รายงานประจำปี 2564

พ.ศ. 2564 นับเป็นปีที่ 19 ของการเติบโตของศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ที่ได้ขับเคลื่อนการวิจัยและพัฒนาด้านนาโนเทคโนโลยีสอดคล้องกับนโยบายและโจทย์สำคัญภายใต้สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ของประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบทั้งในมิติสังคมและเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง นับได้ว่านาโนเทคได้ให้ความสำคัญกับการนำองค์ความรู้การวิจัยและพัฒนาเพื่อรับมือและฟื้นฟูประเทศทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 สอดคล้องนโยบายรัฐบาล ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี รวมทั้งยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy Model)

นอกจากนี้ ในปีพ.ศ. 2564 นาโนเทคได้กำหนดยุทธศาสตร์การดำเนินงานที่สอดคล้องกับแผนกลยุทธ์ของ สวทช. ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2565-2570) ผ่านการให้ข้อเสนอแนะจากกรรมการบริหารศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ นำไปสู่แผนแม่บทศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2565-2570) แผนดังกล่าวมุ่งเน้นให้นาโนเทคเป็น “องค์กรวิจัยแห่งความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมนาโนเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศบนฐานแห่งความยั่งยืนและการยอมรับในระดับสากล” แผนนี้จึงเป็นกรอบการดำเนินงานของนาโนเทคในอนาคตของการสร้างผลงานอย่างบูรณาการกับพันธมิตรเพื่อให้เกิดประโยชน์เชิงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศต่อไป

 

 

รายงานฉบับนี้ได้แสดงให้ประจักษ์ว่า การดำเนินงานของนาโนเทคในปี พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมาได้ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศสร้างผลงานวิจัยและพัฒนาไปสู่การใช้ประโยชน์เพื่อการแก้ไขปัญหาที่สำคัญของประเทศได้อย่างชัดเจน ส่วนหนึ่งของการยอมรับทางวิชาการและความภาคภูมิใจปรากฎเป็นรางวัลสำคัญจำนวนมากทั้งในและต่างประเทศ บ่งบอกถึงศักยภาพและความสามารถที่จะสร้างผลงานอันสำคัญต่อไปในอนาคต

ในนามของประธานกรรมการบริหารศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ ผมขอขอบคุณกรรมการบริหาร ผู้บริหาร นักวิจัย บุคลากรทุกท่าน รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และมหาวิทยาลัยที่ได้ร่วมกับนาโนเทคในการสร้างองค์ความรู้จากการวิจัยและพัฒนาด้านนาโนเทคโนโลยีและความเข้มแข็งทางวิชาการตลอดปีที่ผ่านมา และหวังว่าจะได้รับความร่วมมืออันดียิ่งอีกเพื่อขยายผลงานวิจัยและพัฒนาด้านนาโนเทคโนโลยีไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต

 

ศ. ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์

ประธานกรรมการบริหาร

ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ

สารจากผู้อำนวยการ

ดร.วรรณี ฉินศิริกุล รายงานประจำปี 2564

ภายใต้แผนแม่บทศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (พ.ศ. 2560-2564) ผลการดำเนินงานของนาโนเทค ประจำปีงบประมาณ 2564 สามารถผลักดันผลงานวิจัยและพัฒนาไปใช้ประโยชน์สร้างผลกระทบในเชิงเศรษฐกิจและสังคม คิดเป็นมูลค่า 4,664 ล้านบาท สร้างมูลค่าการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จำนวน 697 ล้านบาท มีการนำผลงานวิจัยที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปธรรม จำนวน 83 รายการ และการสร้างความเข้มแข็งทางวิชาการผ่านการตีพิมพ์บทความวิชาการในวารสารนานาชาติมากกว่า 225 บทความ พร้อมกันนี้นาโนเทคมีส่วนขับเคลื่อนนโยบายที่สำคัญของรัฐบาลผ่านโครงการขนาดใหญ่เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและดูแลสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 โดยอาศัยเทคโนโลยีฐานของนาโนเทค เช่น ผลงานชุดตรวจแบบรวดเร็วสำหรับการคัดกรองการติดเชื้อโคโรนาไวรัส (NanoCovid-19 Antigen Rapid Test) และหมวกควบคุมแรงดัน (nSPHERE Pressurized Helmet) ที่มีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาเร่งด่วนสำคัญของประเทศร่วมกับภาคเอกชนที่ช่วยสนับสนุนงบประมาณการผลิต 

            การสร้างความร่วมมือกับเครือข่ายวิจัยเพื่อขยายความสามารถด้านนาโนเทคโนโลยีของประเทศภายใต้โครงการศูนย์เครือข่ายการวิจัยและพัฒนาด้านนาโนเทคโนโลยีที่ได้ดำเนินการ ระยะที่ 3 (Research Network of Nanotechnology: RNN) ร่วมกับ 11 เครือข่ายจาก 7 มหาวิทยาลัย มีทิศทางการขับเคลื่อนงานวิจัยไปสู่เป้าหมายการสร้างผลกระทบทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคม พร้อมกับการสร้างความเข้มแข็งทางวิชาการ ปีนี้ศูนย์เครือข่ายการวิจัยฯ สามารถตีพิมพ์บทความในวารสารวิชาการระดับนานาชาติรวม  474 บทความ ยื่นขอจดทรัพย์สินทางปัญญา จำนวน 26 รายการ พัฒนาต้นแบบระดับภาคสนาม จำนวน 55 ต้นแบบ และสามารถสร้างกำลังคนด้านนาโนเทคโนโลยีจากกิจกรรมต่าง ๆ มากกว่า 286 คน พร้อมกันนี้นาโนเทคได้ต่อยอดโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญเพื่อสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาด้านแสงซินโครตรอนผ่านโครงการบริหารจัดการสถานร่วมวิจัย มทส.-นาโนเทค-สซ. เพื่อการใช้แสงซินโครตรอน ในระยะที่ 3

ในส่วนการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อให้เกิดการผลักดันผลงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ปีนี้นาโนเทคดำเนินการไปแล้วจำนวนรวมทั้งสิ้น 70 โครงการ ในจำนวนนี้มีการอนุญาตสิทธิใช้ประโยชน์ (licensing agreement) จากทรัพย์สินทางปัญญา จำนวน 12 ผลงาน เกิดความร่วมมือกับภาคเอกชนในการทำวิจัยและพัฒนานวัตกรรม จำนวน 20 บริษัท ให้บริการวิเคราะห์ทดสอบทางด้านนาโนเทคโนโลยีกับทั้งภาครัฐและภาคเอกชนกว่า 1,400 ชิ้นงาน รวมไปถึงการขยายกำลังการผลิต (scale up) ด้านอนุภาคนาโนสำหรับผลิตเครื่องสำอางและเวชสำอางให้กับภาคอุตสาหกรรม จำนวน 14 ผลิตภัณฑ์ และการดำเนินโครงการธุรกิจเชิงสังคม (social technology business) เพื่อนำนวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์สำหรับชุมชน จำนวน 3 โครงการ โดยปีที่ผ่านมานาโนเทคได้จับมือกับภาคเอกชนในการขอรับทุนวิจัยจากแหล่งทุนระดับประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 12 โครงการ เพื่อสนับสนุนการลงทุนทำโครงการวิจัยขนาดใหญ่ของภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้มั่นใจว่าผลงานวิจัยที่เกิดขึ้นนี้จะให้ผลอย่างเป็นรูปธรรมต่อการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมต่อไป 

            ทั้งนี้ความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศนับเป็นปัจจัยสำคัญในการสนับสนุนพันธกิจหลักของนาโนเทคที่นำไปสู่การสร้างกำลังคนให้เป็นที่ยอมรับในทางวิชาการ พร้อมต่อยอดองค์ความรู้ด้านนาโนเทคโนโลยีไปสู่การใช้ประโยชน์ในภาคอุตสาหกรรมและสังคมในวงกว้าง ขณะเดียวกันนาโนเทคได้ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรขับเคลื่อนนโยบายสำคัญของประเทศ เช่น โครงการบูรณาการภาคการเกษตรในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พร้อมทั้งดำเนินพันธกิจที่สำคัญในการขับเคลื่อนความปลอดภัยนาโนเทคโนโลยีสู่กลุ่มเป้าหมายภาคอุตสาหกรรม ภาครัฐและภาคประชาชนควบคู่ไปด้วย

            ดิฉันขอขอบคุณกรรมการบริหารศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ ผู้บริหาร สวทช. ทีมผู้บริหาร นักวิจัย และบุคลากรของนาโนเทค หน่วยงานพันธมิตรทุกท่านที่มีส่วนร่วมในความสำเร็จนี้

 

 

ดร.วรรณี ฉินศิริกุล

ผู้อำนวยการ

ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ

บทสรุปผู้บริหาร

ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) ภายใต้การดำเนินงานของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มีภารกิจหลักในการสร้าง สนับสนุนและส่งเสริมศักยภาพด้านนาโนเทคโนโลยีของประเทศ ตลอดจนเผยแพร่ความรู้ให้กับสังคม ถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ภาคอุตสาหกรรม และสร้างความตระหนักให้ประชาชนมีความพร้อมในการเลือกรับปรับใช้ข้อมูลข่าวสารด้านนาโนเทคโนโลยีทั้งในปัจจุบันและอนาคต โดยมีเป้าหมายหลักในการนำนวัตกรรมการวิจัยด้านนาโนเทคโนโลยีไปใช้ประโยชน์เพื่อสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศผ่านภารกิจด้านต่าง ๆ ดังนี้

ด้านวิจัยและพัฒนา

ปี 2564 นาโนเทคมีแนวทางการวิจัยและพัฒนาเพื่อสนับสนุนภารกิจสำคัญของประเทศตามแนวนโยบายของรัฐบาล แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 แผนกลยุทธ์ สวทช. ฉบับที่ 6.4 บนหลักการ “ตอบโจทย์เป็นเลิศ เกิดผลกระทบที่รับรู้ได้” หรือที่ถูกสื่อสารในนาโนเทค ว่า “REVI” (Relevance Excellence Visibility Impact) มาตลอดแผนกลยุทธ์ สวทช. สำหรับสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ COVID-19 ยังคงต่อเนื่องจากปี 2563 ซึ่งเป็นอีกหนึ่งโจทย์ท้าทายสำคัญที่ทำให้นาโนเทคปรับปรุงวิถีการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไปในภาวะความปกติใหม่ หรือ “New Normal เพื่อรับมือและฟื้นฟูในสถานการณ์ระบาดของโรค COVID-19” โดยนักวิจัยนาโนเทคร่วมกับบุคลากรจากสถาบันการศึกษา หน่วยงานวิจัย และเครือข่ายวิจัยด้านนาโนเทคโนโลยีในการบูรณาการองค์ความรู้จากการวิจัยและพัฒนาด้านนาโนเทคโนโลยีที่จะสามารถสนับสนุนภารกิจทางด้านการแพทย์และสาธารณสุข ตลอดทั้งแก้ไขปัญหา ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ สังคม และช่วยเหลือประชาชนจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ด้วยนวัตกรรมพร้อมใช้ ได้แก่ ชุดตรวจ NanoCovid-19 Antigen Rapid Test เป็นชุดทดสอบอย่างง่ายและรวดเร็วทั้งแบบ professional use สำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข และแบบ self test สำหรับการใช้งานด้วยตนเอง ทั้งสองชุดตรวจผ่านการประเมินเทคโนโลยีจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยมีการส่งมอบชุดตรวจเพื่อใช้ในเชิงสาธารณประโยชน์ให้กับหน่วยงานต่าง ๆ เช่น คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากบริษัท โกลบอล พาวเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) และมูลนิธิใจกระทิง หมวกแรงดันบวก-ลบ nSPHERE เป็นนวัตกรรมเพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อด้วยแนวคิดประกอบง่าย ผลิตได้เร็ว ราคาย่อมเยา เป็นอุปกรณ์ส่วนบุคคลที่สะดวก น้ำหนักเบา และสามารถนำส่วนควบคุมกลับมาใช้ซ้ำได้ โดยมีการส่งมอบหมวกแรงดันบวก-ลบ nSPHERE ให้กับโรงพยาบาลในกรุงเทพและภูมิภาคมากกว่า 20 แห่ง

อ่านต่อ...

 

สรุปผลงานเด่นปี 2564

ผลงานที่สร้างการลงทุนทางด้านวิทยาศาสตร์และผลกระทบเชิงเศรษฐกิจและสังคม

การสังเคราะห์สารประกอบไอออนิกคอปเปอร์เพื่อใช้เป็นสารฆ่าเชื้อแบคทีเรียในปศุสัตว์และสิ่งแวดล้อม

ทีมวิจัยนาโนเนค พัฒนาสารฆ่าเชื้อจุลินทรีย์จากแร่ธาตุธรรมชาติในรูปแบบไอออนประจุบวกของคอปเปอร์ (II) ไอออนขนาดนาโนเมตร โดยใช้เทคโนโลยีคีเลชั่น (chelation) และสเทบิไลเซชั่น (stabilization) ด้วยสารอินทรีย์ ทำให้ไอออนประจุบวกของแร่ธาตุธรรมชาติที่เล็กขนาดนาโนเมตรเข้าไปในเซลล์และออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อหรือชะลอการเจริญเติบโตของแบคทีเรียได้อย่างมีประสิทธิภาพและยังป้องกันการตกตะกอนจากไอออนประจุลบชนิดต่างๆ รวมทั้งลดปัญหาผลข้างเคียงและสารเคมีตกค้างในกับสัตว์  ซึ่งบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับเวชภัณฑ์ อาหารเสริมและวัตถุดิบอาหารสัตว์รับถ่ายทอดเทคโนโลยีดังกล่าว และนำไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียในฟาร์มปศุสัตว์

ผลจากการประเมินโครงการในปี 2564 พบว่าโครงการสังเคราะห์สารประกอบไอออนิกคอปเปอร์เพื่อใช้เป็นสารฆ่าเชื้อแบคทีเรียในปศุสัตว์และสิ่งแวดล้อม ก่อให้เกิดมูลค่าการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภาคการผลิต บริการและภาคเกษตรกรรม 648,000 บาท และเกิดมูลค่าผลกระทบเชิงเศรษฐกิจและสังคมรวมกว่า 2,539 ล้านบาท

การสังเคราะห์สารประกอบไอออนิกคอปเปอร์เพื่อใช้เป็นสารฆ่าเชื้อแบคทีเรียในปศุสัตว์และสิ่งแวดล้อม

ทีมวิจัยนาโนเนค พัฒนาสารฆ่าเชื้อจุลินทรีย์จากแร่ธาตุธรรมชาติในรูปแบบไอออนประจุบวกของคอปเปอร์ (II) ไอออนขนาดนาโนเมตร โดยใช้เทคโนโลยีคีเลชั่น (chelation) และสเทบิไลเซชั่น (stabilization) ด้วยสารอินทรีย์ ทำให้ไอออนประจุบวกของแร่ธาตุธรรมชาติที่เล็กขนาดนาโนเมตรเข้าไปในเซลล์และออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อหรือชะลอการเจริญเติบโตของแบคทีเรียได้อย่างมีประสิทธิภาพและยังป้องกันการตกตะกอนจากไอออนประจุลบชนิดต่างๆ รวมทั้งลดปัญหาผลข้างเคียงและสารเคมีตกค้างในกับสัตว์  ซึ่งบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับเวชภัณฑ์ อาหารเสริมและวัตถุดิบอาหารสัตว์รับถ่ายทอดเทคโนโลยีดังกล่าว และนำไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียในฟาร์มปศุสัตว์

ผลจากการประเมินโครงการในปี 2564 พบว่าโครงการสังเคราะห์สารประกอบไอออนิกคอปเปอร์เพื่อใช้เป็นสารฆ่าเชื้อแบคทีเรียในปศุสัตว์และสิ่งแวดล้อม ก่อให้เกิดมูลค่าการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภาคการผลิต บริการและภาคเกษตรกรรม 648,000 บาท และเกิดมูลค่าผลกระทบเชิงเศรษฐกิจและสังคมรวมกว่า 2,539 ล้านบาท

โครงการหน้ากากผ้านาโนกันไรฝุ่น (WIN-Masks: Washable Innovative Nano-Masks) เพื่อป้องกัน COVID-19

ทีมวิจัยนาโนเทค สวทช.  ได้วิจัยและพัฒนาสารเคลือบผ้านาโนที่มีคุณสมบัติพิเศษ สามารถป้องกันฝุ่นละอองและสารขนาดเล็กกว่า 5-10 ไมครอน ป้องกันการซึมผ่านของละอองฝอยเสมหะหรือสารคัดหลั่งที่เป็นของเหลว (Fluid resistance) จากภายนอกสู่ผู้สวมใส่และจากผู้สวมใส่สู่ภายนอก ระบายของอากาศได้ดี สามารถซักซ้ำได้โดยไม่สูญเสียคุณสมบัติ  ซึ่งทีมวิจัยได้ส่งมอบผลงานให้กับองค์กรมหาชนแห่งหนึ่ง เพื่อนำไช้สำหรับทำหน้ากากอนามัยให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และประชาชน

ผลงานดังกล่าวสามารถสร้างผลประโยชน์ให้กับสังคมในหลายด้าน อาทิ ก่อให้เกิดการลงทุนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ลดต้นทุนในการผลิตจากการใช้ช้ำได้ และลดความเสี่ยงการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 19 ของผู้ใช้ ซึ่งจากการประเมินผลกระทบ 2564 พบว่าโครงการหน้ากากผ้านาโนกันไรฝุ่น (WIN-Masks: Washable Innovative Nano-Masks) เพื่อป้องกัน COVID-19 ก่อให้เกิดการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในภาคส่วนต่างๆ รวมทั้งสิ้น 832,000 บาท และเกิดมูลค่าผลกระทบเชิงเศรษฐกิจและสังคมรวมทั้งสิ้น 214 ล้านบาท

 

การพัฒนาปุ๋ยคีเลตจุลธาตุอาหารพืช

ทีมวิจัยนาโนเทควิจัยและพัฒนาปุ๋ย ด้วยเทคโนโลยีนาโนจากการห่อหุ้มธาตุอาหารด้วยสารคีเลตจากกรดอะมิโนในรูปแบบธาตุอาหารคีเลตเชิงซ้อน มีคุณสมบัติในการเร่งการเจริญเติบโตของพืช เพิ่มการดูดซึมเข้าสู่ใบ ซึ่งพืชจะดูดซึมไปใช้ได้ดีและรวดเร็วกว่าการดูดซึมทางราก และสามารถละลายน้ำได้อย่างดีเมื่อนำไปใช้ เนื่องจากองค์ประกอบของสารคีเลตได้จากกรดอะมิโนที่เป็นหน่วยย่อยของโครงสร้างของสิ่งมีชีวิต ปัจจุบันบริษัทเอกชนรายหนึ่งได้รับถ่ายทอดเทคโนโลยีและนำไปพัฒนาต่อยอดสู่การผลิตเพื่อจำหน่ายเป็นปุ๋ยคีเลตจุลธาตุอาหารสำหรับฉีดพ่นทางใบพืช ซึ่งถือเป็นทางเลือกใหม่สำหรับเกษตรกร ช่วยลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตของเกษตรกร ลดการนำเข้าปุ๋ยคีเลตจากต่างประเทศ โดยไม่เป็นอันตรายต่อตัวผู้ใช้

ผลจากการประเมินโครงการในปี 2564 พบว่าโครงการการพัฒนาปุ๋ยคีเลตจุลธาตุอาหารพืชก่อให้เกิดมูลค่าการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภาคการผลิต บริการและภาคเกษตรกรรม 7.7 ล้านบาท และเกิดมูลค่าผลกระทบเชิงเศรษฐกิจและสังคมรวม 975 ล้านบาท

การศึกษาและวิเคราะห์ลักษณะของพื้นผิวเพื่อศึกษาผลกระทบของกระบวนการซักล้างต่อวัสดุหัวอ่านฮาร์ดดิสก์

นักวิจัยนาโนเทค สวทช. ร่วมกับ ทีมวิจัยจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิจัยและพัฒนาเพื่อวิเคราะห์ลักษณะพื้นผิวและผลกระทบของการใช้สารซักล้างในกระบวนการทำความสะอาดหัวอ่านฮาร์ดดิสก์ โดยศึกษาการเปลี่ยนแปลงบนพื้นผิวของวัสดุ AlTiC (Aluminium-Titanium-Carbon), Al2O3 อะลูมิเนียมออกไซด์, และ NiFe (Nickel–iron Alloy) ซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักของหัวอ่าน และพัฒนากระบวนการวิเคราะห์จากการบูรณาการเทคนิควิเคราะห์เชิงวิทยาศาสตร์พื้นผิว เพื่อตรวจสอบการทิ้งคราบฟิล์มบางของสารซักล้างบนพื้นผิวที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ซึ่งมีความบางในระดับนาโนเมตร ตลอดจนเปรียบเทียบประสิทธิภาพในการกำจัดสารปนเปื้อนของสารซักล้างมาตรฐานในกระบวนการทำความสะอาดหัวอ่านและสารซักล้างที่ทำการศึกษา โดยงานวิจัยดังกล่าวได้มีการนำไปใช้งานจริง ณ บริษัทผู้ผลิตหัวอ่านฮาร์ดดิสก์รายหนึ่งในประเทศไทย

ผลจากการประเมินโครงการในปี 2564 พบว่า การศึกษาและวิเคราะห์ลักษณะของพื้นผิวเพื่อศึกษาผลกระทบของกระบวนการซักล้างต่อวัสดุหัวอ่านฮาร์ดดิสก์ ก่อให้เกิดมูลค่าผลกระทบเชิงเศรษฐกิจและสังคมรวมทั้งสิ้น 230 ล้านบาท