สถานการณ์ที่ทุกฝ่ายต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตและการทำงาน เพื่อรับมือวิกฤตโควิด-19 (COVID-19) ทำให้ทุกคนตื่นตัว และพร้อมก้าวไปข้างหน้าให้ทันสถานการณ์ NANOTEC e-Newsletter No.3 ขอพามาคุยกับ “พี่จอม-พงศ์สิทธิ์ รัตนกรวิทย์” ผู้อำนวยการฝ่าย ฝ่ายบริหารเทคโนโลยีฐานและเครือข่ายวิจัย (PTRD) ศน. กับแนวทางการทำงานที่ต้องปรับให้รับสถานการณ์นี้
ถาม : สวัสดีค่ะ พี่จอม อยากทราบว่า วิกฤตโควิด-19 กระทบการทำงานของ PTRD บ้างไหมคะ
ตอบ : สวัสดีครับ จากวิกฤตโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ฝ่ายบริหารเทคโนโลยีฐานและเครือข่ายวิจัย หรือคุ้นเคยในชื่อ PTRD เรายังดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ในช่วงที่โควิด-19 กำลังระบาดอย่างช่วงกลางเดือนมีนาคม เราได้เริ่มซักซ้อมการใช้งานประชุมผ่าน Webex จนมาถึงต้นเดือนเมษายน ที่สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศเริ่มรุนแรงขึ้น กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และ สวทช. ของเราก็ออกมาตรการต่างๆ มารองรับอย่าง ระยะห่างทางสังคม พวกในเราในฝ่าย ทำงาน WFH สลับกันไป
อย่างไรก็ดี ฝ่ายงาน PTRD ยังดำเนินการตามภารกิจ ได้แก่ 1. บริหารโปรแกรมวิจัย ของ ศน. Pillar Nanoscience and Nanotechnology (โครงการ Platform/prelim/Flagship) 2. บริหาร โปรแกรม TDG Cosmeceutical สวทช 3. บริหารโปรแกรม Integrated platform ในสาขา Sensor 4. บริหารเครือข่ายวิจัย (RNN) และ 5. การขอทุนวิจัยภายนอกจากภาครัฐ
ถาม : ในช่วงโควิด-19 ทาง PTRD ที่ดูแลเรื่องโครงการวิจัย มีงานวิจัยของเราที่เชื่อมโยงวิกฤตนี้ไหมคะ
ตอบ : ต้องบอกว่า ช่วงวิกฤตนี้ เราเป็นฟันเฟืองส่วนหนึ่งในกระบวนการให้เกิดโครงการวิจัย ที่ทีมวิจัยของ ศน. ได้ดำเนินการในช่วงโควิด-19 ขอยกตัวอย่างการทำงาน ดังนี้
การขอทุนวิจัยภายนอกจากภาครัฐ ซึ่งเมื่อเกิดวิกฤตใดๆ ขึ้น คนไทยจะไม่นิ่งดูดาย ใครทำอะไรได้ช่วยอะไรได้จะร่วมแรงร่วมใจกัน เมื่อเกิดโรคโควิด-19 หน่วยงานที่ให้ทุนวิจัยทั้งในและต่างประเทศได้ประกาศทุนวิจัยโควิด-19 อย่างเร่งด่วน เพื่อหวังว่า จะเกิดงานวิจัยนวัตกรรมมาใช้แก้ปัญหาที่เกิดขึ้น
โดยเมื่อต้นเดือนเมษายน 2563 วช. เป็นหน่วยงานแรกที่ได้ประกาศรับข้อเสนอทุนวิจัยและนวัตกรรมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เร่งด่วน ให้เวลาส่งข้อเสนอในช่วง 8–14 เมษายน 2563 เพียง 7 วัน ซึ่ง PTRD ช่วยประกาศและประสานในการส่งข้อเสนอโครงการ นักวิจัยของ ศน. ถึงแม้จะมีเวลาน้อย แต่ทีมวิจัยเรามีส่งข้อเสนอ 2 โครงการ โดยได้รับอนุมัติ 1 โครงการ คือ การพัฒนาหน้ากากอนามัยจากแผ่นกรองเส้นใยสมบัติพิเศษต้านเชื้อไวรัสและฝุ่น PM 2.5 และหลังจากนั้นแหล่งทุนต่างๆ ทยอยประกาศให้ทุนโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง รวมถึง วช. ที่ประกาศทุนวิจัยโควิด-19 รอบ 2 ทีมวิจัย ศน. มีส่งข้อเสนอโครงการไปอีก 5 เรื่อง เป็นที่น่าเสียดายที่รอบนี้โครงการของ ศน. ไม่ได้รับการอนุมัติ
ถาม : แล้วโปรแกรมอื่นๆ มีการเปลี่ยนแปลงไหมคะ
ตอบ : แต่ละโปรแกรมยังคงเดินหน้าต่อเนื่องครับ แต่ทุกฝ่ายต่างปรับตัวรับวิถีใหม่ (New Normal) อย่างพร้อมเพรียง เช่น โปรแกรมวิจัย ของ ศน. Pillar Nanoscience and Nanotechnology และโปรแกรม TDG Cosmeceutical สวทช. ที่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 โปรแกรม TDG Cosmeceutical ที่ ศน. ดำเนินการในภาพของ สวทช. ยังดำเนินการกันอย่างต่อเนื่อง โดยทีมเลขาของ TDG Cosmeceutical ได้จัดประชุมกับอนุกรรมการฯ TDG Cosmeceutical ต้นเดือนเมษายน เป็นการจัดการประชุม ผ่านระบบ Webex Meeting เป็นครั้งแรกของฝ่าย ซึ่งในขณะนั้นถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับพวกเรา แต่ในปัจจุบันนี้เป็นวิถีปกติในการทำงานไปแล้ว
สำหรับในโปรแกรม Pillar Nanoscience and Nanotechnology ในช่วงโควิด-19 มีสถานการณ์รุนแรงในประเทศ ทีมวิจัย ศน.ได้เสนองานวิจัย ที่มีพื้นมาจาก Nanotechnology Platform โดยพัฒนาออกมา 7 โครงการ (อ่านได้ใน NANOTEC e-Newsletter No.3) ผู้บริหาร ศน. ถือเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วน จึงได้อนุมัติ ผ่านกลไก seed money ทีมงาน PTRD ได้ช่วยดำเนินการร่วมกับฝ่ายงานอื่นๆ ในการดำเนินการให้เกิดกระบวนการอนุมัติโครงการ และดำเนินงานต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน
อีกด้านหนึ่ง การทำงานของโปรแกรม Integrated platform สวทช ในสาขาเซนเซอร์ (Sensor) นั้น ด้วยทีมงานวิจัย ของ ศน. ที่มีความสามารถในการพัฒนาชุดตรวจไข้หวัดใหญ่ เป็นองค์ความรู้ที่เดิมที่เป็นทุนอยู่แล้ว เมื่อเกิดวิกฤตโควิด-19 ทีมวิจัยของ ศน. เราจึงได้เสนอข้อเสนอโครงการใน โปรแกรม Integrated platform สวทช. ในสาขา Sensor ในเรื่องการพัฒนาชุดตรวจโรคอุบัติใหม่อุบัติซ้ำ โดยใช้เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 เป็นโมเดล โดยร่วมกับหน่วยงานทั้งภายในและภายนอก สวทช. ได้แก่ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ศช.) ศูนย์เทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของประเทศและการประยุกต์เชิงพาณิชย์ (NSD) คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
โดย PTRD ช่วยดำเนินการในกระบวนการในการพิจารณาให้ข้อเสนอโครงการอย่างเร่งด่วน โดยได้ความอนุเคราะห์จากผู้เชี่ยวชาญระดับประเทศในการช่วยพิจารณาประเมิน ให้ข้อคิดเห็น ที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงานของทีมวิจัย และโครงการนี้ได้รับอนุมัติให้ดำเนินการ ซึ่งเราก็หวังว่า ชุดตรวจที่ทีมวิจัยพัฒนาขึ้นนี้ จะประสบความสำเร็จ และนำไปสู่การใช้ประโยชน์ในอนาคต
ถาม : การทำงานร่วมกับพันธมิตรของเราจากทั่วประเทศอย่างเครือข่ายวิจัย RNN เปลี่ยนแปลงไปไหมคะ
ตอบ : เปลี่ยนแน่นอนครับ ด้วย ศน. เรามีเครือข่ายวิจัย RNN ที่เป็นพันธมิตรที่ร่วมกับเรามานาน เป็นการดำเนินในระยะที่ 3 จำนวน 11 เครือข่าย จาก 7 มหาวิทยาลัย เป็นที่ทราบกันว่าในช่วงโควิด-19 มหาวิทยาลัยทุกแห่งปิดทำการชั่วคราว ทำให้การประชุมติดตามความก้าวหน้าที่จัดประชุมตามมหาวิทยาลัยเจ้าภาพนั้น ต้องเปลี่ยนมาประชุมแบบออนไลน์เป็นครั้งแรก ซึ่งในช่วงก่อนการประชุมได้รับรู้ถึงความห่วงใยกันของเพื่อนๆ เครือข่ายวิจัย RNN ที่ไถ่ถามถึงสารทุกข์สุขดิบ
สำหรับการประชุมนอกจากได้รับทราบความก้าวหน้า RNN ที่ได้นำเสนอตามปกติ ยังได้ทราบถึงผลงานที่ RNN มหาวิทยาลัยต่างๆ ทำมาในช่วงโควิด-19 อาทิ ห้องคลีนรูมแบบความดันลบ ระบบพ่นฆ่าเชื้อสำหรับชุด PPE และอุปกรณ์การแพทย์ เป็นต้น โดยก่อนปิดประชุม ประธานคณะอนุกรรมการฯ ได้ให้กำลังใจในการทำงานในช่วงสถานการณ์โควิด-19 และขอให้แต่ละท่านดูแลรักษาสุขภาพเป็นอันดับแรก ซึ่งแสดงถึงความเป็นห่วงใยกับพันธมิตรของเรา
สำหรับทีม PTRD เรานั้น ช่วงเวลาวิกฤตที่ต้องเผชิญทำให้การทำงานของเราเปลี่ยนไป แต่เราไม่ได้รู้สึกว่า สิ่งที่เปลี่ยนเป็นอุปสรรคต่อการทำงาน จากเดิมเราคิดว่า ถ้าจะคุยกับใคร เราต้องนัดเจอ เห็นหน้า ประชุมกัน แต่สถานการณ์นี้ ทลายข้อจำกัดของสถานที่และเวลา ประชุมที่ไหนก็ได้ เมื่อไหร่ก็ได้ แต่ข้อเสียคือ เราไม่สามารถแยกเวลาทำงานกับเวลาส่วนตัวได้ แต่โชคดีที่ทีมเราปรับตัวได้ง่าย ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานยังคงเดิม
“แม้สถานการณ์ COVID ในประเทศไทยเราดีขึ้น จากตัวเลขผู้ติดเชื้อภายในประเทศลดลง แต่เชื่อว่า ในอนาคตมีโอกาสที่จะเกิดการระบาดขึ้นในระลอกต่อไปได้ หากโลกนี้ยังไม่มีวัคซีนในการป้องกัน มีคนบอกว่า จากนี้โลกเราจะไม่เหมือนเดิม ดังนั้นจึงคิดว่า สิ่งที่พวกเราได้จาก COVID ครั้งนี้ สอนให้เราอย่ายึดติด และพร้อมปรับตัว ปรับใจ รวมถึงปรับวิธีทำงานรับวิถีใหม่”