NANOTEC Newsletter ฉบับที่ 34 ประจำเดือนพฤศจิกายน 2566: Cover Story
จากเปลือกหอยแมลงภู่ที่เป็นขยะทับถมในชุมชน จับคู่กับขยะพลาสติกชีวภาพจากอุตสาหกรรมการพิมพ์สามมิติ กลายเป็นผลิตภัณฑ์รักษ์โลกที่มีคุณภาพ สร้างโอกาสและรายได้ให้กับหลายภาคส่วน NANOTEC Newsletter ฉบับนี้ จะพาไปคุยกับ “ดร. บาส-ชุติพันธ์ เลิศวชิรไพบูลย์” นักวิจัยจากทีมวิจัยการวินิจฉัยระดับนาโน กลุ่มวิจัยวัสดุตอบสนองและเซ็นเซอร์ระดับนาโน ผู้พัฒนา“Re-ECOFILA เส้นพลาสติกรักษ์โลกสำหรับเครื่องพิมพ์สามมิติ” ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สู่นวัตกรรมตอบ BCG เศรษฐกิจหมุนเวียน-สีเขียว ช่วยคืนชีพขยะ PLA จัดการขยะเปลือกหอยแมลงภู่ในชุมชน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรมอย่างยั่งยืน Re-ECOFILA มาจากงานวิจัย “เส้นพลาสติกสำหรับเครื่องพิมพ์สามมิติผลิตจากขยะเปลือกหอยแมลงภู่และขยะพลาสติกชีวภาพ” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง สวทช. โดยนาโนเทค และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยศาสตราจารย์ ดร. สนอง เอกสิทธิ์ ที่มีแนวคิดการใช้ประโยชน์ไบโอแคลเซียมคาร์บอเนตจากเปลือกหอยแมลงภู่ที่ได้ทำงานวิจัยมาก่อนหน้านั้น จากความเป็นไปได้สำหรับเทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติ โดยจะไปแทนที่แคลเซียมคาร์บอเนตจากหินปูนที่ใช้ในกระบวนการผลิตพอลิเมอร์ ข้อมูลจากกลุ่มสถิติการประมง กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พบว่า ประเทศไทยผลิตหอยแมลงภู่เฉลี่ยมากกว่า 50,000 ตันต่อปี โดยน้ำหนักมากกว่าครึ่งเป็นน้ำหนักของเปลือกหอย ทำให้เกิดขยะเปลือกหอยสะสมเป็นจำนวนมากตามพื้นที่ชุมชนที่ประกอบอาชีพเลี้ยงหอยและแกะเนื้อหอยขาย ส่งผลเสียต่อคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน ปัจจุบัน วิธีการเดียวที่จะนำเปลือกหอยแมลงภู่ไปใช้ประโยชน์คือ การรับซื้อในราคาถูกเพื่อนำไปถมที่ “แคลเซียมคาร์บอเนต (CaCO3) ถูกใช้เป็นสารเติมแต่ง (additive) ในอุตสาหกรรมพอลิเมอร์ […]