ก.วิทย์ ทุ่ม 2,000 ล้าน ผุดโครงการหุ่นยนต์การแพทย์ชั้นสูง

ก.วิทย์ ทุ่ม 2,000 ล้าน ผุดโครงการหุ่นยนต์การแพทย์ชั้นสูง มั่นใจ 5 ปี เป็นฐานการผลิตของอาเซียน

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) ผนึกเครือข่ายพันธมิตร ทั้งภาครัฐ เอกชน มหาวิทยาลัย และโรงเรียนแพทย์ เปิดตัวสุดยิ่งใหญ่ “โครงการเทคโนโลยีหุ่นยนต์ทางการแพทย์ชั้นสูง” สนองนโยบายรัฐบาล ผลักดันประเทศไทยเป็นศูนย์กลางบริการทางการแพทย์ มุ่งเป้ากลุ่มเบบี้บูมเมอร์ที่จะเป็นผู้สูงวัยกลุ่มใหญ่ที่ต้องการใช้บริการ มั่นใจใน 3 ปี ลดนำเข้าเครื่องมือแพทย์กว่า 50% และใน 5 ปี สามารถเป็นศูนย์กลางการผลิตและจำหน่ายหุ่นยนต์การแพทย์ของอาเซียนรวมถึงเป็นฐานผลิตของประเทศยักษ์ใหญ่ อเมริกา เกาหลี ญี่ปุ่น ได้อีกด้วย

 

 

ต้นแบบหุ่นยนต์การแพทย์
ต้นแบบหุ่นยนต์การแพทย์
นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รมว.วท. เป็นประธานแถลงข่าวร่วมกับ 7 หน่วยงาน รวมทั้ง ศูนย์นาโนเทค ฯ ด้วย
นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รมว.วท. เป็นประธานแถลงข่าวร่วมกับ 7 หน่วยงาน รวมทั้ง ศูนย์นาโนเทค ฯ ด้วย

ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ (5 เมษายน 2556) นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมด้วย รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ดร.นเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการ TCELS ศ.นพ. สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ตลอดจนผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ เข้าร่วมแถลงข่าวเปิดตัว “โครงการเทคโนโลยีหุ่นยนต์ทางการแพทย์ชั้นสูง” โดยมีการนำโมเดลหุ่นยนต์การแพทย์ชั้นสูงมาแสดงในงานด้วย

นายวรวัจน์ กล่าวว่า โครงการเทคโนโลยีหุ่นยนต์ทางการแพทย์ชั้นสูงนี้ เป็นหนึ่งในโครงการบูรณาการภายใต้แผนงานกระทรวงฯ เพื่อพัฒนาเครือข่าย โครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีโอกาสใกล้สำเร็จให้สามารถออกสู่ตลาดเป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ โดยการประสานกับหน่วยงานต่าง ๆ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ตลอดจนสร้างเครือข่ายในภูมิภาคอาเซียนให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี สำหรับหน่วยงานหลักภายในกระทรวงฯ ที่รับผิดชอบแผนงานหุ่นยนต์ มี 2 หน่วยงาน ได้แก่ TCELS ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ ภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ โดยใช้งบประมาณทั้งโครงการจำนวน 2,000 ล้านบาท ในเวลา 5 ปี

นายวรวัจน์ กล่าวถึงทิศทางในการพัฒนาโครงการดังกล่าวว่า ควรเริ่มสร้างศักยภาพในการผลิตเอง และทำให้เป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่จะสนับสนุนการผลักดันประเทศไทยเป็นศูนย์กลางบริการทางการแพทย์ นำรายได้เข้าประเทศ ซึ่งเป็นนโยบายหลักของรัฐบาล ทั้งนี้หุ่นยนต์ทางการแพทย์และเครื่องมือแพทย์ในภาพรวมนั้นจะต้องผ่านมาตรฐานและเงื่อนไขที่รับรองความปลอดภัยในการใช้กับร่างกายมนุษย์ ขณะเดียวกันก็ต้องมองถึงแนวโน้มความต้องการของตลาดโลกด้วย ทั้งนี้ปัจจุบันพบว่ากลุ่มเบบี้บูมเมอร์ ซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ของโลกกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และเป็นกลุ่มที่ความต้องการใช้บริการเทคโนโลยีทางด้านนี้สูง

ด้านดร.นเรศ ผู้อำนวยการ TCELS กล่าวถึงแผนงานในการดำเนินโครงการ ว่า ในเฟสแรก TCELSจะเปิดศูนย์บูรณาการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการหุ่นยนต์ทางการแพทย์ชั้นสูง ซึ่งจะมีบทบาทในการบูรณาการงานวิจัยตั้งแต่ระดับการพัฒนานวัตกรรม จนถึงระดับอุตสาหกรรม และสร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกับภาคเอกชนในประเทศและต่างประเทศ นอกจากนี้ยังได้จัดวางโครงสร้างพื้นฐานกลางที่มหาวิทยาลัยมหิดล ประกอบไปด้วยห้องปฏิบัติการวิจัยและพัฒนาห้องปฏิบัติการทดสอบและห้องปฏิบัติการรับรองคุณภาพและศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ ขณะเดียวกันก็เปิดรับและพิจารณาข้อเสนอโครงการวิจัยประเภทการถ่ายทอดเทคโนโลยีร่วมกับภาครัฐ มหาวิทยาลัย และเอกชน รวมทั้งจัดทำแผนกลยุทธ์หุ่นยนต์การแพทย์ชั้นสูง เพื่อเชื่อมโยงกับแผนและกิจกรรมหุ่นยนต์ด้านอื่น ๆ รวมถึงแผนเครื่องมือแพทย์ โดยในเฟสนี้จะใช้เวลาประมาณ 2 ปี

ผู้อำนวยการ TCELS กล่าวต่อว่า สำหรับเฟสสองจะทำการคัดเลือกต้นแบบผลิตภัณฑ์เพื่อนำไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ เช่น หุ่นยนต์ดูแลผู้สูงอายุ และหุ่นยนต์ผ่าตัด ฯลฯ และร่วมทุนกับบริษัททั้งในและต่างประเทศเพื่อยกระดับประเทศไทยให้เป็นฐานการผลิตหุ่นยนต์ของภูมิภาครวมถึงประเทศยักษ์ใหญ่อย่าง สหรัฐอเมริกา เกาหลี ญี่ปุ่น อันจะนำไปสู่การสร้างแบรนด์หุ่นยนต์การแพทย์ของไทยที่จะผงาดในเวทีระดับโลกได้ นอกจากนี้ยังผลักดันให้เกิดศูนย์ฝึกอบรมและใบรับรองคุณวุฒิวิชาชีพเพื่อยกระดับเส้นทางวิชาชีพของนักวิชาการหุ่นยนต์ ตลอดจนพัฒนาและใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์ เพื่อให้เกิดผลิตภัณฑ์และบริการที่เกี่ยวเนื่องต่อไปซึ่งในเฟสนี้จะเป็นรูปธรรมภายใน 5 ปี

ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช. กล่าว ในโอกาสกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดตัวโครงการพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์ทางการแพทย์ชั้นสูง โดยความร่วมมือระหว่าง ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์(องค์กรมหาชน) ศูนย์นาโนเทคฯ สวทช. คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และองค์กรภาครัฐภาคเอกชนหลายแห่ง ว่า กระทรวงวิทย์ฯ มีแนวคิดส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาระบบอัตโนมัติทางการแพทย์ หุ่นยนต์ เครื่องมือและชุดตรวจโดยใช้เทคโนโลยีชั้นสูง เข้ามาเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ประเทศไทย เนื่องจากปี 2555 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล สำรวจพบว่า ไทยมีผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปมากถึงร้อยละ 12.59 ถือว่ามากสุดในกลุ่มประเทศอาเซียน ขณะที่มีผู้ดูแลลดลง และยังมีความต้องการคุณภาพในการบริการทางการแพทย์สูงขึ้น ดังนั้นองค์ประกอบสำคัญของประเทศไทยในฐานะเป็นศูนย์กลางบริการทางด้านการแพทย์( Medical Hub ) หากประเทศไทยสามารถพัฒนาและผลิตหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติทางการแพทย์รวมทั้งเครื่องมือวินิจฉัยและรักษาทางการแพทย์ได้เอง นอกจากเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์แล้ว ยังจะนำมาซึ่งรายได้เข้าประเทศและสอดคล้องกับนโยบายการทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางบริการทางการแพทย์ของภูมิภาคได้เป็นอย่างดี

ศ.นพ.สิริฤกษ์ กล่าวต่อว่า สำหรับศูนย์นาโนเทคฯ มีความร่วมมือในการทำระบบส่งยารักษาโรคเข้าสู่เป้าหมายจำเพาะ และยังสร้างระบบอัตโนมัติในการตรวจวินิฉัยโรคโดยเฉพาะมะเร็ง อย่างไรก็ตามสิ่งที่จะต้องให้การสนับสนุนจากความร่วมมือของหลายองค์กรควบคู่กันไปในเชิงนโยบาย หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องควรสนับสนุนให้เกิดการบูรณาการเพื่อการสร้างแผนนโยบายและยุทธศาสตร์ในระดับประเทศ เช่น กระทรวงสาธารณสุขสนับสนุนเรื่องมาตรฐานการทดสอบทางคลินิก การขึ้นทะเบียน และการใช้งาน กระทรวงวิทยาศาสตร์มีการส่งเสริมงานวิจัยจากภาครัฐและมหาวิทยาลัยที่มีศักยภาพทางการทำงานวิจัยร่วมวิจัยพัฒนาอย่างมุ่งเป้า ทั้งนี้เพื่อนำไปสู่การใช้งานจริงในกลุ่มโรงพยาบาล ภาคเอกชน และอุตสาหกรรมเพื่อเพิ่มโอกาสเชิงพาณิชย์ให้กับประเทศ

 

ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Call Center 1313 หรือ 02-6445499 , www.tcels.or.th,www.facebook.com/tcelsfan

 

/////////////////////////////////////////////////