From Waste to Wow & Wealth! ‘เปลือกหอยแมลงภู่’ สู่สารเคลือบช่วยดูดซับคราบน้ำมัน
นักวิจัยนาโนเทค สวทช. และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปลี่ยนขยะจากอุตสาหกรรมอาหารอย่างเปลือกหอยแมลงภู่เป็น “อนุภาคนาโนอะราโกไนต์” แคลเซียมคาร์บอเนตชีวภาพ ที่โดดเด่นด้วยความบริสุทธิ์และพื้นที่ผิวสูง เอื้อต่อการปรับเปลี่ยนสมบัติเชิงพื้นผิวเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในดูดซับคราบน้ำมัน สามารถต่อยอดสู่สเปรย์-ฟองน้ำทำความสะอาดที่ปลอดภัย พร้อมตอบ BCG เพื่อความยั่งยืนด้วยกระบวนผลิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่มีการสร้างของเสีย (Zero Waste Process) ขยายกำลังการผลิตสู่เชิงพาณิชย์ได้ ดร. ชุติพันธ์ เลิศวชิรไพบูลย์ นักวิจัยจากกลุ่มวิจัยวัสดุตอบสนองและเซ็นเซอร์ระดับนาโน ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า งานวิจัยเรื่อง อนุภาคนาโนอะราโกไนต์สำหรับทำความสะอาดคราบน้ำมัน เป็นความร่วมมือระหว่าง สวทช. โดยนาโนเทค , จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยศาสตราจารย์ ดร. สนอง เอกสิทธิ์ และดร. ลัญจกร อมรกิจบำรุง บริษัท รีนิว อินโนเวชั่นส์ จำกัด ภายใต้โครงการ “ต้นแบบผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงแปรรูปจากเปลือกหอยแมลงภู่เหลือทิ้ง” โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เพื่อพัฒนาสินค้านวัตกรรมที่นำเอกลักษณ์และสมบัติเฉพาะของแคลเซียมคาร์บอเนตเปลือกหอยแมลงภู่ มาใช้ประโยชน์ในมิติต่างๆ อนุภาคนาโนอะราโกไนต์ (Aragonite nanoparticles) เป็นแคลเซียมคาร์บอเนตชีวภาพผลิตจากเปลือกหอยแมลงภู่ ที่ใช้การสลายโปรตีนในโครงสร้างของเปลือกหอยแมลงภู่โดยการใช้ความร้อนและวิธีการทางเคมี […]