สเปรย์กระชายดำ
วิจัยและพัฒนาโดย
ดร.อุดม อัศวาภิรมย์ และคณะ
ที่มาและความสำคัญที่นำมาสู่การพัฒนา
กระชายดำเป็นพืชสมุนไพร ที่สามารถพบได้มากในประเทศไทยเช่น เพชรบูรณ์ กาญจนบุรี พิษณุโลก และจังหวัดอื่นๆ ทางภาคเหนือ มีรายงานพบว่ากระชายดำมีสรรพคุณตามตำรายาไทย ซึ่งจากการศึกษาเบื้องต้นโดยทีมวิจัยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ พบว่าสารสกัดจากเหง้ากระชายดำมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อทางชีวภาพที่เป็นสาเหตุของโรคทางผิวหนังที่ก่อให้เกิดกลิ่นไม่พึงประสงค์ได้ เช่น Micrococcus sedentarius Trichophyton mentagrophytes และ Trichophyton rubrum ทีมวิจัยจึงได้นำสารสกัดกระชายดำมาพัฒนาเป็นสูตรตำรับผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นในรูปแบบสเปรย์นาโนอิมัลชัน ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในผลิตภัณฑ์ยับยั้งเชื้อทางชีวภาพที่เป็นสาเหตุของโรคทางผิวหนังที่ก่อให้เกิดกลิ่นไม่พึงประสงค์ได้ผลงานสเปรย์นาโนอิมัลชั่นดังกล่าวเหมาะสำหรับใช้ดับกลิ่นบริเวณที่เกิดการสะสมของแบคทีเรีย เช่น เท้า รักแร้ หรือบริเวณในร่มผ้า ซึ่งสูตรตำรับได้ผ่านการทดสอบแล้วพบว่าไม่ก่อให้เกิดการระคายเคืองและปลอดภัยต่อผู้บริโภค มีกระบวนการผลิตที่ทำได้โดยง่าย สามารถใช้อุปกรณ์เครื่องจักรทั่วไปในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางได้
จุดเด่นของผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยี
-
มีประสิทธิภาพในการยับยั้งการเจริญเติบโตเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา (Antimicrobial activity) จึงช่วยลดกลิ่นไม่พึงประสงค์ที่เกิดจากการสะสมของเชื้อราและแบคทีเรียได้
-
เป็นผลิตภัณฑ์จากสารสกัดจากธรรมชาติ ไม่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนัง
-
สูตรตำรับอยู่ในรูปแบบนาโนอิมัลชั่น ที่ช่วยเพิ่มการกระจายตัวและความคงตัวของสารสกัดในสูตรตำรับ
-
ขั้นตอนการผลิตสามารถทำได้โดยอุปกรณ์เครื่องจัดทั่วไปในระดับอุตสาหกรรม
ระดับความพร้อมเทคโนโลยี
ระดับพร้อมถ่ายทอด (Transfer) หมายถึง เทคโนโลยีที่มีความพร้อมในระดับสามารถถ่ายทอดสู่ผู้ใช้ ซึ่งเทคโนโลยีสามารถทำงานได้ตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้ หรือต้องการทดสอบร่วมกับผู้ใช้หรือสถานที่ใช้จริงก่อนผลิตเชิงพาณิชย์