รายงานประจำปี 2565
นาโนเทคเดินหน้าสานต่อภารกิจวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างผลงานที่เป็นเลิศ สะท้อนวิสัยทัศน์และวัฒนธรรมแห่งการสร้าง Value co-creation ร่วมกัน
ภาพรวมองค์กร
ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) เป็นองค์กรในกำกับของรัฐ ดำเนินงานภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2546 มีภารกิจหลักในการสร้าง สนับสนุนและส่งเสริมศักยภาพของนาโนเทคโนโลยี ตลอดจนเผยแพร่ความรู้ให้กับสังคม ถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ภาคอุตสาหกรรมและสร้างความตระหนัก ความรู้ ความเข้าใจให้กับประชาชนในประเทศให้มีความพร้อมในการรับข้อมูลข่าวสารด้านนาโนเทคโนโลยีทั้งในปัจจุบันและอนาคต ทั้งนี้เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายของการพัฒนาประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
วิสัยทัศน์
เป็นองค์กรวิจัยแห่งความเป็นเลิศด้านนาโนเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อประโยชน์ต่อประเทศและมนุษยชาติ
พันธกิจ
เราดำเนินงานวิจัย พัฒนา ออกแบบวิศวกรรมและประยุกต์นาโนเทคโนโลยี เพื่อให้เกิดความเป็นเลิศและสามารถถ่ายทอดสู่การใช้ประโยชน์ให้กับภาคการผลิต อันจะนำไปสู่การยกระดับผลิตภัณฑ์ที่เป็นฐานสำคัญของประเทศไทย ส่งผลต่อการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ภายใต้ความตระหนักในการรักษาและดูแลใส่ใจต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) และสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้สถานการณ์โลกมีความผันผวน ไม่แน่นอน ซับซ้อนและคลุมเครือ ส่งผลให้เกิดการชะลอตัวทางเศรษฐกิจและกระทบสภาพสังคมของคนทั่วโลก หลายหน่วยงานในหลายประเทศมีความตระหนักและปรับตัวมาอย่างต่อเนื่อง การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) ณ เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ปลายปี 2564 และสมัยที่ 27 (COP 27) ณ เมืองชาร์มเอลชีค ประเทศอียิปต์ที่จัดประชุมปลายปี 2565 ที่สนับสนุนให้ประเทศภาคีสมาชิกได้ร่วมกันกำหนดทิศทางการรับมือวิกฤตการณ์โลกร้อนมากขึ้น นับเป็นความท้าทายและโอกาสมากช่วงหนึ่งของศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) กับภารกิจการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างความยั่งยืนของประเทศไทยท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้
ปี 2565 เป็นปีแรกของการดำเนินงานตามแผนแม่บทศูนย์นาโนเทคโนโลยี ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2565-2570) เพื่อนำพานาโนเทคไปสู่หมุดหมายองค์กรแห่งความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมนาโนเทคโนโลยีของประเทศ บนฐานแห่งความยั่งยืนและการยอมรับในระดับสากล ภายใต้ 4 เป้าประสงค์ ได้แก่
-
เป้าประสงค์ที่ 1 เป็นพันธมิตรวิจัยระดับชาติ ตอบโจทย์บูรณาการสำคัญของประเทศทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม
-
เป้าประสงค์ที่ 2 เป็นเลิศด้านนาโนเทคโนโลยี มีผลงานเป็นที่ยอมรับระดับนานาชาติ
-
เป้าประสงค์ที่ 3 สนับสนุนการใช้นาโนเทคโนโลยีอย่างปลอดภัย ด้วยระบบงานและมาตรฐานสากล
-
เป้าประสงค์ที่ 4 เป็นองค์กรมีสุขผูกพัน ทันการเปลี่ยนแปลง บนฐานความยั่งยืน
นาโนเทคให้ความสำคัญกับการดำเนินงานเพื่อตอบสนองนโยบายที่สำคัญของประเทศ นำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG ไปสู่เป้าหมาย โดยใช้ความเชี่ยวชาญของบุคลากรวิจัยและโครงสร้างพื้นฐานทางด้านนาโนเทคโนโลยีสร้างแพลตฟอร์มการวิจัยเพื่อเตรียมความพร้อมในระยะยาว เช่น การพัฒนาโครงการต่อยอดแพลตฟอร์มชุดตรวจแบบรวดเร็ว (rapid test) สู่เชิงพาณิชย์ และโครงการตรวจวัดและพัฒนาคุณภาพน้ำสำหรับการอุปโภคและบริโภคด้วย วทน. เป็นต้น
นาโนเทคได้แสดงความเป็นเลิศทางด้านนาโนเทคโนโลยีเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ผลิตผลงานวิจัย เพิ่มมากขึ้นทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ผ่านการตีพิมพ์บทความในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ จำนวนรางวัลที่นักวิจัยได้รับเป็นที่ประจักษ์ การถ่ายทอดเทคโนโลยีไปสู่เชิงพาณิชย์และสาธารณประโยชน์ รวมทั้งการพัฒนากำลังคนร่วมกับเครือข่ายพันธมิตร ทำให้ผลงานวิจัยตอบโจทย์ความต้องการของเศรษฐกิจและสังคมในวงกว้าง
ในนามของประธานกรรมการบริหารนาโนเทค ผมขอขอบคุณกรรมการบริหาร ผู้บริหาร นักวิจัย บุคลากร ทุกท่านที่ได้ร่วมแรงร่วมใจทำงานด้วยความเสียสละและความทุ่มเทตลอดทั้งปี 2565 ทำให้นาโนเทคมีส่วนสำคัญใน การสนับสนุนภาคเศรษฐกิจและสังคมไทย หวังเป็นอย่างยิ่งว่านาโนเทคจะยังผลิตผลงานที่มีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง โดยคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ
ศ. ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์
ประธานกรรมการบริหาร
ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ
ปี 2565 เป็นอีกปีที่มีความท้าทายต่อการดำเนินงานของศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ซึ่งยังคงยืดเยื้อต่อเนื่องจากปีก่อน ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวันให้ปรับเปลี่ยนรูปแบบไปสู่วิถีใหม่ (new normal) ผนวกกับความผันผวนทางเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์ที่ทำให้ผู้ประกอบการชะลอการลงทุน
จากสภาวการณ์ข้างต้น นาโนเทคในฐานะหน่วยงานวิจัยภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มุ่งให้ความสำคัญต่อการปรับตัวให้สอดคล้องต่อการเปลี่ยนแปลงทุกด้านอย่างรวดเร็ว อาศัยองค์ความรู้ด้านนาโนเทคโนโลยีที่ได้สะสม ผนวกกับความคิดสร้างสรรค์เพื่อสร้างนวัตกรรมทางด้านนาโนเทคโนโลยีด้วยความทุ่มเทของบุคลากรนาโนเทค ความร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ การขับเคลื่อนโครงการวิจัยเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจผ่านนโยบายโมเดลเศรษฐกิจ BCG ตลอดจนปูทางการพัฒนาเทคโนโลยีแนวหน้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) แนวทางเหล่านี้ส่งผลให้นาโนเทคมีผลการดำเนินงาน ประจำปีงบประมาณ 2565 ที่สามารถสร้างมูลค่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมกว่า 4,537 ล้านบาท เกิดมูลค่าการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกว่า 462 ล้านบาท การนำผลงานวิจัยและองค์ความรู้ไปใช้ประโยชน์ 96 รายการ และการผลิตผลงานวิชาการเป็นที่ยอมรับผ่านการตีพิมพ์บทความในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ 219 บทความ
นอกจากนี้ นาโนเทคสร้างรายได้จากความสามารถในการวิจัยและพัฒนาด้านนาโนเทคโนโลยี 113.6 ล้านบาท มีการอนุญาตให้ใช้สิทธิประโยชน์ (licensing agreement) จากทรัพย์สินทางปัญญา สะสมถึงปี 2565 จำนวน 80 ผลงาน ได้ต่อยอดผลงานวิจัยเพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันสำหรับภาคเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศ เช่น การพัฒนาสูตรน้ำยาฆ่าเชื้อสำหรับการประยุกต์ใช้กับพื้นผิวแข็งและพื้นผิวสัมผัสอาหาร การพัฒนาปุ๋ยคีเลตนวัตกรรมปุ๋ยธาตุอาหารรองเสริม และการพัฒนาชุดตรวจวิเคราะห์เดกซ์แทรน (Dextran) ปนเปื้อนในกระบวนการผลิตน้ำตาล ที่สามารถสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากจากภาคการเกษตร
ความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศนับเป็นปัจจัยสำคัญในการสนับสนุนพันธกิจการวิจัยและพัฒนาด้านนาโนเทคโนโลยี ในปี 2565 นาโนเทคร่วมมือกับ 11 เครือข่ายวิจัยจาก 7 มหาวิทยาลัยอย่างต่อเนื่อง ภายใต้โครงการศูนย์เครือข่ายการวิจัยและพัฒนาด้านนาโนเทคโนโลยี ระยะที่ 3 (Research Network of Nanotechnology: RNN) โดยมีผลงานสำคัญในปีนี้ ได้แก่ การตีพิมพ์บทความในวารสารวิชาการระดับนานาชาติรวม 525 บทความ ยื่นขอจดทรัพย์สินทางปัญญา จำนวน 39 รายการ พัฒนาต้นแบบระดับภาคสนาม จำนวน 71 ต้นแบบ และสามารถสร้างกำลังคนด้านนาโนเทคโนโลยีจากกิจกรรมต่าง ๆ มากกว่า 295 คน พร้อมกันนี้นาโนเทคได้ต่อยอดโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญเพื่อสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาระบบลำเลียงแสงซินโครตรอนผ่านโครงการบริหารจัดการสถานร่วมวิจัยมทส.-นาโนเทค-สซ. เพื่อการใช้แสงซินโครตรอน ในระยะที่ 3
นอกจากนี้ นาโนเทคยังให้ความสำคัญในการเพิ่ม visibility ในเวทีระดับนานาชาติ และการสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรต่างประเทศเชิงยุทธศาสตร์ผ่านการสมัครทุนวิจัยร่วมกับหน่วยงานต่างประเทศ จำนวน 3 โครงการในสาขาพลังงาน สาขาวัสดุและเคมีชีวภาพ และสาขาสุขภาพการแพทย์ พร้อมทั้งร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรในประเทศพัฒนาข้อเสนอโครงการ จำนวน 20 โครงการ เช่น โครงการเฝ้าระวังและพัฒนาคุณภาพน้ำอุปโภคบริโภคที่มีการปนเปื้อนมลสารซึ่งส่งผลต่อสุขภาพของประชาชนด้วยนวัตกรรมในชุมชนรอบเขื่อนอุบลรัตน์ ลำน้ำพอง แก่งน้ำต้อน และแก่งละว้า จังหวัดขอนแก่น โครงการพัฒนาวิธีการแปรรูปผงมุกแคลเซียมคาร์บอเนตสำหรับอุตสาหกรรมเครื่องสำอางจากแผ่นเปลือกหอยมุก สำหรับแผนงานบูรณาการ นาโนเทคร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรดำเนินโครงการพัฒนาสารสกัดมาตรฐานและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากพืชสมุนไพรด้วยนาโนเทคโนโลยี ภายใต้แผนงานบูรณาการพัฒนาเขตพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ประจำปี 2565 พัฒนาข้อเสนอโครงการตรวจวัดและพัฒนาคุณภาพน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภคด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ภายใต้แผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำ ประจำปี 2566 และโครงการต่อยอดแพลตฟอร์มชุดตรวจแบบรวดเร็วสู่เชิงพาณิชย์ ภายใต้แผนงานบูรณาการพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต ประจำปี 2566 ซึ่งจะเป็นฐานการดำเนินงานของนาโนเทคที่สอดคล้องกับนโยบายสำคัญของประเทศไทยในระยะต่อไป
ดิฉันขอขอบคุณกรรมการบริหารนาโนเทค ผู้บริหาร สวทช. ทีมผู้บริหาร นักวิจัย และบุคลากรของนาโนเทค ตลอดจนหน่วยงานพันธมิตรทุกท่านที่มีส่วนร่วมในความสำเร็จนี้ และหวังว่าจะได้รับความร่วมมือด้วยดีจากทุกท่านและทุกหน่วยงานในปีต่อๆ ไป
ดร.วรรณี ฉินศิริกุล
ผู้อำนวยการ
ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ
บทสรุปผู้บริหาร 2565
ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) ภายใต้การดำเนินงานของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม มีภารกิจหลักในการสร้าง สนับสนุนและส่งเสริมศักยภาพของนาโนเทคโนโลยีของประเทศ ตลอดจนเผยแพร่ความรู้ให้กับสังคม ถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ภาคอุตสาหกรรม และสร้างความตระหนักให้ประชาชนในประเทศมีความพร้อมในการเลือกรับปรับใช้ข้อมูลข่าวสารด้านนาโนเทคโนโลยีทั้งในปัจจุบันและอนาคต เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายของการพัฒนาประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับปัจจุบัน โดยในปี 2565 นาโนเทค มีผลการดำเนินงานในภาพรวม ดังนี้
ภารกิจด้านวิจัยและพัฒนา
นาโนเทคได้เริ่มดำเนินงานตามแผนแม่บทศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2565 – 2570) ซึ่งเป็นแผนภายในที่กำหนดทิศทางขับเคลื่อนให้องค์กรบรรลุเป้าประสงค์ โดยเน้นให้มีความสอดคล้องกับแผนกลยุทธ์ สวทช. ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2565 – 2570) ตามแนวทางการขับเคลื่อนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยนำเทคโนโลยีหลักของศูนย์จำนวน 5 แพลตฟอร์ม ได้แก่ (1) Nanoencapsulation platform (2) Responsive materials and nanosensing platform (3) Nanocatalysis platform (4) Nanohybrids and coating platform (5) Advanced nanocharacterization and safety platform บูรณาการร่วมกับความเชี่ยวชาญของบุคลากรวิจัย ความร่วมมือจากหน่วยงานพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ เกิดเป็นองค์ความรู้และผลงานที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการที่สำคัญภายในประเทศได้ในหลายมิติ โดยในปี 2565 มีผลงานที่ถูกตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ จำนวน 219 บทความ มีรายการยื่นจดทรัพย์สินทางปัญญา จำนวน 94 รายการ สร้างสรรค์ผลงานต้นแบบจำนวน 21 รายการ ตลอดจนได้รับรางวัลจากผลงานวิจัยและพัฒนาทั้งในระดับประเทศและนานาชาติกว่า 22 รางวัล
ปี 2565 นาโนเทคสามารถส่งมอบและขยายผลงานวิจัยนวัตกรรมนาโนไปสู่การใช้ประโยชน์ทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างต่อเนื่อง ช่วยให้ผู้ประกอบการได้ใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถให้กับภาคการผลิตและบริการ และสนับสนุนการฟื้นฟูภาคเศรษฐกิจในภาวะหลังสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 นอกจากนี้ยังบูรณาการความร่วมมือเพื่อให้เกิดผลงานวิจัยเชิงสาธารณประโยชน์ ซึ่งช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ และสิ่งแวดล้อมของประเทศได้ในหลายพื้นที่
ผลงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์และสร้างผลกระทบ
นาโนเทคได้กำหนดเป้าหมาย ให้การวิจัยและพัฒนาด้านนาโนเทคโนโลยีส่งเสริมให้เกิดมูลค่าการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในภาคการผลิต ภาคบริการและภาคเกษตรกรรมเท่ากับ 650 ล้านบาท และเป้าหมายมูลค่าผลกระทบเชิงเศรษฐกิจและสังคมเท่ากับ 3,500 ล้านบาท โดยผลจากการประเมินผลกระทบจำนวน 43 โครงการ ในปี 2565 พบว่า ผลการดำเนินงานวิจัยและพัฒนาของศูนย์ฯ ก่อให้เกิดการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่อภาคส่วนต่างๆ รวมเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 461.97 ล้านบาท และสร้างมูลค่าผลกระทบเชิงเศรษฐกิจและสังคม อาทิ รายได้ของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น ต้นทุนในการการผลิตลดลง ลดการนำเข้าสินค้าและบริการจากต่างประเทศรวมทั้งสิ้น 4,536.49 ล้านบาท ทั้งนี้ ตัวอย่างโครงการวิจัยที่มีมูลค่าผลกระทบเชิงเศรษฐกิจและสังคมสูงในปี 2565 ได้แก่ (1) การพัฒนาปุ๋ยคีเลตจุลธาตุอาหารพืช (2) การสังเคราะห์สารประกอบไอออนิกคอปเปอร์เพื่อใช้เป็นสารฆ่าเชื้อแบคทีเรียในปศุสัตว์และสิ่งแวดล้อม และ (3) การอนุญาตให้สิทธิใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยเครื่องจมูกอิเล็กทรอนิกส์ในสถานประกอบการและการอนุญาตให้สิทธิใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยเครื่องจมูกอิเล็กทรอนิกส์
ศูนย์เครือข่ายการวิจัยและพัฒนาด้านนาโนเทคโนโลยี
นาโนเทคได้ดำเนินโครงการศูนย์เครือข่ายการวิจัยและพัฒนาด้านนาโนเทคโนโลยี (Research Network of Nanotechnology) หรือ RNN ซึ่งเป็นความร่วมมือวิจัยพัฒนาด้านนาโนเทคโนโลยีระหว่างนาโนเทคและกลุ่มวิจัยในมหาวิทยาลัยต่างๆ จำนวน 11 แห่ง ที่ได้ดำเนินการต่อเนื่องมาจนถึงระยะที่ 3 มุ่งเน้นการนำผลงานที่ได้จากการวิจัยและพัฒนาร่วมกันผลักดันไปสู่การใช้ประโยชน์ เพื่อสร้างผลกระทบในเชิงเศรษฐกิจและสังคมให้กับประเทศ ซึ่งจะสิ้นสุดการดำเนินงานภายในปี 2565 โดยผลการดำเนินงานโครงการระยะที่ 3 สามารถผลิตผลงานทางวิชาการ เช่น การตีพิมพ์ในวารวิชาการระดับนานาชาติ จำนวน 525 เรื่อง สิทธิบัตรและทรัพย์สินทางปัญญา จำนวน 39 เรื่อง อีกทั้งยังมีส่วนในการสนับสนุนการผลิตบุคลากร ได้แก่ นิสิตนักศึกษาปริญญาโทจำนวน 173 คน และปริญญาเอก 122 คน ตลอดจนมีผลงานอุปกรณ์และต้นแบบจำนวน 71 ต้นแบบ โดยสามารถสร้างผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจและสังคมมูลค่า 242 ล้านบาท และมีการลงทุนทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมูลค่า 544 ล้านบาท ทั้งนี้ ตัวอย่างผลงานวิจัยที่เกิดการขยายผลหรือนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ได้แก่ (1) สถานีต้นแบบ Quick charge station (2) SUT-SEAGATE NANOFACTORY (3) ระบบการจัดการขยะชีวภาพ (4) ระบบกรองน้ำเพื่อกำจัดฟลูออไรด์ (5) ระบบพลังงานแสงอาทิตย์ (6) เทคโนโลยีตรวจวัดคุณภาพอากาศ (7) การพัฒนายารักษาอาการผมร่วง และ (8) ผลิตภัณฑ์ไพลโลเพลน เป็นต้น
การพัฒนาบุคลากรและการสร้างองค์กรแห่งความสุข
นาโนเทคให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรทั้งสายวิจัยและสนับสนุน ให้สามารถพัฒนาศักยภาพของตนเองในการสร้างผลงานที่ตอบยุทธศาสตร์ของชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ และส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทั้งภายในและภายนอก ในมิติต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ (1) หลักสูตรการพัฒนาองค์ความรู้ ทักษะ และความสามารถ เพื่อสร้างผลงานคุณภาพให้กับบุคลากรทุกระดับ (2) การพัฒนาบุคลากรภายนอก เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาประเทศชาติ พัฒนาศักยภาพบุคลากรวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ (ว) และเทคโนโลยี (ท) ทั้งในระดับปริญญาตรี โท เอก โดยในปีงบประมาณ 2565 สามารถดำเนินการได้ จำนวน 202 คน (3) แนวทางการบริหารความเปลี่ยนแปลงกระบวนการทำงาน (NANOTE Change Management) โดยมีการปรับกระบวนการ Changes Topics ผ่านคณะทำงาน Change Response Team 6 กระบวนการ อีกทั้งปรับปรุงพัฒนากระบวนการบริหารจัดการภายในอีก 7 กระบวนการผ่านกลไกการทำงาน NANOTEC Process Improvement Team ซึ่งทั้งหมดได้ดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2565 (4) การดูแลบุคลากรและการสร้างความผูกพันต่อองค์กรในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งให้ความสำคัญกับการรณรงค์การป้องกันการติดเชื้อ การดูแลบุคลากรกลุ่มติดเชื้อ มีกลไกการติดตามการดูแลรักษาจนสามารถกลับไปปฏิบัติงานได้อย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม ส่งผลให้บุคลากรรู้สึกผูกพันและเป็นส่วนหนึ่งกับองค์กรในระดับที่สูงขึ้น นอกจากนี้การสื่อสารภายในที่เพิ่มความถี่มากขึ้น เป็นอีกกลไกที่เป็นหัวใจสำคัญในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อที่ช่วยยกระดับความผูกพันจากการรับรู้ข่าวสารการดูแลบุคลากรและการเพิ่มระดับความสัมพันธ์ระหว่างผู้บริหารและพนักงานจากการติดตามการดูแลตลอดสถานการณ์แพร่ระบาดฯ ในปี 2565
ผลงานวิจัยและองค์ความรู้สู่การถ่ายทอดเทคโนโลยีเชิงพาณิชย์และสังคม
นาโนเทคมีภารกิจหลักในการผลักดันผลงานวิจัยและองค์ความรู้มาพัฒนาต่อยอดเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีให้บริการแก่ภาคอุตสาหกรรม ผ่านการดำเนินงานในรูปแบบของการรับจ้างวิจัย การร่วมวิจัย การอนุญาตให้ใช้สิทธิ การให้คำปรึกษา การวิเคราะห์ทดสอบขั้นสูงทางด้านนาโนเทคโนโลยี การทดสอบประสิทธิภาพและความปลอดภัยของสารสกัดและผลิตภัณฑ์ ตลอดจนการให้บริการเชิงเทคนิค โดยในปี 2565 มีการบริหารจัดการโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีไปสู่ผู้ใช้ประโยชน์จำนวนรวมทั้งสิ้น 125 โครงการ โดยเป็นโครงการที่เกิดใหม่ในปี 2565 จำนวน 65 โครงการ นอกจากนี้ยังเกิดโครงการธุรกิจเพื่อการใช้ประโยชน์ในเชิงสังคมจำนวน 6 โครงการ ซึ่งก่อให้เกิดรายได้ประมาณ 82 ล้านบาท เกิดการนำทรัพย์สินทางปัญญาไปใช้ประโยชน์จำนวน 96 รายการ ต้นแบบเชิงพาณิชย์และสังคมจำนวน 13 ต้นแบบ การให้บริการวิเคราะห์ทดสอบขั้นสูงทางด้านนาโนเทคโนโลยีกับภาคอุตสาหกรรมเป็นจำนวนกว่า 1,200 ชิ้นงาน ตลอดจนการผลิตต้นแบบผลิตภัณฑ์อนุภาคนาโนและเครื่องสำอางจำนวน 24 ต้นแบบ
ความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตร
นาโนเทคให้ความสำคัญกับการพัฒนาความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2565 ได้ผลักดันให้เกิดความร่วมมืองานวิจัยด้านนาโนเทคโนโลยีกับพันธมิตรต่างประเทศในเชิงยุทธศาสตร์ โดยมีการจัดประชุมวิชาการร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรรวมทั้งสิ้น 12 กิจกรรม มีการส่งเสริมการรับรู้ในเวทีระดับนานาชาติผ่านการแสวงหาทุนวิจัยร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรต่างประเทศ เพื่อสร้างงานวิจัยที่มีผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนรวมทั้งสิ้น 1,590,000 บาท ในด้านความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรในประเทศ นาโนเทคได้สร้างความร่วมมือกับพันธมิตร ผลักดันงานวิจัยด้านนาโนเทคโนโลยีที่จะสร้างความสามารถทางวิชาการและผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม โดยที่ผ่านมาเกิดการลงนามความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตร 4 กิจกรรม กิจกรรมความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตร 9 กิจกรรม และความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรเพื่อผลักดันผลงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์จำนวนรวม 3 ผลงาน
การส่งเสริมความปลอดภัยนาโนเพื่อการพัฒนานาโนเทคโนโลยีอย่างยั่งยืน
นาโนเทค ให้ความสำคัญในการสร้างการรับรู้และความตระหนักในเรื่องความปลอดภัยนาโนเทคโนโลยีไปสู่กลุ่มเป้าหมายทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาครัฐ และภาคประชาชน เพื่อส่งเสริมความเชื่อมั่นและยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมนาโนเทคโนโลยีของประเทศ ตลอดจนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ใช้นาโนเทคโนโลยีให้เกิดความยั่งยืนในระดับนานาชาติผ่านการจัดกิจกรรมต่างๆ โดยในปี 2565 ได้ดำเนินการจัดกิจกรรมสัมมนาและร่วมประชุมในเวทีระดับนานาชาติ จำนวน 5 ครั้ง จัดกิจกรรมและสัมมนาร่วมกับพันธมิตรในประเทศ จำนวน 8 ครั้ง การจัดทำมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) จำนวน 2 เรื่อง สนับสนุนข้อมูลเพื่อจัดทำคู่มือมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุสาหกรรมนาโนเทคโนโลยี (ฉบับอ่านง่าย) จำนวน 1 ฉบับ จัดทำสื่อวิดีทัศน์เพื่อเผยแพร่ออนไลน์จำนวน 9 ตอน ตลอดจนจัดทำบทความเพื่อเผยแพร่ในช่องทางต่างๆ จำนวน 4 บทความ
ด้านอัตรากำลัง
นาโนเทคมีบุคลากรรวมทั้งสิ้น 257 คน โดยจำแนกตามกลุ่มตำแหน่งดังนี้ (1) ตำแหน่งบริหารระดับสูง 3 คน (2) ตำแหน่งบริหาร 21 คน (3) บุคลากรสายวิจัยและพัฒนา 170 คน (4) บุคลากรสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา 32 คน และ (5) บุคลากรสายสนับสนุน 31 คน
การดำเนินงานด้านงบประมาณ
นาโนเทคได้รับการจัดสรรงบประมาณในปี 2565 จำนวนทั้งสิ้น 585 ล้านบาท โดยมีผลการใช้จ่ายเป็นจำนวนรวม 505 ล้านบาท คิดเป็น 86% ของงบประมาณที่ได้รับการจัดสรร ทั้งนี้ ผลดำเนินงานด้านงบประมาณแบ่งออกตามพันธกิจ ได้แก่ (1) งบบุคลากร จำนวน 222 ล้านบาท (2) งบครุภัณฑ์หลักและงบลงทุน จำนวน 58 ล้านบาท และ (3) งบดำเนินงาน ซึ่งประกอบด้วย งบประมาณด้านวิจัยและพัฒนา งบดำเนินงานตามพันธกิจและการบริหารจัดการศูนย์ฯ และงบประมาณรายจ่ายแหล่งเงินภายนอก จำนวนรวม 225 ล้านบาท