วิกฤตโควิด-19 ทำให้ธุรกิจต่างๆ ได้รับผลกระทบไม่น้อย บ้างเกิดการหยุดชะงัก บ้างต้องรีบทบทวนแผนรับมือเพื่อเดินหน้าต่อ ทำให้ส่วนที่ต้องเกี่ยวข้องในการดูแลพันธมิตรภาคธุรกิจอย่างฝ่ายธุรกิจนวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี (BITT) ก็ต้องปรับตัว เตรียมทีมเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงนี้
NANOTEC e-Newsletter No.3 นี้ ชวน “พี่เชอร์รี่-สุพินยา อุปลกะลิน” ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจนวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี (BITT) ของ ศน. มาแบ่งปันประสบการณ์การทำงานร่วมกับพันธมิตร จับมือกันก้าวผ่านห้วงวิกฤตนี้
ถาม : สวัสดีค่ะ พี่เชอร์รี่ อยากทราบว่า เมื่อโควิด-19 เริ่มระบาด BITT ดำเนินการเพื่อรับมืออย่างไรบ้างคะ
ตอบ : สวัสดีค่ะ ในช่วงแรกของการระบาดในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ สวทช. มีนโยบายในการดูแลพนักงานดีมาก ซึ่ง BITT เราปฏิบัติตามนโยบายเพื่อดูแลสวัสดิภาพของทีมเราก่อน ควบคู่กับศึกษาสถานการณ์และประเมินผลกระทบที่จะเข้ามา เพราะงานของฝ่าย BITT เกี่ยวกับคนนอกองค์กรเยอะมาก
การประเมินสถานการณ์ว่า หน่วยงานที่เราประสานและทำงานด้วยกันรวมถึงลูกค้าของเราจะเจอผลกระทบอะไรบ้าง ซึ่งสิ่งแรกที่เราทำคือ คุยกับน้องในทีมแบบรายโครงการเลยว่า ลูกค้าเราได้รับผลกระทบอะไร และผลกระทบนั้นจะส่งผลกลับมาที่เราแค่ไหน โดยที่น้องแต่ละคนจะต้องเช็คสถานะโครงการที่บริหารและดูแลอยู่ และประสานงานลูกค้า สอบถามสถานการณ์ เพื่อจะได้ช่วยกันแก้ไขปัญหาหรือปรับแผนงานร่วมกันได้ตั้งแต่เนิ่นๆ
ผลจากการศึกษาข้อมูลและประเมินสถานการณ์พบว่า ภาคเอกชนส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบด้านสภาพคล่อง ยอดขายผลิตภัณฑ์ลดลง จำกัดงบประมาณในกิจกรรมที่ไม่เกิดรายได้ในระยะสั้น ส่งผลต่อการทำวิจัยของบางบริษัทที่จะหยุดชะงักลง ซึ่งทีมเราก็คาดการณ์ไว้บ้างแล้ว และคิดถึงวิกฤตที่ลูกค้าเจอเป็นตัวตั้ง คิดถึงใจเขา-ใจเรา บวกกับระบบงานของฝ่ายเราที่ empower ให้น้องตัดสินใจบางเรื่องได้เอง เพื่อหาแนวทางดำเนินงานต่อไปให้ดีที่สุดในสภาวะนี้ เช่น ขอเลื่อนการขึ้นโครงการ ขยายระยะเวลา แทนที่จะยกเลิก แต่บางรายก็เจอผลกระทบหนักมากต้องยกเลิกโครงการกับเราก็มี
ถาม : แสดงว่า คนใน BITT ทุกคนเป็นกำลังหลัก และมีบทบาทสำคัญในการเตรียมความพร้อมกันใช่ไหมคะ
ตอบ : ใช่ค่ะ ฝ่ายเรามีการระดมสมองเพื่อจะให้มีข้อมูลในหลายมุมจากทุกคนในทีม ซึ่งมีความรู้ความสามารถแตกต่างกัน ไอเดียของคนใน BITT ที่มีมากกว่า 10 คนนั้น หลากหลายมาก แต่มีสิ่งที่เหมือนกันคือ เราคิดถึงลูกค้าก่อน และคิดถึงเป้าหมายของฝ่าย นี่คือหัวใจของคนที่ทำงานทีมนี้ ซึ่งนับว่า พี่โชคดี เพราะเมื่อสมาชิกในทีมคิดถึงในสองสิ่งนี้เหมือนกัน การวางแผนงานฟื้นฟูเพื่อให้ไปถึงเป้าหมายก้อไม่ยากเกินไปนัก
ผลจากการระดมสมองครั้งนั้น ถูกนำมาจัดวางให้เป็นแผนการรับมือ โดยครอบคลุมหลายมิติ อะไรด่วน อะไรสำคัญ ต้องเร่งทำก่อน จากนั้น ก็ต้องมีแผนฟื้นฟู เพื่อที่จะช่วยลูกค้า สนับสนุนงานของลูกค้าให้มากที่สุดเท่าที่ระบบนิเวศ (ecosystem) ในการทำงานของเราจะเอื้อ เพื่อรักษาลูกค้าและช่วยเหลือกันเพื่อเป็นพันธมิตรระยะยาวต่อไป
พี่มองว่า น้องในทีม BITT มีความขยันและรับผิดชอบสูง การทำงานกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งในและนอกองค์กรในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงสูง ทำให้ทีมเรามีการปรับแผนและยังต้องปรับการทำงานให้เป็นการทำงานจากที่บ้าน (Work from home: WFH) ซึ่งพี่รู้เลยว่า ต้องใช้พลังงานมากกว่าอยู่สำนักงาน โดยเฉพาะในช่วงปลายมีนาคม-เมษายนที่มีนโยบาย WFH 25%, 50%, 75% ก็ยังพบว่า ฝ่าย BITT เรามาทำงานที่สำนักงานกันเยอะมาก ขยันกัน จนพี่ต้องทำตาราง WFH เพื่อขอให้น้องๆ ทำงานที่บ้านมากขึ้น เพราะเราบริหารจัดการทีมกันแบบผู้ใหญ่ มีขอบเขตความรับผิดชอบและเนื้องานที่ชัดเจน ทำให้พี่ไว้ใจว่า ไม่ว่าทำงานที่ไหน เป้าหมาย (รายได้และการส่งมอบต่างๆ) จะอยู่ในใจเขาเสมอ (หัวเราะ) ซึ่งน้องบางคนบอกว่า อยู่บ้านแล้วร้อน สงสัยทั้งร้อนกายและร้อนใจ เพราะผลกระทบจากโควิดทำให้เราเสียรายได้ บางคนตกเป้ารายได้ แต่เราจะทำให้เต็มที่ที่สุด และผ่านไปด้วยกัน
ขอขอบคุณพี่จูน ดร.ภาวดี ผู้บังคับบัญชาในสายของพี่ ที่สนับสนุนงานและช่วยทีมในการฝ่าฟันปัญหาร่วมกันอย่างเต็มที่ และนอกจากทีม BITT แล้ว ต้องขอบคุณทุกฝ่ายใน ศน. ด้วยค่ะ ที่ช่วยทำให้การถ่ายทอดเทคโนโลยีจาก ศน .ไปสู่ลูกค้านั้น ผ่านอุปสรรคไปด้วยดี พี่ถือว่า เป็น Collaborative Effort ของ ศน. ค่ะ
ถาม : การทำงานแบบ New Normal จากวิกฤตนี้ มีผลกับการทำงานของ BITT ในอนาคตไหมคะ
ตอบ : ในวิกฤต มีโอกาส เป็นสิ่งที่จริงที่สุด อย่างน้อย มีเรื่องพี่เคยคิด นั่นคือ การใช้เทคโนโลยีมาช่วยให้ข้อมูลแก่ลูกค้า ที่เคยชักชวนให้ทีมลองทำ แต่เพราะยังไม่รีบและมีงานอื่นเข้ามาตลอดจึงยังไม่ได้ทำ จนกระทั่งช่วงที่เราต้อง WFH น้องๆ จะเจอปัญหาในการติดต่อสื่อสาร และในการระดมสมองก็มีข้อเสนอแนะในเรื่องนี้ออกมา โดยน้องๆเอง ดังนั้น จากกลยุทธ์บริหารการเปลี่ยนแปลง (Change Management Strategy) บอกว่า จะทำได้ดี ถ้ามาจากสิ่งที่เขาคิดริเริ่มเอง คราวนี้ก็คงได้เริ่มต้นเสียที
ในชีวิตการทำงาน พี่เห็นวิกฤตหลายครั้ง ทั้งวิกฤตต้มยำกุ้ง วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ปัญหาการเมือง การปรับเปลี่ยนระดับองค์กร ล่าสุดคือ โควิด-19 ซึ่งในบางวิกฤต ศน. เราเข้าไปมีบทบาทในการช่วยประเทศได้ด้วยผลงานวิจัยที่พร้อมปรับใช้ในเวลาวิกฤต แต่บางปัญหา ก็เป็นพวกเราซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยองค์กรแก้ปัญหา
“พี่อยากให้น้องๆ คิดดูว่า ในวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา มีหลายบริษัทปิดตัวลง มีการเลิกจ้างงาน แต่พวกเราโชคดีที่สำนักงานยังดูแลพวกเราเป็นอย่างดี ไม่รู้ว่า วันข้างหน้าพวกเราอาจจะเจออะไรที่ไม่แน่นอนอีก ดังนั้น ตอนนี้ทุกคนยังมีโอกาสแสดงศักยภาพในงานตัวเองรับผิดชอบ ขอให้ทุกคนทำงานเต็มที่ จะเป็นภูมิคุ้มกันของแต่ละคนเองที่จะผ่านความท้าทายในอนาคต ถ้าองค์กรอยู่ได้ เราก็อยู่ได้ ขอพลังจงอยู่กับพวกเราทุกคนนะคะ”