นาโนเทคพัฒนาเทคนิคเคลือบฟิล์มบาง เพิ่มประสิทธิภาพเซลล์แสงอาทิตย์
นักวิจัยนาโนเทค สวทช. พัฒนาเทคนิคการเคลือบแบบสารละลายรูปวงเดือนสำหรับการเคลือบฟิล์มบางสารกึ่งตัวนำไฟฟ้าแบบสารละลาย ช่วยจัดเรียงอนุภาคระดับไมโครเมตรถึงนาโนเมตรของพอลิเมอร์และควอนตัมดอตให้เก็บพลังงานจากแสงได้ที่ความยาวคลื่นกว้างขึ้น ปูทางพัฒนาเซลล์แสงอาทิตย์ชนิดเพอรอฟสไกต์ที่ประสิทธิภาพ-เสถียรภาพสูงขึ้นเทียบเคียงชนิดซิลิคอน แต่ต้นทุนถูกกว่า หวังสร้างนวัตกรรมไทยใช้เอง ไม่ง้อของนอก กระแสพลังงานหมุนเวียนที่จะเป็นพระเอกในยุคที่ทั่วโลกต้องช่วยกันลดใช้พลังงาน และพัฒนาพลังงานทางเลือกให้ตอบความต้องการ แสงแดดเป็น 1 ในตัวเลือก ที่นำสู่การวิจัยและพัฒนา “เซลล์แสงอาทิตย์” ตัวช่วยเก็บและแปลงแสงแดดเป็นพลังงาน ดร. อนุศิษย์ แก้วประจักร์ ทีมวิจัยนวัตกรรมเคลือบนาโน กลุ่มวิจัยวัสดุผสมและการเคลือบนาโน ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช) กล่าวว่า เซลล์แสงอาทิตย์มีอยู่ 3 รุ่น รุ่นแรก เป็นเซลล์แสงอาทิตย์ที่ทำจากผลึกซิลิคอน ที่เดิมมีต้นทุนสูงมาก ด้วยต้องใช้ซิลิคอนความบริสุทธิ์สูง อุณหภูมิในการหลอมเหลวสูง และกระบวนการที่ซับซ้อน ทำให้ราคาสูงในช่วงแรก แต่ปัจจุบัน เริ่มจับต้องได้ รุ่นที่ 2 เป็นเซลล์แสงอาทิตย์ฟิล์มบาง ที่ใช้กระบวนการเตรียมฟิล์มบางในสุญญากาศสูง ใช้สารที่มีราคาแพงและสารบางตัวมีความเป็นพิษสูง และสุดท้ายคือ เซลล์แสงอาทิตย์อุบัติใหม่ […]