วิกฤตโควิด-19 นอกจากจะมีผลกระทบต่อการทำงานภายใน ศน. เอง ยังมีผลกระทบกับคนที่ต้องทำงานร่วมกับหน่วยงานภายนอก ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานอื่นๆ ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) หน่วยงานเครือข่ายพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงภาคธุรกิจที่เข้ามาร่วมวิจัย รับถ่ายทอดเทคโนโลยี หรือใช้บริการต่างๆ ของ ศน. ที่วิถีการทำงานแบบ New Normal ในช่วงวิกฤตนี้ แตกต่าง และมีข้อจำกัดมากมาย ที่หลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็น BITT, PTRD, AAF และ ICO ในครั้งนี้ NANOTEC e-Newsletter No.3 จะพาทุกคนไปฟัง “พี่จูน-ดร.ภาวดี อังค์วัฒนะ” รองผู้อำนวยการด้านสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (ศน.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พูดคุยถึงนโยบายและการปรับตัวในการทำงานร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรต่างๆ ท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงไปทั่วโลก
ถาม : สวัสดีค่ะ พี่จูน อยากให้ช่วยเล่าถึงนโยบายและการปรับตัวในการทำงานของ ศน. ที่ต้องร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรต่าง ๆ ท่ามกลางการระบาดของโรคโควิด–19 ค่ะ
ตอบ : สวัสดีค่ะ จริงๆ ต้องบอกว่า เราเริ่มขยับกันตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา หลายๆ องค์กร รวมทั้ง สวทช. ที่ต่างขานรับนโยบายของรัฐบาล “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” และ สวทช. รวมทั้ง ศน.เองก็ได้ขานรับนโยบาย WFH (Work From Home) ซึ่งสามารถช่วยแก้ปัญหาและลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสที่อาจพบเจอระหว่างเดินทางมาทำงานที่สำนักงานฯ
พวกเราชาวฝ่ายสนับสนุนนั้น มีความเห่อวิถีชีวิตการทำงานรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า WFH เพียงชั่วระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น ประมาณการณ์ว่า มากสุดไม่เกิน 2 สัปดาห์ จำได้ว่าเมื่อ รอง ผพว. (ดร.ลดาวัลย์) ประกาศฯ นโยบายช่วงสัปดาห์แรก ๆ ว่า สนับสนุนให้มีการ WFH ได้ถึง 50% น้อง ๆ พนักงานฝ่ายสนับสนุนก็มีการถกกันหน้าดำหน้าแดงว่า สัปดาห์ไหนที่ตนจะ WFH บ้าง
ผลก็ออกมาว่า มีการทะเลาะกันเล็กน้อยด้วยเรื่องไม่มีใครอยาก WFH ติด ๆ กัน บ้างก็บอกว่า ไม่อยากเขียน Daily Report บ้างก็ว่าอยู่บ้านคนเดียว มันไม่ชินเอาซะเลย ทำตัวไม่ถูก เดินไปเดินมา กินของในตู้เย็นจนหมดตู้ พอคิดขึ้นมาได้ว่าของหมดจะออกไปซื้อ ก็ติดเคอร์ฟิวซะงั้น
พี่เลยสรุปเอาว่า การ WFH เป็นเรื่องใหม่ที่ทุกคนไม่คาดคิดว่า มันจะเป็นปัญหา ไม่เป็นดังที่เคยวาดฝันเอาไว้ อย่างไรก็ดี พวกเราก็พยายามปฏิบัติตามนโยบายองค์กร และรอฟังประกาศฯ ว่าช่วงเดือนต่อไปว่าสถานการณ์อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น
ถาม : สถานการณ์ที่เปลี่ยนไป แผนการทำงานที่เปลี่ยนไป การประสานงานหรือดูแลสนับสนุนพันธมิตรของเรา ต้องปรับตัวไปในทิศทางไหนคะ
ตอบ : เราปรับตัวเก่งค่ะ พันธมิตรเราก็เช่นกัน ดังเช่นในเดือนเมษายนนั้น พบว่า พันธมิตรภาคเอกชนที่ติดต่อประสานงานกับ ศน. ได้มีการปรับตัวไปในทิศทางที่เป็นบวกกับพวกเรา เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้บุคคลสำคัญของบริษัทฯ ภาคเอกชนหลาย ๆ แห่งมีการยกเลิกทริปที่ต้องเดินทางไปติดต่อลูกค้าในต่างประเทศทั้ง 100% จึงเป็นสาเหตุให้พวกท่านมีเวลาทบทวนถึง “พันธมิตรใกล้ตัว” เช่นพวกเราที่อยู่ห่างเพียงแค่ จ.ปทุมธานี จึงได้ขอเข้ามาพูดคุย หารือ ความเป็นไปได้ในโครงการวิจัยต่าง ๆ ที่พวกท่านเคยคิดว่าอยากจะดำเนินการ แต่ยังไม่มีโอกาส
ช่วงเวลาที่ผ่านมานี้ จึงพบว่า ศน. มีโอกาสได้ต้อนรับพี่ใหญ่ระดับประธานบริหารของเครือบริษัทฯ ที่หากเอ่ยนามแล้ว แทบไม่มีใครที่จะไม่รู้จัก ทยอยเข้ามาเยี่ยมชม ดูงาน และหารือกับทีมวิจัยอย่างใกล้ชิด จนกระทั่งพัฒนาไปเป็นโครงการรับจ้างวิจัยและร่วมวิจัยหลายโครงการ
ถาม : แล้วอนาคตต่อจากนี้ มีการเตรียมแผนการทำงานของ ศน. ที่ต้องร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรต่าง ๆ ไว้มากน้อยแค่ไหนคะ
ตอบ : ในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ที่สำนักงานฯ ยังใช้นโยบาย WFH อยู่อีกบ้างเป็นจำนวนหนึ่ง พนักงานสวทช.เช่นพวกเรา มีความภูมิใจและมักจะชอบคิดกันไปว่า “หากคุณหมอและบุคลากรสาธารณสุข สธ. ไม่หยุด พวกเรากระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ก็ไม่เคยคิดจะหยุดเช่นกัน” นักวิทยาศาสตร์ นักเทคโนโลยีอย่างพวกเรามีการเตรียมพร้อมโดยอาศัยเทคโนโลยีในมือให้เป็นประโยชน์ มีการฝึกให้ใช้โปรแกรมการประชุมออนไลน์ (Online Conference) เช่น Webex Meeting, Webex Team, หรือแม้แต่โปรแกรมการประชุมยอดฮิต เช่น Zoom และ Microsoft Team ก็มีการใช้กันบ้างขึ้นอยู่กับเจ้าภาพที่เราประชุมด้วยว่าจะเลือกใช้โปรแกรมใด
มาถึงวันนี้ แม้ว่าสถานการณ์ของโรคโควิด-19กำลังจะผ่านไป แต่เราก็ต้องยอมรับว่า วิถีชีวิตเราจะไม่ได้กลับไปเป็นเช่นเดิมแล้ว ผู้ที่อยู่รอดผ่านวิกฤตนี้ไปได้ คือ ผู้ที่สามารถปรับ mindset เปิดตัว ปรับใจรับสิ่งใหม่ เป็นผู้ที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ไม่ยึดติดกับความสำเร็จหรือรูปแบบการทำงานในอดีต แต่สามารถนำสิ่งเหล่านั้นมาเป็นประสบการณ์และปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสถานการณ์ได้นั่นเอง