“ศุภมาส” นำทีม อว. ร่วมประชุม STS forum 2024 ชู “คน” สร้างอนาคตไทย ด้าน นาโนเทค สวทช. ร่วมเวทีเสวนายกระดับอนาคตเสริมอุดมศึกษา

เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2567 น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เข้าร่วมเปิดการประชุมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาสังคม ครั้งที่ 21 (Science and Technology in Society: STS forum 2024) ภายใต้กรอบแนวคิด “What do we need from S&T?” ซึ่งเป็นเวทีหารือด้านนโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดในโลก ณ เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น พร้อมร่วมการแสดงปาฐกถาพิเศษในพิธีเปิด โดยได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการเตรียมและพัฒนากำลังคนขั้นสูงทางด้าน AI เพื่อรองรับการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด การพัฒนาการศึกษาด้วยการจัดการเรียนรู้แบบสะเต็มศึกษา การ Upskill และ Reskill ให้ประชาชนสามารถปรับตัวได้กับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในโลกปัจจุบัน พร้อมเน้นย้ำถึงความสำคัญของการร่วมแรงร่วมใจกันในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม และแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโดยการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี ค.ศ. 2030

จากนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ได้เข้าร่วมประชุมโต๊ะกลมรัฐมนตรีด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (S&T Ministers’ Roundtable Meeting) ในประเด็น “Transformative Science, Technology and Innovation Policy to Strengthen Innovation Ecosystems” ติดตามโดย ศาสตราจารย์ ดร. ศุภชัย ปทุมนากุล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) น.ส.ศุภมาส ได้เน้นย้ำถึงบทบาทสำคัญของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในการรับมือกับปัญหาท้าทายของโลกยุคปัจจุบัน พร้อมแสดงถึงความมุ่งมั่นในการเสริมสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนและการเติบโตที่เหมาะกับบริบทของประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาฯ กล่าวว่า รัฐบาลไทยได้ดำเนินการหลายโครงการเพื่อสนับสนุนการพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรม โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาทุนมนุษย์ มุ่งเน้นการศึกษาในสาขา STEM การเรียนรู้แบบดิจิทัล และทักษะที่จำเป็นสำหรับอุตสาหกรรมในอนาคต เช่น ปัญญาประดิษฐ์ ยานยนต์ไฟฟ้า ชีวเทคโนโลยี และพลังงานทดแทน อีกทั้ง ยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของการวิจัยและนวัตกรรมในระดับชาติ ผ่านการสร้างความร่วมมือระหว่างสถาบันอุดมศึกษา อุตสาหกรรม และสถาบันวิจัย โดยเฉพาะในภาคการเกษตร การดูแลสุขภาพ และเศรษฐกิจสีเขียวหมุนเวียน รวมถึงการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อเร่งรัดการสร้างนวัตกรรมและการแก้ปัญหาผ่านฮับนวัตกรรมและกลุ่มวิจัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ได้เน้นความสำคัญของการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลและการเติบโตที่ยั่งยืน ซึ่งการใช้เครื่องมือดิจิทัลจะมีบทบาทสำคัญในการผลักดันนวัตกรรมและบรรลุ SDGs ภายในปี พ.ศ. 2573 ทั้งนี้ ในช่วงเช้าก่อนการประชุม นางสาวศุภมาส ได้ร่วมรับประทานอาหารเช้ากับรัฐมนตรีจากประเทศต่าง ๆ พร้อมผู้แทนของแต่ละประเทศ และผู้บริหารระดับสูงจากองค์กรทั้งญี่ปุ่น รวมกว่า 30 คน โดยไทยได้แสดงความมุ่นมั่นในการพัฒนาความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทั้งในรูปแบบทวิภาคีและพหุภาคีเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในอนาคต

ในขณะเดียวกัน ดร.อุรชา รักษ์ตานนท์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช. ได้รับเชิญเข้าร่วม Plenary session เสวนาในหัวข้อ shaping the Future of higher Education ได้แลกเปลี่ยนมุมมองในบทบาทหน่วยงานวิจัยที่มีส่วนร่วมกับการส่งเสริมอุดมศึกษา ผ่านการวิจัยและพัฒนาคนได้อย่างไร ซึ่งผู้บริหารนาโนเทคได้นำเสนอภาพของ สวทช. ที่การพัฒนาบุคลากรด้าน วทน. นั้น จำเป็นต้องเริ่มจากระดับต้น  ยกตัวอย่างของไทยที่มี โครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กและเยาวชน : Junior Science Talent Project (JSTP) โดย สวทช. สำหรับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย และ โครงการทุนสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูงแห่งประเทศไทย และสถาบันเทคโนโลยีแห่งโตเกียว สำหรับระดับปริญญาโทในภายใต้ความร่วมมือระหว่าง สวทช. สถาบันเทคโนโลยีแห่งโตเกียว (Tokyo Institute of Technology: Tokyo Tech) และสถาบันการศึกษาชั้นนำของไทย เพื่อเป็นการบ่มเพาะบุคลากรคุณภาพในด้านนี้อย่างต่อเนื่อง สู่การเป็นนักวิทยาศาสตร์ วิศวกรรุ่นใหม่ โดยเฉพาะในด้านของยานยนต์ไฟฟ้าและปัญญาประดิษฐ์ที่กำลังมีบทบาทอย่างมากสำหรับเทคโนโลยีอนาคต

นอกเหนือจากศักยภาพด้าน วทน. ยังต้องมีศักยภาพอีกด้านที่จำเป็นร่วมกัน นั่นคือ สังคมและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน รวมถึงทักษะสังคม (soft skill) ไม่ว่าจะเป็นความรับผิดชอบและความสามารถในการปรับตัว ที่จะช่วยให้กำลังคนของเราในอนาคต สามารถก้าวทันเทคโนโลยีและสังคมที่เปลี่ยนแปลง

การเตรียมความพร้อมรับมือเทคโนโลยีเกิดใหม่ (Emerging Technology) ดร. อุรชาชี้ว่า มี 4 มิติที่ต้องเตรียมให้พร้อม นั่นคือ การพัฒนาความสามารถ โดยเฉพาะแรงงานทักษะที่ภาคอุดมศึกษาต้องเตรียมรองรับความต้องการ, โครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง คลาวน์คอมพิวติ้งและระบบบริหารจัดการข้อมูลความปลอดภัยต่างๆ, การรับรู้ด้านเทคโนโลยีและจริยธรรมที่เกี่ยวข้อง สุดท้ายคือ การสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างสถาบันอุดมศึกษา สถาบัน/องค์กรวิจัย และภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างภาคีอย่างมีประสิทธิภาพ

 

“ประเทศไทยให้ความสำคัญกับปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ซึ่ง อว.  โดย รอว. ศุภมาส ประกาศนโยบาย อว. for AI ที่นายกรัฐมนตรีตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์เพื่อการพัฒนาประเทศไทย (National AI Committee) เพื่อผลักดันทุกมิติอย่างเต็มศักยภาพ” ดร. อุรชาย้ำ