วิกฤตการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 (COVID-19) ส่งผลกระทบต่อการทำงานในทุกภาคส่วน ทุกองค์กร แน่นอนว่า การติดต่อประสานงานระหว่างองค์กร ที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องอาจต้องหยุดชะงัก
NANOTEC e-Newsletter ฉบับนี้ ชวน “พี่เด็ด-ชาญณรงค์ พรหมขันธ์” รักษาการผู้จัดการ งานประสานความร่วมมือระหว่างองค์กร (AAF) ศน. มาเล่าถึงแนวทางการปรับตัว เปลี่ยนแผนการทำงานรับมือวิกฤตครั้งนี้
ถาม : การทำงานของ AAF ในช่วงเวลาที่ผ่านมา จนถึงตอนนี้ มีการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวอย่างไรบ้างคะ
ตอบ : ถ้าถามว่า ในบริบทการปรับตัวสำหรับการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรของ ศน. ในช่วงระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ผ่านมาเป็นอย่างไร ต้องยอมรับว่า มีการเปลี่ยนแปลงในบริบทการทำงาน แต่เป้าหมายการทำงานยังคงเช่นเดิม ทั้งในเชิงการรักษาพันธมิตรเดิมและเพิ่มพันธมิตรใหม่ ที่เน้นหน่วยงานพันธมิตรที่มีพลังงัดร่วมขับเคลื่อนกิจกรรมที่สำคัญของ พร้อมทั้งมุ่งเน้นปรับกิจกรรมที่มุ่งตอบโจทย์ของประเทศดังกล่าวมากขึ้น โดยเฉพาะโจทย์วิจัยเพื่อแก้ปัญหาโรคโควิด-19 และการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมหลังการระบาดของโรคโควิด-19 มากขึ้นครับ
โดยงานประสานความร่วมมือระหว่างองค์กร (AAF) ซึ่งมีหน้าที่หลักในการสร้าง ขยาย และบริหารสัมพันธ์กับหน่วยงานพันธมิตร (partner) หรือผู้มีส่วนได้เสีย (stakeholder) เพื่อสนับสนุนให้กิจกรรมหลักเป็นไปด้วยความราบรื่น โดยเฉพาะคณะกรรมการบริหาร ศน. ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีส่วนในกระบวนการตัดสินใจเชิงนโยบายและให้ข้อเสนอแนะต่อแผนงานของ ศน. โดยมีส่วนร่วมในการกำหนดประเด็นเชิงนโยบายและแผนงานวิจัยรับมือวิกฤตโรคโควิด 2019 ด้วยนาโนเทคโนโลยี ให้กรรมการบริหาร ศน. ร่วมพิจารณาและให้ข้อเสนอแนะ พร้อมทั้งยังเป็นการสร้างการรับรู้ให้กรรมการบริหาร ศน. และร่วมผลักดันแผนงานวิจัย และโครงการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19
ถาม : การเปลี่ยนแปลงนี้ ทำให้ทำงานของ AAF ยากขึ้นไหมคะ
ตอบ : กิจกรรมการประสานงานความร่วมมือระหว่างองค์กรที่ผ่านมา ตระหนักถึงการบริหารความสัมพันธ์ในช่วงสถานการณ์วิกฤตที่ทุกคนเว้นระยะห่างทางสังคม ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า สวทช. เป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีมาตรการป้องกันและรองรับการปฏิบัติงานในระหว่างการระบาดโรคโควิด 19 ได้ดีมาก ทั้งแผนงานรองรับการ work from home เพื่อลดความเสี่ยงระบาดของโรคของพนักงานในงานของเรา เช่น เทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
รวมทั้งการปลดล็อคให้เกิดการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านระเบียบ สวทช. ว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2563 ก่อนที่จะมีพระราชกำหนดว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2563 อย่างที่พวกเราทุกคนทราบ ซึ่งถือเป็นประโยชน์ต่อการจัดการประชุมเพื่อขับเคลื่อนงานอย่างมาก ไม่เพียงเฉพาะงานประสานความร่วมมือระหว่างองค์กรเท่านั้นที่ใช้รูปแบบการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้งานยังคงเดินต่อไปได้โดยไม่ติดขัด ทั้งจัดการประชุมคณะกรรมการบริหาร ศน. คณะทำงานพัฒนาและยกระดับด้านอุตสาหกรรมโคนมด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม คณะกรรมการบริหารสถานร่วมวิจัย มทส.-นาโนเทค- สซ. เพื่อการใช้แสงซินโครตรอน และคณะกรรมการภาคีวิศวกรรมชีวการแพทย์ไทย เป็นต้น
ถาม : ในการบริหารความสัมพันธ์กับหน่วยงานพันธมิตรในช่วงสถานการณ์ที่ไม่ปกตินี้ ได้มุมมองและแง่คิดที่เป็นประโยชน์ต่อการบริหารงานอย่างไรบ้างคะ
ตอบ : หลักการบริหารความสัมพันธ์กับหน่วยงานพันธมิตรในช่วงวิกฤต ผมมองว่า ทุกหน่วยงานยิ่งต้องสร้างความร่วมมือกันทั้งกับหน่วยงานภายใน ศน. และหน่วยงานพันธมิตรเพื่อขับเคลื่อนองค์กรไปพร้อมกันในลักษณะผสานประโยชน์ร่วมกัน (win-win) ในทุกภาคส่วน สร้างความเข้าใจที่เอื้อประโยชน์ต่อกันมากขึ้น ที่ผ่านมาเข้าใจได้เลยว่าหลายองค์กรมีการปรับตัวพอสมควรมีแนวโน้มลดกำแพงความเป็นฝ่าย/งาน แต่เน้นการบูรณาการข้ามฝ่าย/งานมากขึ้น
นอกจากนี้ ประเด็นที่สำคัญคือการวิเคราะห์พันธมิตรที่สำคัญของ ศน. เพราะในหนึ่งโครงการหรือหนึ่งกิจกรรมมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่หลายหน่วยงาน
“ในแง่การทำงาน เราคิดเสมอว่า เราจะช่วยหรือสนับสนุนฝ่ายอื่นได้อย่างไร จะพยายามปรับและยืดหยุ่นงานเพื่อตอบโจทย์ภารกิจที่เร่งด่วนขององค์กร เพื่อร่วมผลักดันงานที่สำคัญ ตลอดทั้งตระหนักเสมอว่า จะมีแนวทางอย่างไรที่จะขับเคลื่อนกิจกรรมเพื่อประสานประโยชน์กับหน่วยงานอื่นๆ จากการเป็นพันธมิตรไปสู่ความเป็นกัลยาณมิตรร่วมทางกันเพื่อตอบโจทย์ปัญหาที่คาดว่าจะซับซ้อนขึ้นในอนาคต”