ท่ามกลางความตื่นตัวเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ และการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อรองรับความต้องการของโลกเกี่ยวกับการลดก๊าซเรือนกระจก ทีมเลขา CCUS TRM และ NANOTEC Newsletter ฉบับนี้ ขอพาไปร่วมเสวนา ในหัวข้อ CCUS : การดักจับ ใช้ประโยชน์ และกักเก็บคาร์บอน "การขับเคลื่อน CCUS เพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน" โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมวิชาการประจำปี สวทช. ครั้งที่ 18 (NAC2023) รวมทั้งเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนโครงการแผนที่นำทางเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน เพื่อนำทางประเทศไทยไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (CCUS TRM : Navigating Thailand towards Carbon Neutrality) ภายในงาน ดร.วรรณี ฉินศิริกุล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทค ได้กล่าวเปิดงานและต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุมที่ลงทะเบียนเข้าร่วมงานราว 250 คน ครอบคลุมหน่วยงานวิจัย มหาวิทยาลัย หน่วยงานกำกับและขับเคลื่อนนโยบาย หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนผู้ใช้เทคโนโลยีการลดก๊าซเรือนกระจก เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2566 ณ ห้องประชุม Auditorium อาคารศูนย์ประชุมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย
การเสวนาครั้งนี้แบ่งกิจกรรมเป็น 2 ช่วง ช่วงที่ 1 เป็นการบรรยายพิเศษจากวิทยากรที่มาจากหน่วยงานทั้งด้านนโยบาย ภาคอุตสาหกรรม บริษัทเอกชน และหน่วยงานวิจัย ประกอบด้วย
- ดร. พงษ์วิภา หล่อสมบูรณ์ผู้เชี่ยวชาญระดับสูงด้านสิ่งแวดล้อม จาก สกสว. ให้เกียรติบรรยายในหัวข้อ “บทบาทของ สกสว. ต่อการรับมือและแก้ไขปัญหาโลกร้อน”
- คุณนารีรัตน์ พันธุ์มณีผู้อำนวยการกองประสานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ให้เกียรติบรรยายในหัวข้อ “นโยบายการจัดการ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย”
- คุณนที สิทธิประศาสน์กรรมการและเลขานุการสถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ให้เกียรติบรรยายในหัวข้อ “นโยบาย Net Zero เพื่อสร้างโอกาสให้ภาคอุตสาหกรรม”
- ดร.บวรศักดิ์ วาณิชย์กุลบริษัท เอ็กซอนโมบิล จำกัด ให้เกียรติบรรยายในหัวข้อ “CCUS คำตอบของการเดินทางสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน”
และตบท้ายการบรรยายจาก ดร.วรรณี ฉินศิริกุล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทค ที่ได้ให้เกียรติเป็นผู้แทนทีมวิจัยโครงการ CCUS TRM : Navigating Thailand towards Carbon Neutrality ซึ่งเป็นโครงการบูรณาการความร่วมมือระหว่างศูนย์นาโนเทคและเครือข่ายพันธมิตรในการจัดทำ TRM ดังกล่าว เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการมุ่งสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality ของประเทศไทย ทั้งนี้โครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างดำเนินการ โดยในปีงบประมาณ 2566 มีการจัดประชุม Focus group เพื่อรวบรวมข้อคิดเห็นสำคัญ แล้ว 1 ครั้ง ทั้งนี้ทีมวิจัยมีแผนจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ (workshop) อีก 2 ครั้ง ซึ่งจะเชิญชวนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากภาคส่วนต่างๆ เข้าร่วมกิจกรรมต่อไป
ช่วงที่ 2 เป็นการเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้ร่วมเสวนา 4 ท่าน ประกอบด้วย ดร.วรรณี ฉินศิริกุล คุณนารีรัตน์ พันธุ์มณี คุณนที สิทธิประศาสน์ และ ดร.บวรศักดิ์ วาณิชย์กุล ดำเนินรายการโดย ดร. สัญชัย คูบูรณ์ นักวิจัยศูนย์นาโทคและทีมวิจัย CCUS TRM โดยการเสวนาในช่วงที่ 2 นี้ ผู้เข้าร่วมเสวนาต่างให้ความสำคัญต่อการประยุกต์ใช้ CCUS technology ในประเทศไทยเพื่อมุ่งสู่นโยบาย Carbon Neutrality โดยมองว่ามีความเป็นไปได้ และเป็นโอกาสสำคัญของประเทศที่จะสร้างความร่วมมือและผลักดันให้เกิดการลงทุนจากต่างประเทศ ยิ่งไปกว่านั้น สำหรับภาคอุตสาหกรรมก็มีความตื่นตัวและพร้อมที่จะดำเนินการและลงทุน หากมีกฎหมายและกฎระเบียบที่ชัดเจนรองรับการดำเนินงาน ทั้งนี้ในมิติการสนับสนุนภาคเอกชนเพื่อรับมือกับแรงกดดันจากนโยบายลดโลกร้อน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้จัดตั้ง FTIX Platform ภายใต้สถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change Institute) หรือ FTI-CCI ที่ทำหน้าที่สร้างตลาด (Market Place) เพื่อซื้อ-ขาย 1) Carbon Credit (CC) 2) ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (RE) และ 3) ใบรับรองการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (REC) โดยแพลตฟอร์มดังกล่าวมีการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกลไกซื้อขายแลกเปลี่ยนพลังงานสะอาดและคาร์บอนเครดิต ซึ่งคาดหวังว่าแพลตฟอร์มดังกล่าวจะเป็นอีกหนึ่งกลไกขับเคลื่อนการมุ่งสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net zero รวมทั้งกระตุ้นให้ภาครัฐเร่งดำเนินการจัดทำกฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ เพื่อรองรับกิจกรรมการซื้อขายคาร์บอนเครดิต และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต่อการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรม
อย่างไรก็ตาม การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีลดโลกร้อน หรือ CCUS ยังมีข้อควรคำนึงสำคัญ อาทิ เช่น แหล่งกักเก็บก๊าซ CO2 ที่เหมาะสม ความคุ้มทุน-คุ้มค่า รวมทั้งกรอบเวลาในการนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาประยุกต์ใช้ ซึ่งผู้เข้าร่วมเสนาเห็นว่าแผนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี CCUS ในปี ค.ศ. 2040 อาจมีความล่าช้า เมื่อเทียบกับแรงกดดันจากนโยบายลดโลกร้อน และความก้าวหน้าของต่างประเทศ รวมทั้งวิกฤติของ climate change ในปัจจุบัน ทั้งนี้ หัวใจสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการเพื่อรองรับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี CCUS คือ กฎหมายและนโยบายที่ชัดเจน รวมทั้งความพร้อมในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
ดร.วรรณี กล่าวปิดท้ายว่า สำหรับโครงการ CCUS TRM ที่กำลังดำเนินการนี้ จะนำมาสู่ CCUS TRM ฉบับแรกของประเทศไทย ทีมวิจัยยินดีรับความคาดหวังจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง และมีความตั้งใจจะทำให้ดีที่สุดเต็มความสามารถของทีม เพื่อให้ CCUS TRM เป็นเครื่องมือ ให้ ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง นำไปใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจและผลักดันแนวทางที่เหมาะสมกับประเทศ และเกิดผลได้จริง โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการจัดทำ TRM ดังกล่าวจะได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายพันธมิตร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และขอขอบคุณผู้เข้าร่วมประชุมทุกท่าน พร้อมทั้งเชิญชวนเข้าร่วมการประชุม workshop ในครั้งถัดไป