เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2567 ณ วัดบางอำพันธ์ อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ - นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วย พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษา รมว.อว. น.ส.สุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการ รมว.อว. ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัด อว.และผู้บริหารกระทรวง อว. เข้าร่วมตรวจเยี่ยมการดำเนินงานในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ-นครราชสีมา ภายใต้การประชุม ครม.สัญจร กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 (นครราชสีมา ชัยภูมิ สุรินทร์ บุรีรัมย์) โดยมีนายอนันต์ นาคนิยม ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ นายสัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จ.ชัยภูมิ เขต 3 น.ส.สุรีวรรณ นาคาศัย คณะที่ปรึกษานายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย ผู้นำชุมชน ผู้นำเกษตรกรและประชาชนให้การต้อนรับและเข้าร่วมรับฟังนโยบายการนำงานวิจัย วิทยาศาสตร์และนวัตกรรมมาแก้จน โดยบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก มีหน่วยงานในกระทรวง อว. นำงานวิจัยและนวัตกรรมพร้อมใช้มาจัดแสดง ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นจำนวนมาก โอกาสนี้ ดร.อุรชา รักษ์ตานนท์ชัย รองผู้อำนวยการ สวทช. ผศ.ดร.เชาวรีย์ อรรถลังรอง ผู้อำนวยการไบโอเทค ทีมนักวิจัยจาก สวทช. และเกษตรกรผู้ใช้งานจริงกับชุดตรวจโรคใบด่างฯ นายถาวร คัดวงษ์ ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดชัยภูมิ และชุดตรวจโรคปลานิล นายนัยสิทธิ์ สังทองหลาง เกษตรกรผู้ใช้งานจาก จ.นครราชสีมา ร่วมให้การต้อนรับ พร้อมนำเสนอผลงานวิจัยพัฒนาของ สวทช.ที่มีการนำมาใช้ประโยชน์ในพื้นที่ จ.ชัยภูมิและจังหวัดใกล้เคียง ประกอบด้วย ด้านเกษตร 2 ผลงาน คือ ชุดตรวจโรคปลานิล ชุดตรวจโรคใบด่างมันสำปะหลัง และด้านสาธารณสุข คือ ชุดตรวจคัดกรองความเสี่ยงโรคไต
ดร.อุรชา รักษ์ตานนท์ชัย รองผู้อำนวยการ สวทช. เผยว่า ในวันนี้ สวทช. โดย ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ ได้นำชุดตรวจคัดกรองความเสี่ยงโรคไต จำนวน 500 ชุดมอบให้กับ รศ.ดร.พญ.ศิริรัตน์ อนุตระกูลชัย หัวหน้าโครงการป้องกันและชะลอโรคไตเรื้อรังในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมีท่านรัฐมนตรีกระทรวง อว.ได้ให้เกียรติเป็นประธานในการส่งมอบชุดตรวจฯให้กับหน่วยแพทย์ อว. เคลื่อนที่จากโรงพยาบาลศรีนครินทร์ ม.ขอนแก่น ที่มาให้บริการตรวจสุขภาพประชาชนในพื้นที่ ซึ่งโรคไตนับเป็นหนึ่งในโรคที่มีความเสี่ยงที่พบบ่อยในภาคอีสาน โดยมุ่งหวังให้ประชาชนในพื้นที่มีโอกาสได้เข้าถึงบริการสุขภาพ และมีสุขภาพที่ดีด้วย
ชุดตรวจคัดกรองความเสี่ยงโรคไต เป็น 1 ใน BCG Implementations ที่มีดร. เดือนเพ็ญ จาปรุง ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยวัสดุตอบสนองและเซ็นเซอร์ระดับนาโน นาโนเทค สวทช. เป็น Driver โดยชุดตรวจคัดกรองโรคไต 2 เทคโนโลยี คือ AL-Strip และ GO-Sensor Albumin Test โดย ‘AL-Strip’ โดย ดร. สาธิตา ตปนียากร เป็นชุดตรวจโรคไตเชิงคุณภาพที่ประชาชนทั่วไปใช้ตรวจคัดกรองโรคได้ด้วยตัวเอง ทราบผลตรวจได้ภายใน 5 นาที ที่สำคัญมีราคาจับต้องได้ ในขณะที่ GO-Sensor Albumin Test โดย ดร. เดือนเพ็ญ จาปรุง เป็นชุดตรวจโรคไตเชิงปริมาณ เพื่อวิเคราะห์ผลทางการแพทย์ มี 2 ส่วนหลักคือ เครื่องตรวจปริมาณอัลบูมินที่เจือปนอยู่ในปัสสาวะ ใช้เวลาประมวลผลเพียง 10-30 นาที ภายหลังเครื่องประมวลผลเสร็จ ระบบจะส่งข้อมูลเข้าแดชบอร์ดที่แพทย์นำผลตรวจไปใช้งานต่อได้สะดวก ส่วนที่สองคือ น้ำยาตรวจที่มีความจำเพาะกับอัลบูมินของมนุษย์ มีความไว (sensitive) ในการตรวจมากกว่าชุดตรวจทั่วไปประมาณ 100 เท่า ช่วยลดปริมาณน้ำยาที่ใช้ตรวจได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญมีราคาที่สถานพยาบาลขนาดเล็กสั่งซื้อเพื่อใช้งานได้ และเหมาะใช้ตรวจในสถานพยาบาลและออกตรวจนอกสถานที่เพื่อความคล่องตัว
นอกจากนี้ สวทช. โดยไบโอเทค มีการนำ 2 ชุดตรวจด้านการเกษตร มานำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี อว. และเผยแพร่แก่เกษตรกรในพื้นที่ คือ ชุดตรวจอย่างง่ายในรูปแบบ Immunochromatographic strip test (ICG strip test) สำหรับตรวจวินิจฉัยเชื้อ Streptococcus agalactiae ในปลานิล และชุดตรวจโรคใบด่างมันสำปะหลัง คัดกรองโรคใบด่างฯ และท่อนพันธุ์มันสำปะหลังปลอดโรค ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่นักวิจัยไบโอเทคโดยทีมวิจัยการผลิตโมโนโคลนอลแอนติบอดีและการประยุกต์ใช้ พัฒนาขึ้นทั้ง 2 เทคโนโลยี เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาของเกษตรกร และมีการขยายผลใช้งานแล้วทั่วประเทศ