เครือข่ายความร่วมมือ
นาโนเทคให้ความสำคัญกับการสร้างพันธมิตร ที่จะเป็นเครือข่ายความร่วมมือทั้งในระดับชาติ และนานาชาติ หนึ่งในพันธกิจสำคัญของนาโนเทคคือ การทำงานใกล้ชิดกับพันธมิตร เพื่อส่งเสริมให้เกิดกิจกรรม ความร่วมมือด้านนวัตกรรมนาโนเทคโนโลยี ที่จะเป็นประโยชน์ร่วมกันไม่ว่าจะเป็นการสร้างผลกระทบระดับโลก และสร้างแนวร่วมกับนาโนเทคที่จะขับเคลื่อนและก้าวหน้าไปด้วยกัน ซึ่งกิจกรรมต่างๆ เหล่านี้ จะมุ่งเน้นทั้งโครงการร่วมวิจัย โครงการความร่วมมือต่างๆ รวมถึงการแลกเปลี่ยนนักวิจัย ทั้งในระดับทวิภาคี และพหุภาคี
เครือข่ายความร่วมมือระดับชาติ
โครงการศูนย์เครือข่ายการวิจัยและพัฒนาด้านนาโนเทคโนโลยี
(Research Network of Nanotechnology : RNN)
ศูนย์นาโนเทคได้จับมือกับ 11 ศูนย์เครือข่าย จาก 7 มหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สถาบันวิทยสิริเมธี, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
โดยมีเป้าหมายของความร่วมมือคือเกิดเครือข่ายวิจัยเฉพาะทางที่ทำงานวิจัยร่วมกันกับนาโนเทค-สวทช. เพื่อสร้างฐานเทคโนโลยี และต่อยอดผลงานไปสู่การใช้ประโยชน์ และเกิดผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ มุ่งเน้น 5 ขอบข่ายวิจัย ได้แก่ นาโนเทคโนโลยีเพื่อการแพทย์และสาธารณสุข, นาโนเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม, นาโนเทคโนโลยีเพื่ออาหารและการเกษตร, นาโนเทคโนโลยีเพื่อมาตรวิทยาและการวิเคราะห์ทดสอบ และนาโนเทคโนโลยีเพื่อพลังงาน
เครือข่ายความร่วมมือระดับนานาชาติ
ศูนย์นาโนเทคมีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย ศูนย์วิจัย และภาคเอกชนใน 13 ประเทศทั่วโลก ได้แก่ ออสเตรเลีย เบลเยี่ยม แคนาดา จีน ฝรั่งเศส เยอรมนี อิหร่าน อิตาลี ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ สวิสเซอร์แลนด์ และสหราชอาณาจักร