7 ทีม “Hero นาโนผู้พัฒนา” กับงานวิจัยบรรเทาวิกฤตการณ์ COVID-19: ทีมที่ 2
แผ่นกรองและหน้ากากอนามัยสำหรับการป้องกันฝุ่น PM 2.5 แบคทีเรียและไวรัส N-Breeze M01 และ N-Breeze: Facial Fit “งานวิจัยและพัฒนา ที่สร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมที่เราสามารถทำได้เองในประเทศ ลดการพึ่งพาต่างชาติ โดยเฉพาะในช่วงเวลาวิกฤตที่การส่งออก/นำเข้าทำได้ยาก ช่วยให้เราสามารถยืนได้ด้วยตนเอง และผ่านพ้นวิกฤตได้ในที่สุด” การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 (COVID-19) ทำให้เกิดความตื่นตระหนกและความเสียหายเชิงเศรษฐกิจในวงกว้าง ซึ่งชี้ให้เห็นความต้องการอย่างเร่งด่วนสำหรับมาตรการที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสนี้ การพัฒนาวัคซีนสำหรับต้านเชื้อไวรัสโคโรนาเป็นกระบวนการที่ต้องอาศัยเวลา ซึ่งทำให้การรักษาไม่ทันเวลาในกรณีที่มีการระบาดของเชื้ออย่างรวดเร็ว อีกทั้งไวรัสโคโรนาสามารถกลายพันธุ์ง่ายเพราะมีโครงสร้างไม่ซับซ้อน มีโอกาสที่เชื้อจะพัฒนาและกลับมาระบาดได้อีก ซึ่งไวรัสนี้สามารถติดได้จากคนสู่คนผ่านทางการสัมผัสละอองเสมหะ (droplets) ที่มีเชื้อไวรัสเข้าทางตา จมูก ปาก ดังนั้นจะเห็นว่าการใช้หน้ากากอนามัยนับเป็นแนวทางหนึ่งที่สามารถป้องกันการรับเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกาย และช่วยชะลออัตราการขยายตัวของจำนวนผู้ป่วยได้ และแม้ไทยจะมีห่วงโซ่การพัฒนาหน้ากากอนามัยสำหรับการกรองละเอียดในอากาศค่อนข้างจะครบวงจร แต่ไม่มีเทคโนโลยีในการผลิตแผ่นเมมเบรนขั้นสูง ยังคงต้องนำเข้าแผ่นเมมเบรนสำหรับการกรองรูปแบบต่างๆ เพื่อมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์หน้ากาก ทำให้ประเทศไทยสูญเสียดุลการค้าและเป็นผู้ตามในด้านนวัตกรรมการกรอง และส่งผลเมื่อประเทศต้องเผชิญวิกฤตตั้งแต่ฝุ่น PM 2.5 จนถึงปัจจุบันที่ COVID-19 ระบาด ซึ่งความต้องการใช้หน้ากากอนามัยเพิ่มสูงจนขาดแคลนในที่สุด ดร.วรล อินทะสันตา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยวัสดุผสมและการเคลือบนาโน กลุ่มวิจัยวัสดุผสมและการเคลือบนาโน ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (ศน.) สวทช. มองว่า ไทยต้องการหน้ากากที่สามารถทั้งกรองอนุภาคฝุ่นละอองและฆ่าเชื้อไวรัสได้ และได้มาตรฐานสากล […]