เอกชนติดอาวุธให้กับผลิตภัณฑ์เพื่อการเกษตรด้วย “นวัตกรรม” สร้างความแตกต่างในตลาดที่มีมูลค่าหลักหมื่นล้านบาท NANOTEC Newsletter ฉบับนี้จะพาไปคุยกับดร. อุรชา รักษ์ตานนท์ชัย ผู้อำนวยการนาโนเทค สวทช., คุณตรีพิพัฒน์ ศิลปการสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟ้าอรุณ พืชผลเพื่อไทย จำกัด และดร. คมสันต์ สุทธิสินทอง จากทีมวิจัยเกษตรนาโนขั้นสูง กลุ่มวิจัยวัสดุผสมและกระบวนการนาโน ถึงที่มาและความก้าวหน้าในการผลักดัน “ปุ๋ยคีเลตธาตุอาหารรอง-เสริม” ผลงานวิจัยจากนาโนเทค สวทช. ที่ร่วมมือด้านวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ชูกลยุทธ์เสริมนวัตกรรมรับเทคโนโลยี-สิ่งแวดล้อมเปลี่ยน สร้างความยั่งยืนให้ธุรกิจ ต่อยอดสู่ “ปุ๋ยน้ำสำหรับโดรน” รับการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี โดย นาโนเทคเองก็ขับเคลื่อนนโยบายด้านการวิจัยและพัฒนาตอบโจทย์ “การเกษตร” ซึ่งเป็นเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ วางทิศทางการวิจัยด้านนาโนเทคโนโลยีเพื่อการเกษตร รองรับการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและความต้องการของเกษตรแปลงใหญ่
เทคโนโลยีและเกษตรแปลงใหญ่ กลายเป็นโจทย์ท้าทายของทั้งภาคธุรกิจ รวมถึงภาคการวิจัยและพัฒนาเพื่อตอบความต้องการและความท้าทายใหม่ ดร. อุรชา รักษ์ตานนท์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า สวทช. เป็นขุมพลังหลักของประเทศด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ในการพัฒนาระบบนิเวศวิจัยและนวัตกรรมให้เข้มแข็ง ตามนโยบายที่ นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้มอบไว้คือ “เอกชนนำ รัฐสนับสนุน” เพิ่มบทบาทการทำงานเชิงรุกผลักดันงานวิจัยให้เข้าถึงประชาชนและใช้ประโยชน์ในวงกว้าง สำหรับเกษตรกรรมซึ่งเป็นเศรษฐกิจฐานรากของประเทศไทย ยังตอบกลยุทธ์ NANOTEC Flagship ที่มี 4 Strategic Focus คือ สารสกัดสมุนไพร ชุดตรวจสุขภาวะ น้ำและสิ่งแวดล้อม รวมถึงเกษตรและอาหาร
“การวิจัยด้านนาโนเทคโนโลยีเพื่อการเกษตร รองรับการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและความต้องการของภาคการเกษตรไทย อาทิ โดรน เครื่องมืออัตโนมัติ กึ่งอัตโนมัติ หรือเกษตรแปลงใหญ่ ที่จะช่วยเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนให้กับเกษตรกร รวมถึงสร้างมูลค่าให้กับทั้งห่วงโซ่การผลิต นับเป็นความท้าทายใหม่ที่เราวางแผนการทำงานอย่างเต็มที่ รวมถึงกลยุทธ์ขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์งานวิจัยและโครงสร้างพื้นฐานร่วมกับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายภายใต้บทบาท solution partner อีกด้วย ซึ่งหนึ่งในตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ พันธมิตรนวัตกรรมอย่าง บริษัท ฟ้าอรุณ พืชผลเพื่อไทย จำกัด” ผู้อำนวยการนาโนเทคย้ำ
นางตรีพิพัฒน์ ศิลปการสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟ้าอรุณ พืชผลเพื่อไทย จำกัด กล่าวว่า ฟ้าอรุณฯ เป็นผู้นำทางด้านการผลิตปุ๋ยและสารปรับปรุงดิน ธาตุอาหารรอง-เสริม การทำงานร่วมกับเกษตรกรไทย ทำให้เราอยากให้เขาทำแล้วมีกำไร ขายผลผลิตทางการเกษตรแล้วมีเงินเหลือใช้ มีคุณภาพชีวิตที่ดี ลืมตาอ้าปากได้ และไปได้ไกลเหมือนเกษตรกรของญี่ปุ่น อิสราเอล และประเทศอื่นๆ ที่ประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยให้เกษตรกรรมไทยมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น แม้เราเก่งด้านการทำตลาด แต่ในมุมวิชาการ เราต้องการความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งมีนักวิจัยที่เก่งด้านวิจัย ที่จะสร้างผลิตภัณฑ์นวัตกรรมเพื่อการเกษตรและยกระดับการเกษตรของไทยอย่างยั่งยืน
เมื่อฟ้าอรุณฯ ต้องการสร้างความแตกต่างให้กับผลิตภัณฑ์ นวัตกรรมจึงเป็นคำตอบ จากการแนะนำของเพื่อนให้รู้จักกับศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งมีงานวิจัยและนวัตกรรมหลายๆ อย่างทางด้านการเกษตร ทำให้ฟ้าอรุณฯ ได้ต่อยอดงานวิจัย “สารคีเลตจุลธาตุอาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อเพิ่มการดูดซึมเข้าสู่พืช” ที่จดสิทธิบัตรแล้ว โดยร่วมมือกับ ดร. คมสันต์ สุทธิสินทอง หัวหน้าทีมวิจัยเกษตรนาโนขั้นสูง (Advanced Nano Agriculture, ANA) กลุ่มวิจัยวัสดุผสมและกระบวนการนาโน สู่ผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ด้านเกษตรแปลงใหญ่เพื่อลดต้นทุนให้กับเกษตรกร
“ตลาดรวมปัจจัยการผลิตเพื่อการเกษตรมีมูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท ซึ่งตลาดใหญ่เป็นกลุ่มยาฆ่าหญ้าที่มีมูลค่าราว 1 แสนล้านบาท ในขณะที่ตลาดปุ๋ยธาตุรอง/เสริม ที่เรามีส่วนแบ่งตลาดนั้น มีมูลค่าราว 4-5 หมื่นล้านบาท โดยหากนับจากแบรนด์ของฟ้าอรุณเอง จะมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ 0.5% ของมูลค่าตลาดปุ๋ยธาตุรอง/เสริม แต่หากมองภาพมูลค่ารวมของแบรนด์ลูกค้ากลุ่ม OEM ที่มีมากกว่า 200 บริษัท รวมกว่า 300 แบรนด์ เราครองส่วนแบ่งการตลาดถึง 10% ของตลาดรวม ซึ่งหากพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่มีความโดดเด่นก็จะเติบโตคู่ขนานทั้งในเชิงธุรกิจ และคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทย” กรรมการผู้จัดการ ฟ้าอรุณฯ กล่าว
นางตรีพิพัฒน์กล่าวว่า เราต่อยอดงานวิจัยปุ๋ยนาโนคีเลตออกมาเป็นสูตรที่เน้นใช้ร่วมกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น ปุ๋ยคีเลตใช้ร่วมกับโดรนทางการเกษตร และ ปุ๋ยคีเลตทางระบบน้ำ เพื่อจุดประสงค์สำคัญคือการพัฒนาเกษตรแปลงใหญ่ของไทย ที่จะช่วยควบคุมต้นทุนการผลิต และเพิ่มกำไรให้กับเกษตรกรได้ นอกจากนี้ยังตอบความต้องการหลักของเกษตรกรที่ต้องการประสิทธิภาพที่เห็นได้จริง โดยที่นวัตกรรมจะเป็นจุดแข็งของฟ้าอรุณฯ เช่นเดียวกับความร่วมมือกับนาโนเทค สวทช. ที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า ที่ผ่านมา ผลิตภัณฑ์ที่ใช้นวัตกรรมดังกล่าวได้รับการตอบรับที่ดีมากจากลูกค้า และเกษตรกรทุกกลุ่ม
นอกจากนี้ ฟ้าอรุณฯ ยังวางเป้าหมายรายปีที่จะพัฒนานวัตกรรมด้านปุ๋ยออกสู่ตลาดอย่างน้อย 5 นวัตกรรม รวมถึงการสร้างนวัตกรรมด้านอื่นที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร อาทิ แอพพลิเคชั่นปุ๋ยยา หรือนวัตกรรมด้านบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น ด้วยมองว่า โลกเปลี่ยนแปลงไปทุกวัน สภาพแวดล้อมและพฤติกรรมผู้บริโภคก็เปลี่ยนเช่นกัน ผลิตภัณฑ์ของเราที่อยู่ในด้านเกษตรกรรม เกี่ยวข้องกับคน สิ่งแวดล้อม เราก็ต้องปรับ เพราะไม่ได้ขายแค่วันนี้ แต่อยากโตแบบยั่งยืนไปพร้อมเกษตรกรไทย การมองแนวโน้มเทคโนโลยีของโลกแล้วขยับตามจึงเป็นสิ่งจำเป็น เช่นเรื่องของโดรน
“โดรนเป็นเทรนด์ที่กำลังมา ด้วยข้อจำกัดเรื่องแรงงานที่หายากขึ้น เกษตรกรสูงอายุขึ้นและขาดคนสานต่อ รวมถึงเทรนด์สุขภาพ ที่คนห่วงการทำงานกับปุ๋ยหรือสารเคมี โดรนจะเข้ามาลดข้อจำกัดนี้ ซึ่งเราก็ต้องมาคิดหาผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับการทำงานของโดรน” ผู้บริหาร ฟ้าอรุณฯ เผย
โดรนที่ขึ้นบินจะพ่นปุ๋ยเหลวไปยังพื้นที่การเกษตร ซึ่งมี 2 ปัญหาที่พบคือ เมื่อพ่นแล้วเกิดการฟุ้งกระจาย ทำให้เกิดการสูญเสียผลิตภัณฑ์ไประหว่างการฉีดพ่น และสารที่ฉีดพ่นนั้น ไม่สามารถซึมผ่านชั้นแวกซ์ของใบพืชได้ พืชก็จะดูดซึมไปใช้งานได้น้อย ประสิทธิภาพไม่ดีเท่าที่ควร จาก Pain Point เหล่านี้ ฟ้าอรุณฯ ได้ร่วมกับนาโนเทค พัฒนาปุ๋ยนาโนคีเลตที่มีประสิทธิภาพในการแทรกซึมเข้าสู่เซลล์พืชได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่ง ณ ปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้ออกสู่เชิงพาณิชย์เรียบร้อยแล้ว
สำหรับปุ๋ยนาโนคีเลต ผลงานของ ดร. คมสันต์ สุทธิสินทอง จากทีมวิจัยเกษตรนาโนขั้นสูง กลุ่มวิจัยวัสดุผสมและกระบวนการนาโน นาโนเทค สวทช. เป็นการต่อยอดงานวิจัย “สารคีเลตจุลธาตุอาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อเพิ่มการดูดซึมเข้าสู่พืช” ที่แก้ปัญหาการสูญเสียและไม่ค่อยได้ประสิทธิภาพของการเติมจุลธาตุอาหารให้กับพืช ด้วยธาตุอาหารกลุ่มนี้ตกตะกอนง่าย พืชไม่สามารถดูดซึมไปใช้ได้อย่างเต็มที่ ปุ๋ยนาโนคีเลตพัฒนาขึ้นจากการใช้อนุพันธ์ของกรดอะมิโนซึ่งเป็นหน่วยย่อยขององค์ประกอบประเภทโปรตีนของสิ่งมีชีวิตทุกชนิด ผ่านกระบวนการห่อหุ้มจุลธาตุอาหารในรูปแบบสารเชิงซ้อน ให้อยู่ในรูปที่ละลายน้ำได้ดี พร้อมพัฒนาให้สามารถห่อหุ้มจุลธาตุอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มความสามารถในการยึดเกาะใบด้วยสารโมเลกุลขนาดใหญ่สลายตัวได้ตามธรรมชาติ จึงสามารถเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรต่อไร่ได้ 20-50% โดยมีการพัฒนาต่อเนื่อง ให้เหมาะกับพืชผลไม่ว่าจะเป็น ทุเรียน ข้าว และเตรียมขยายสู่พืชเศรษฐกิจของไทยอย่างมันสำปะหลัง อ้อย ในอนาคต
“การพัฒนาปุ๋ยหรือปัจจัยการผลิตต่างๆ ให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีทางด้านการเกษตรสมัยใหม่ เป็นเรื่องที่ท้าทาย และเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องวิจัยและพัฒนาเป็นลำดับต้นๆ ทั้งนี้เนื่องจากเกษตรกรรมเป็นเศรษฐกิจฐานรากของคนไทย การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ด้านประสิทธิภาพจะช่วยควบคุมต้นทุน และเพิ่มผลกำไรให้กับเกษตรกรได้อย่างมีนัยสำคัญ” ดร.คมสันต์กล่าว พร้อมย้ำว่า การผลักดันงานวิจัยและเทคโนโลยีด้านการเกษตรออกสู่ภาคเกษตรของไทย จะช่วยให้เกษตรกรต่อสู้กับปัญหาสำคัญต่างๆ เช่น ปัญหาโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งกำลังเป็นประเด็นสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตและรายได้ของเกษตรกรได้อย่างยั่งยืน