นาโนเทค สวทช. สกัด-ห่อหุ้ม 4 สารสำคัญจาก “พลูคาว” ต้านอนุมูลอิสระ-ต้านริ้วรอย-ยับยั้งไวรัส ปูทางสู่ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ

นักวิจัยนาโนเทค สวทช. ใช้กระบวนการสกัดสีเขียว สกัด 4 สารสำคัญจากพืชสมุนไพร “พลูคาว”คือ รูติน, เควอซิติน, ไฮเปอริน และไฮเปอโรไซด์ มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ยับยั้งการทำงานของอีลาสเทสและคอลลาเจนเนส ต้นตอการเกิดริ้วรอย รวมถึงฤทธิ์ต้านไวรัสโคโรน่า เตรียมผสานเทคโนโลยีการห่อหุ้ม (encapsulation) ลดข้อจำกัดด้านความคงตัว การละลาย และการซึมผ่าน สร้างโอกาสต่อยอดสู่ Functional Ingredient รุกตลาดผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ รับเทรนด์โลกด้านอาหาร สุขภาพ และคุณภาพชีวิต

พลูคาว (Houttuynia cordata Thunb.) เป็นสมุนไพรพื้นเมืองที่ได้รับความนิยมในแถบเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มานาน ในประเทศไทยมักพบได้มากในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีกลิ่นคาวทั้งใบและต้น รสชาติคาว ขื่น เผ็ดร้อน ทำให้มีการใช้ในตำรับยาไทยโบราณอย่างแพร่หลาย ด้วยสรรพคุณ เช่น ขับปัสสาวะ, รักษาโรคผิวหนัง ผื่นคัน ลมพิษ แก้ผิวแห้ง แตก หยาบกร้าน, รักษาริดสีดวงทวาร, รักษาฝีหนองในปอด โดยมีงานวิจัยมากมายศึกษาพบสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ และพบว่า พลูคาวมีสารประกอบฟีนอลที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น ฟลาโวนอยด์, อัลคาลอยด์ และสารเควอซิทิน ซึ่งอาจมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันการทำลายเซลล์ในร่างกาย และยับยั้งการอักเสบได้

ดร.ธงชัย กูบโคกกรวด จากทีมวิจัยนาโนเทคโนโลยีเพื่อคุณภาพชีวิตและเวชสำอาง กลุ่มวิจัยการห่อหุ้มระดับนาโน ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า พลูคาวเป็นพืชสมุนไพรที่ถูกนำมาใช้ในการแพทย์แผนไทยและเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพ จึงเป็นโจทย์น่าสนใจที่ทีมวิจัยนาโนเทคร่วมกับภาคเอกชนในการวิจัยพลูคาว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพปัจจัยการสกัดที่ให้ฟลาโวนอยด์ที่มีความเข้มข้นสูง

ทีมวิจัยนาโนเทคเริ่มจากการพัฒนากระบวนการสกัดแบบ Green Extraction ที่เพิ่มประสิทธิภาพการสกัด ลดใช้สารเคมี โดยในตอนแรก ตั้งเป้าศึกษา 2 สารที่มีผลการวิจัยชี้ว่าพบในพลูคาวอย่าง รูติน (Rutin) และ เควอซิติน (Quercitrin) แต่หลังสกัดด้วยวิธีที่พัฒนาขึ้น พบว่า มีอีก 2 สารที่น่าสนใจอย่าง ไฮเปอริน (Quercetin 3-glucoside: Hyperin) และไฮเปอโรไซ (Quercetin-3-D-galactoside: Hyperoside)

“หลักการเทคโนโลยีสีเขียวหรือ “Green Extraction” ที่ทำให้สกัดสารสำคัญได้มาก ลดการใช้สารเคมีที่อาจก่อให้เกิดอันตราย จึงมีความปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเรามองว่า ผลที่ได้สอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี จึงร่วมมือกับพันธมิตรอย่างวิทยาลัยเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เข้ามาเสริมในเรื่องของการคำนวณค่าการสกัดและออกแบบการทดสอบตัวทำละลาย และการทดสอบความปลอดภัยในเซลล์ การต้านการอักเสบและต้านอนุมูลอิสระในเซลล์” ดร.ธงชัยกล่าว

เมื่อนำมาทดสอบฤทธิ์ทางชีวภาพพบว่า สารสกัดพลูคาวมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระในหลอดทดลอง โดยประเมินด้วยวิธี DPPH assay, ABTS assay และเมื่อทดสอบในเซลล์เพาะเลี้ยงชนิด DHF ที่เหนี่ยวนำด้วยไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (H2O2) ก็พบว่า สารสกัดพลูคาวมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ รวมถึงความสามารถยับยั้งการทำงานของอีลาสเทสและคอลลาเจนเนส ต้นตอการเกิดริ้วรอยของผิวพรรณ และพบว่า มีฤทธิ์ต้านไวรัสโคโรน่าผ่านแบบจำลองการยับยั้งเอนไซม์ Papain-Like Protease (PLPro) ในหลอดทดลอง

นอกจากนี้ ทีมวิจัยความปลอดภัยระดับนาโนและฤทธิ์ทางชีวภาพ นาโนเทคได้ศึกษาการซึมผ่านเยื่อบุลำไส้ในแบบจำลองเซลล์ Caco-2 พบว่า สารสกัดพลูคาวสามารถดูดซึมผ่านเยื่อเมือกในลำไส้ได้ และเมื่อทดสอบความคงตัว ก็พบการบ่งชี้ถึงความเสถียรทางเคมีที่ดี มีการเปลี่ยนแปลงทางเคมีไม่เกิน 10% ของปริมาตรเริ่มต้น

“งานวิจัยนี้ ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. ที่ปีแรกของโครงการจะมุ่งเน้นการพัฒนากระบวนการสกัดที่มีประสิทธิภาพ และศึกษาฤทธิ์ทางชีวภาพและสมบัติต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เชื่อมกับการนำไปใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะในด้านผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ซึ่งมีการเติบโต และเป็นโอกาสที่ดีสำหรับ Functional Ingredient อย่างสารสกัดพลูคาวต่อไป” ดร. ธงชัยชี้

ข้อมูลจาก exactitudeconsultancy.com* ชี้ว่า ขนาดตลาดอาหารเพื่อสุขภาพทั่วโลกคาดว่าจะเติบโตจาก 330.06 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2023 เป็น 584.25 พันล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2030 โดยมีอัตราการเติบโตแบบทบต้นต่อปี (CAGR) ที่ 8.5% ในช่วงระยะเวลาคาดการณ์ ในขณะที่โอกาสใหม่ๆ สำหรับตลาดนี้คือ นวัตกรรมในการกำหนดสูตร เช่น การรวมส่วนผสมที่มีประโยชน์หลายอย่างเพื่อให้เกิดผลเสริมฤทธิ์กัน สามารถสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์และน่าดึงดูดได้ โดยเฉพาะการวิจัยและนำสารเคมีที่มีลักษณะเฉพาะซึ่งมีประโยชน์ต่อสุขภาพที่ได้รับการตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์มาใช้ นวัตกรรมอาจมีหลายรูปแบบ ตั้งแต่การค้นพบสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพใหม่ๆ ไปจนถึงการวิจัยองค์ประกอบดั้งเดิมที่มีศักยภาพที่ยังไม่ได้ใช้

* ตลาดอาหารเพื่อสุขภาพ https://exactitudeconsultancy.com/th/reports/37183/health-functional-food-market/

“สำหรับปีที่ 2 ของการวิจัย เรามองเห็นข้อจำกัดของสารสกัดพลูคาวที่มีการหลอมละลายที่อุณหภูมิ 50°C และเพื่อเพิ่มความเสถียรทางกายภาพ จึงวางแผนที่จะพัฒนาสารสกัดพลูคาวในรูปแบบห่อหุ้ม (encapsulation) เพื่อเพิ่มความคงตัว ความสามารถในการละลาย และการซึมผ่านที่ดีขึ้น สร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบ อาทิ เครื่องดื่มเสริมสุขภาพ, ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแบบแคปซูล/เม็ด รวมถึงสารสกัดพลูคาวในรูปแบบผง สำหรับเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ต่างๆ สร้างโอกาสและมูลค่าเพิ่มให้กับสมุนไพรไทย และผู้ประกอบการไทยต่อไป” นักวิจัยนาโนเทค สวทช. ย้ำ