ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดกิจกรรมเสวนาในหัวข้อ “ก้าวข้ามขีดจำกัด สร้างสรรค์สิ่งใหม่จากงานวิจัยสู่ธุรกิจพันล้าน จากนักวิจัยสู่ผู้ประกอบการ สร้างธุรกิจที่ยั่งยืน ที่คุณทำได้” เพื่อกระตุ้น และสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักวิจัยในการผลักดันและต่อยอดงานวิจัยไปสู่เชิงพาณิชย์ โดย ดร. อุรชา รักษ์ตานนท์ชัย ผู้อำนวยการนาโนเทค กล่าวเปิดงาน พร้อมได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. วิวัฒน์ ตัณฑะพานิชกุล เข้าร่วมกิจกรรม
กิจกรรมเสวนา “ก้าวข้ามขีดจำกัด สร้างสรรค์สิ่งใหม่จากงานวิจัยสู่ธุรกิจพันล้าน จากนักวิจัยสู่ผู้ประกอบการ สร้างธุรกิจที่ยั่งยืน ที่คุณทำได้” ในวันนี้ จะเป็นเวทีที่สร้างแรงบันดาลใจ โดยได้รับเกียรติจาก 2 ผู้ประกอบการ ผู้เป็นฟันเฟืองสำคัญ ทั้งดร. ยงยุทธ วรรณา จากบริษัท ไอทีอาร์ซี จำกัด ที่นำประสบการณ์ในมิติของภาคเอกชนที่ร่วมวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมสู่ตลาดมาแบ่งปันในหัวข้อ จากห้องแล็บสู่ตลาดโลก : Dr.Zkin สร้างเงินล้านในโลกสัตว์เลี้ยง (Zero To Millions Show case Dr.Zkin’ Story) และ Prof. Joydeep Dutta จาก KTH Royal Institute of Technology ประเทศสวีเดน ร่วมแชร์ความรู้และประสบการณ์ของฝั่งวิจัยที่พร้อมจะขยับสู่เชิงพาณิชย์ในหัวข้อ การพัฒนาวัตกรรมจากห้องปฏิบัติการสู่ผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์เทคโนโลยีการบำบัดน้ำเค็มและการผลิตไฮโดรเจนเพื่ออนาคต (Water desalination & hydrogen production: from lab to the market)
“การผลักดันงานวิจัยไปสู่การใช้งานจริง หรือการต่อยอดเชิงพาณิชย์ เป็นหมุดหมายที่นักวิจัยทุกคนใฝ่ฝัน และปัจจุบัน ตลาดโลกรวมถึงไทยเราเอง มีความต้องการผลิตภัณฑ์ที่มี “วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม หรือ วทน.” มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยสามารถตอบโจทย์ความต้องการที่เปลี่ยนไปตามกาลเวลาและสถานการณ์ ลดข้อจำกัดที่เดิมเคยมี หรือเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ผู้ประกอบการ รวมถึงประเทศอีกด้วย ดังนั้น กิจกรรมนี้จะเป็นช่วงเวลาที่ทุกคนได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ สร้างแรงขับ หรืออาจมองเห็นโอกาสในการขยับตัว ขยายแนวทางการวิจัยและพัฒนาให้ลึกขึ้น ไกลขึ้น และกลายเป็นธุรกิจนวัตกรรมนาโนเทคในอนาคต โดยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช. เราคาดหวังให้นักวิจัยสามารถก้าวข้ามขีดจำกัด ส่งงานวิจัยไปถึงมือผู้ใช้ ในบทบาท solution partner โดยเฉพาะพันธมิตรธุรกิจ หรือก้าวสู่ “ดีปเทคสตาร์ทอัพ” ซึ่งเป็นกลไกหนึ่งที่ สวทช. รวมถึงนาโนเทคเอง ผลักดันให้เกิดและโตอย่างมีศักยภาพและประสิทธิภาพ เช่นกัน” ดร. อุรชากล่าว