ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) นำโดย ดร.วรรณี ฉินศิริกุล ผู้อำนวยการ พร้อมด้วย ดร.ณัฏฐพร พิมพะ หัวหน้าทีมวิจัยฯ และดร.สุดคนึง สิงห์โต วิศวกรอาวุโส จากทีมวิจัยนาโนเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม กลุ่มวิจัยวัสดุผสมและการเคลือบนาโน นำผลงานวิจัยทางด้านเทคโนโลยีการกรองเพื่อพัฒนาคุณภาพน้ำและแก้ปัญหาภาวะน้ำแล้ง นำเสนอ ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและรับฟังปัญหาในพื้นที่จังหวัดลำปางตามนโยบายขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง จังหวัดลำปาง เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2563
โดยช่วงเช้า ดร.วรรณีฯ ได้เข้าร่วมประชุม ณ อาคารหอประชุมจังหวัดลําปาง เพื่อรับฟังสรุปผลการดำเนินงาน ปัญหาอุปสรรคระดับพื้นที่ และผลสรุปในการนำวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในพื้นที่ โดย ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการฯ เป็นประธานในการประชุม พร้อมด้วยนายสุรพล บุรินทราพันธุ์ ว่าที่ พ.ต.อดิศักดิ์ น้อยสุวรรณ นายจำลักษ์ กันเพ็ชร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง นำทีมคณะผู้บริหารหน่วยงานองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษาในพื้นที่จังหวัดลำปางเข้าร่วมประชุม
ผลงานวิจัยที่นาโนเทคไปร่วมนำเสนอครั้งนี้ คือ เทคโนโลยีด้านระบบกรองน้ำที่หลากหลาย สามารถตอบโจทย์ความต้องการในพื้นที่ของจังหวัดลำปาง และจังหวัดใกล้เคียงที่มีปัญหาหรือความต้องการคล้ายคลึงกัน โดย นาโนเทคได้ร่วมมือกับพันธมิตรหลักคือมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปางเข้าร่วมดำเนินการในระดับพื้นที่ ผลงานวิจัยที่นำเสนอประกอบด้วย
การพัฒนาไส้กรองน้ำเซรามิกส์ ด้วยวัตถุดิบที่หาได้ง่ายในพื้นที่จังหวัดลำปางและภาคเหนือ เช่น ดินขาวลำปาง แร่ดินเบา (หรือแร่ไดอะทอไมท์) ใช้กระบวนการทำภายในโรงงานเซรามิกส์ที่ตั้งอยู่หลากหลายในพื้นที่ของลำปาง
การพัฒนาไส้กรองน้ำ Ultrafiltration มีคุณสมบัติที่น่าสนใจคือ มีรูพรุนขนาดประมาณ 3-10 นาโนเมตร สามารถล้างย้อนได้เพื่อลดการอุดตัน กรองโลหะหนักได้และเคลือบพื้นผิวเพื่อปรับขนาดของรูพรุนให้อยู่ในระดับ Nanofiltration รวมทั้งการเคลือบสำหรับยับยั้งแบคทีเรียและไบโอฟิล์ม
นอกจากนี้ ศน. ได้นำเสนอเทคโนโลยีการพัฒนาวัสดุกรองจากวัสดุเหลือทิ้ง นาโนเทคโนโลยีสำหรับกำจัดสารหนู และเทคโนโลยีสำหรับเก็บเกี่ยวน้ำจากอากาศ (Water Harvesting) รวมทั้งงานวิจัยที่พัฒนาเทคโนโลยีสำหรับกำจัดฟลูออไรด์ด้วยถ่านกระดูก ร่วมกับภาควิชาสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ และมีการทดสอบการใช้งานจริง ณ โรงเรียนบ้านใหม่ในฝัน ต.สะเนียง อ.เมือง จ.น่าน
ศ.ดร.เอนก ให้ความสนใจกับงานวิจัยดังกล่าว มีการสอบถามถึงความเป็นไปได้ แนวทางการดำเนินงาน และงบประมาณ เพื่อการดำเนินการพัฒนาโครงการเพื่อต่อยอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ไปสู่การใช้ประโยชน์ ตามนโยบายของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ซึ่งจะเน้นการขับเคลื่อนงานวิจัยและพัฒนา ที่จะนำไปสู่นวัตกรรมที่เป็น Demand-side และบูรณาการงาน 3 ศาสตร์ ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ ดำเนินการเพื่อวางแนวทางในการแก้ปัญหาและพัฒนาจังหวัดในทุกมิติ เพื่อให้นำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนเป็นสำคัญ