา

ถาม:    หากสถานการณ์ COVID-19 ดีขึ้น ศน. เราจะเดินไปในทิศทางไหนต่อคะ

ตอบ:    สิ่งที่จะตามมาจากเหตุการณ์นี้ คือ การปรับแผนการทำงานของ ศน. ให้สอดคล้องกับทั้ง แผนงาน สวทช. และบริบทที่จะเปลี่ยนแปลงไปหลังสถานการณ์การระบาด (Post COVID-19) หรือที่เรียกกันว่า New normal ค่ะ โดยเราอาจต้องปรับตัวทั้งในลักษณะของระบบการทำงาน เช่น การใช้เทคโนโลยีเชื่อมต่อการสื่อสารมากขึ้น (จัดประชุมผ่านช่องทางออนไลน์) การนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อลดเวลาหรือเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและการให้บริการ

          นอกเหนือจากนั้น ก็คือ Next Normal ซึ่งเป็นความปกติก้าวต่อไปในวิถีใหม่ที่ไม่เหมือนเดิม ในเชิง “การปฏิบัติหรือลงมือทำ” ทั้งด้านความเป็นอยู่ สังคมและธุรกิจ….พี่มองเห็นวิถีใหม่ที่สร้างสรรค์ใน 3 มิติของ ศน.ที่มีผลบวกอย่างมากต่อการวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมสำหรับ Next Normal ได้แก่ การโฟกัสอย่างมุ่งมั่น (Focus), กล้าคิด กล้าทำ (Courage) และผลที่เหนือขีดจำกัด (Beyond) จากวิกฤตนี้ที่ทำให้เราทุกทีมรู้ว่าจะดึงศักยภาพของทุกคนทุกฝ่ายมารวมกัน เกิดเป็นเครื่องมือที่มีพลังและคุณค่า ด้วยพลังองค์ความรู้ความสามารถ และพลัง Passion ที่อยู่ข้างในได้อย่างไร, การกล้าคิด กล้าทำหลายๆงานจนเกิดเป็น ’โครงการวิจัยและโครงการน้ำใจ’ ใหม่ๆออกมาให้เห็นได้ในระยะเวลาอันสั้น และ สิ่งที่เริ่มทำเหล่านั้น ทำได้เหนือกว่าสิ่งที่คิดไว้ในตอนแรก  ทั้งหมดนี้ คือ คุณลักษณะที่สำคัญเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต เพราะวันหน้า ปีหน้า หรือปีถัดๆไปจากนี้ เราไม่รู้เลยว่าอาจจะมีปัญหาอะไรใหม่เกิดขึ้นมาอีก มีโรคระบาดใหม่ หรือโรคเดิมที่ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น หรือแม้แต่วิกฤตอื่นๆ

          แต่วันนี้ เราเตรียมคนของเราให้พร้อมสู้หรือรับมือกับสิ่งที่ไม่ Normal โดยเป็นนักสู้ที่ติดปีกพร้อมจะบินให้สูงขึ้น มองเห็นกว้างขึ้น รับมือกับความไม่แน่นอนได้อย่างสร้างสรรค์ และแน่นอนว่า ไม่เพียงแค่ทีมวิจัยหรือทีมสนับสนุน แต่เป็นทีม NANOTEC ที่ลงมือทำงานด้วยกัน เป็นทีมเดียวกัน ด้วยจุดมุ่งหมายเดียวกัน

          ณ จุดนี้ พี่ขอให้เราทุกคนภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการร่วมแก้ไขปัญหาให้กับประเทศ ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม การทำงานอย่างแข็งขันเพื่อส่งมอบงานที่มีคุณภาพในภาวะเช่นนี้ เป็นโอกาสดีที่จะแสดงให้ทุกคนได้เห็นถึงศักยภาพและ Spirit ของทีมนาโนเทค และเห็นถึงความสำคัญของการมีอยู่ของเราอย่างเป็นที่ประจักษ์ที่ได้ดำเนินตาม Core Value –“Nation first” ในการทำงานเพื่อประเทศและส่วนรวมเป็นที่ตั้ง

ถาม:    สุดท้ายนี้ พี่ฉินอยากบอกอะไรให้กับคนใน ศน. ไหมคะ

ตอบ:    ท้ายนี้ แม้ว่าจากการคาดการณ์สถานการณ์ของผู้เชี่ยวชาญหลายๆท่าน ที่กล่าวว่าเราอาจจะต้องอยู่กับ COVID-19 ไปอีกสักระยะหนึ่ง ส่วนจะใช้เวลานานสักเท่าไรนั้นคงขึ้นกับปัจจัยหลายด้าน หนึ่งในนั้นคืองานวิจัยพัฒนาที่เร่งระดมกำลังกันทั่วโลกด้านวัคซีน การวินิจฉัยและรักษา สิ่งที่สำคัญในช่วงเวลานี้สำหรับทุกหน่วยงานของประเทศ ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ คือความร่วมมือกันเพื่อรับมือจัดการอย่างตระหนักรู้และไม่ประมาท และความมีน้ำใจ ช่วยเหลือกันและสรรสร้างนวัตกรรมเพื่อประเทศของเรา ซึ่งเป็นความน่าชื่นชมที่เกิดขึ้นแล้วที่นานาชาติได้หันมามองประเทศไทย

            พี่เชื่อว่า ช่วงเวลานี้คือเวลาสำคัญที่นาโนเทคจะได้แสดง spirit ของการร่วมสรรสร้างนวัตกรรมจากฐานความรู้ที่เรามี เพื่อช่วยคน ช่วยชีวิตคนและช่วยประเทศ จากทุกๆความคิดและแรงบันดาลใจ พี่ขอขอบคุณ “นาโน Hero ผู้สร้าง ผู้พัฒนา” ทุกคนด้วยใจจริงอีกครั้ง รวมทั้งผู้ที่อยู่เบื้องหลังทุกๆคนที่อาจไม่ได้เอ่ยถึง ทั้งงานเร่งด่วนรับมือ COVID-19 ณ วันนี้และงานที่จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้กลับมาได้ในเร็ววันในอนาคต ขอให้ทุกคนทราบว่า พี่และผู้บริหารทุกคนรู้สึกภูมิใจใน Spirit ของเราทุกคน ร่วมกันเป็นกำลังใจซึ่งกันและกัน และทำงานอย่างต่อเนื่องเพื่อก้าวข้ามสถานการณ์ครั้งนี้…เราเติบโตขึ้นไปอีกขั้นจากการรวมพลังเพื่อรับมือกับทุกความท้าทายที่มีอยู่ และสามารถบอกอย่างภาคภูมิใจกับคนรอบข้างว่า

“เรา คือบุคลากรของ ศน. สวทช.”

 

พี่ขอให้เราทุกคนรวมถึงครอบครัวมีสุขภาพที่แข็งแรงและปลอดภัย