นักวิจัยนาโนเทคติดอันดับ “Top 2 Percent Scientist of the World” ด้านเคมี
นับเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจ เมื่อ ดร. วรายุทธ สะโจมแสง จากนาโนเทค สวทช. ได้รับการจัดอันดับนักวิจัย Top 2 Percent Scientist of the world (Chemistry: Pharmacology & Pharmacy and Polymer) รายงานโดยทีมวิจัยนำโดย Professor John P.A. Ioannidis จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา จากนักวิทยาศาสตร์ทุกสาขาทั่วโลกกว่า 7 ล้านคน ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร PLOS Biology ฉบับเดือน ตุลาคม 2563
ดร.วรายุทธ สะโจมแสง นักวิจัยจากทีมวิจัยนาโนเทคโนโลยีเพื่อสิ่งเเวดล้อม กลุ่มวิจัยวัสดุผสมและการเคลือบนาโน ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) เป็น 1 ในนักวิจัย Top 2 Percent Scientist of the world (Top 2% in Chemistry: Pharmacology & Pharmacy and Polymer) ทุกสาขารวม 159,683 คน ที่คัดสรรมาจากนักวิจัยทั่วโลกกว่า 7 ล้านคน โดยผลงานเด่นที่ถูกนำไปอ้างอิงหลักๆ คือ งานวิจัยเรื่อง “ไคโตซานและอนุภาคนาโนของไคโตซาน”ผลงานวิจัยนี้ ได้ตีพิมพ์ตั้งแต่การสกัดไคตินจากวัตถุดิบธรรมชาติภายในประเทศ เพื่อนำมาเตรียมเป็นไคโตซาน รวมถึงการสังเคราะห์และเตรียมไคโตซานและอนุพันธ์ไคโตซานชนิดใหม่ๆ ให้อยู่ในรูปของอนุภาคขนาดนาโนเมตรด้วยเทคนิคต่างๆเพื่อนำไปใช้ประโยชน์เป็นวัสดุนาโน
โดยเทคนิคของการเขียนผลงานวิจัยแล้วให้มีคนอ้างอิงผลงานวิจัยของเราเยอะๆ มีหลายเทคนิคแต่เทคนิคส่วนตัวที่ใช้อาศัยหลักคิดง่ายๆ ปกติเวลาเราเขียนผลงานวิจัยเราต้องอ้างอิงผลงานวิจัยคนอื่นๆอยู่แล้ว ก็ให้ใช้หลักคิดนั้นว่าทำไมเราต้องอ้างอิงเหตุผลหรือผลการทดลองเขา เช่นเดียวกันเราจะต้องเขียนให้นักวิจัยทั่วโลกมาอ้างอิงผลงานของเรา คือการเขียนอธิบายเหตุผลใหม่ที่ยังไม่มีใครนำเสนอหรือเสนอแนวคิดที่ได้จากผลการทดลองให้มีความแตกต่างจากผลงานวิจัยที่มีรายงานมาก่อนเพื่อทำให้คนมาทำงานวิจัยหลังเรานำไปใช้อ้างอิงต่อ อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยอื่นๆอีกที่ส่งผลให้ผลงานวิจัยเราถูกอ้างอิงสูง
ปัจจุบัน ผลงานวิจัยนี้ ที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติมากว่า 80 เรื่อง มีสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตรมากกว่า 25 เรื่อง ตลอดจนได้รับรางวัลระดับชาติและนานาชาติจากผลงานวิจัยในด้านวิทยาศาสตร์ ได้แก่ TWAS Prize for Young Scientists in Thailand in the field of Chemistry, Nagai Award Thailand 2015, Wiley-CST Award Contributions to Green Chemistry 2014, Rising Star Researcher Award, Rising Suns in Asia Award และ Awards and Research Grants of Thailand Toray Science Foundation (TTSF) เป็นต้น
ดร.วรายุทธ สะโจมแสง จบวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาเคมี จากมหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเคมีอินทรีย์ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และจบปริญญาดุษฎีบัณฑิต สาขาเคมีอินทรีย์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี 2550 โดยได้รับทุนโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ในระหว่างศึกษาปริญญาเอกได้มีโอกาสไปทำวิจัยที่ Department of Chemistry, Louisiana State University ประเทศสหรัฐอเมริกา งานวิจัยที่ทำในขณะนั้นเป็นการสังเคราะห์และทดสอบสมบัติการยับยั้งเชื้อแบคทีเรียของอนุพันธ์ควอเทอร์นารีแอมโมเนียมไคโตซานชนิดใหม่ซึ่งเป็นอนุพันธ์ไคโตซานที่ละลายน้ำได้
หลังจากจบการศึกษาก็เข้าทำงานเป็นนักวิจัย ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2550 ตอนนั้น ตัวเขายังไม่รู้ว่า งานวิจัยทางด้านพอลิเมอร์สามารถมาทำเป็นอนุภาคนาโนหรือนำมาใช้ทางด้านนาโนเทคโนโลยีได้อย่างไร เนื่องจากเรื่องนาโนเทคโนโลยีในขณะนั้นเป็นเรื่องใหม่มาก และไม่ได้อยู่ในความสนใจเท่าไหร่นัก
ความคิดแรกในตอนนั้นคือ ต่อยอดงานวิจัยเดิมโดยอาศัยความเชี่ยวชาญด้านปฏิกิริยาทางเคมี ซึ่งสามารถเปลี่ยนหมู่ฟังก์ชันของสารอินทรีย์และพอลิเมอร์ได้ตามความต้องการ งานวิจัยของเขาจึงเน้นการดัดแปรโครงสร้างทางเคมีของพอลิเมอร์เพื่อใช้เป็นสารยับยั้งเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา การสังเคราะห์อนุพันธ์ใหม่ๆของไคโตซานเพื่อใช้เป็นวัสดุนำส่งสารสำคัญต่างๆ ต่อมาได้พัฒนากระบวนการเตรียมอนุภาคนาโนพอลิเมอร์และไมเซลล์ด้วยวิธีไอออนิกครอสลิงกิ้ง (ionic crosslinking method) และวิธีเซลฟ์แอสเซมบลี (self-assembly method) เพื่อใช้เป็นวัสดุนำส่งขนาดนาโนเมตร ทำให้งานวิจัยสามารถต่อยอดไปได้มากมายหลากหลายด้าน ได้แก่ ด้านอาหารและการเกษตร การเคลือบเส้นใยและสิ่งทอ ด้านการแพทย์และเภสัชกรรม ด้านเครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์สารฆ่าเชื้อและผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด เป็นต้น
ผลงานวิจัยในช่วง 5 ปีแรก ดร.วรายุทธชี้ว่า มุ่งเน้นไปที่การจดสิทธิบัตรและตีพิมพ์ในวารสารต่างประเทศ โดยงานวิจัยที่ทำให้เป็นที่รู้จักคือ อนุภาคนาโนไคโตซาน ทำให้ในปี พ.ศ. 2554 ได้รับทุน Postdoctoral Fellowship ที่ Korea Research Institute of Bioscience and Biotechnology (KRIBB), Daejeon ประเทศเกาหลีใต้ภายใต้ the program of the National Research Foundation of Korea (NRF) หลังจากกลับมาก็พัฒนางานวิจัยอย่างต่อเนื่อง จนช่วงปีที่ 6 ของการทำงานเริ่มมองเห็นว่า ทิศทางและแนวโน้มเทคโนโลยีใหม่ๆที่เปลี่ยนโลกมาแน่นอนในช่วงเวลาทุกๆ 5-6 ปี
“ตอนนั้นเราเริ่มรู้ว่า ถ้าเราไม่ปรับแนวคิดและทิศทางงานวิจัยที่ทำอยู่น่าจะไม่ทันต่อเทคโนโลยีที่เข้ามา จึงทำให้สนใจด้านสิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยีสีเขียวโดยเน้นระบบงานวิจัยให้เสร็จสิ้นถึงผู้ใช้งาน และเป็นต้นแบบที่สามารถเห็นการใช้งานได้จริงและนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์มากขึ้น เช่น การพัฒนาเมมเบรนสุดท้ายจะต้องเป็นระบบเมมเบรนเพื่อใช้กรองน้ำ การพัฒนาสารฆ่าเชื้อสุดท้ายจะต้องเป็นสูตรสารฆ่าเชื้อที่สามารถนำไปใช้งานได้ เป็นต้น” ดร.วรายุทธกล่าว พร้อมย้ำว่า เราสามารถเปลี่ยนแนวคิดการวิจัยและทิศทางงานวิจัยของเราได้บนพื้นฐานที่เราเชี่ยวชาญบางส่วน ส่วนความรู้ที่ขาดไปเราสามารถเติมเต็มด้วยการเรียนรู้ใหม่ได้เพื่อเปิดรับโจทย์ที่สำคัญต่อประเทศหรือจากภาคอุตสหกรรม ซึ่งอาจต้องใช้ระยะเวลาเหมือนกัน โดยที่งานวิจัยเดิมก็ยังคงต้องดำเนินต่อไป
สำหรับความท้าทายที่เข้ามา ตัวเขามองว่า เป็นบททดสอบ ว่าจะทำอย่างไรที่เราจะก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเราเอง ดังนั้นอุปสรรค ก็คือ ตัวเราเอง เป็นอุปสรรคเดียวที่เราสามารถจะพอควบคุมได้
“ถ้าใครเคยอ่านหนังสือชีวประวัติของไอน์ไตน์ที่เขียนโดย วอลเตอร์ ไอแซคสัน จะเห็นว่าไอน์ไตน์มีวาทะที่น่าหลงใหลอยู่หลายประโยค ซึ่งมีอยู่ประโยคหนึ่งที่เขาใช้มันเป็นแรงบันดาลใจในการทำงานมาโดยตลอด คือ “Once we accept our limits, we go beyond them” เมื่อใดที่เรายอมรับในข้อจำกัดของตัวเอง แสดงว่าเราได้ก้าวผ่านข้อจำกัดนั้นมาแล้ว นั่นหมายความว่าเราสามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อก้าวข้ามข้อจำกัดของเราได้ โดยที่เราต้องยอมรับมันให้ได้เมื่อนั้นเราก็พร้อมที่จะทำอะไรก็ได้เพื่อให้เกิดเปลี่ยนแปลง นั่นคือเราก้าวข้ามมันมาครึ่งหนึ่งแล้วส่วนอีกครึ่งหนึ่งคือการพยายามโดยวิธีการเฉพาะอย่างเพื่อก้าวข้ามข้อจำกัดนั้น ส่วนอุปสรรคอื่นๆที่พบเจอในการทำงานวิจัยก็เป็นเรื่องปกติที่ต้องพบเจอ และวิธีการแก้ปัญหาก็แก้ไปตามสถานการณ์ที่พบเจอ เพราะบทสรุปสุดท้ายแล้วมันก็กลับมาที่ตัวเราและความคิดของเราว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร”
อย่างไรก็ตาม ดร.วรายุทธย้ำว่า การทำงานวิจัยคนเดียวไม่สามารถจะประสบความสำเร็จไปได้ ต้องขอขอบคุณศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ที่ให้โอกาสแสดงศักยภาพในการเป็นนักวิจัยในเวทีต่างๆ ขอขอบคุณคณะผู้ร่วมวิจัยทุกท่านทั้งในประเทศและต่างประเทศ ขอขอบคุณทีมวิจัยและผู้ช่วยวิจัย ภัทรพร โกนิล ที่ช่วยกันพัฒนางานวิจัยกันมาจนมาถึงจุดนี้
เป้าหมายสูงสุดของการทำงานวิจัยและของตนเอง สำหรับดร.วรายุทธก็คือ การเป็นนักวิจัย ซึ่งถือได้ว่า บรรลุเป้าหมายแล้ว เพราะการได้เป็นนักวิจัย ทำให้สามารถผลิตผลงานวิจัย หรือพูดให้เข้าใจง่ายๆ ผลงานวิจัยก็คือผลผลิตจากนักวิจัย ดังนั้นตัวนักวิจัยและศักยภาพของนักวิจัยจึงมีบทบาทสำคัญต่อองค์กร ประชาชน และประเทศชาติ
“หลายคนถามว่า เราทำวิจัยไปทำไม ผมมองว่า เราทำวิจัยก็เพื่อสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ๆ และที่สำคัญเพื่อให้นักวิจัยได้พัฒนาศักยภาพในมิติต่างๆ ทำให้งานวิจัยบรรลุผลสำเร็จเป็นไปตามเป้าหมายที่เราคาดหวังไว้ และสามารถนำงานวิจัยไปใช้ในการพัฒนาประเทศได้มากขึ้น”