วิถี ศน. : NANOTEC Way

NANOTEC Way to the NEXT Normal ในมุมของ คน ศน. เป็นอย่างไร ทั้งเรื่องของวิกฤตที่ผ่านมาในช่วง 6 เดือนที่เราต้องฝ่าฟันมาด้วยกัน การทำงานของเราที่ต้องช่วยเหลือสังคมและประเทศชาติ ในขณะเดียวกันก็ต้องแบกรับ KPI คิดว่า อะไรที่ทำให้เราผ่านมาได้

และหากมองถึงอนาคตที่ยังมีความเสี่ยง เราจะเดินเข้าสู่  Next Step, NEXT Normal นั้น สิ่งที่ทำให้เราผ่านวิกฤตช่วงแรกมานั้น เพียงพอหรือไม่ ยังต้องเพิ่มเติมอะไรอีก และคำถามสุดท้ายที่น่าสนใจคือ คน ศน. ในสายตาของเพื่อนๆ มีคาร์แรกเตอร์แบบไหนกันแน่ มาฟังความเห็นของเพื่อนๆ กันค่ะ

ดร.ไพศาล  ขันชัยทิศ
ห้องปฏิบัติการทีมวิจัยเข็มระดับนาโน กลุ่มวิจัยวัสดุตอบสนองและเซ็นเซอร์ระดับนาโน

จริงๆ แล้ว เราเป็นนักวิจัย ซึ่งการจะทำวิจัยเพื่อตอบความต้องการของตนเองนับว่าผิด สถานการณ์ของโควิดเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องเจอ เป็นโจทย์ที่ชัดเจนมาก และทำให้ความเป็นนักวิจัยนำไปสู่การวางแผนงานวิจัยและพัฒนาเพื่อช่วยแก้ไขวิกฤตนี้ เราไม่สามารถบอกได้ว่า ไม่ทำ แม้เราจะยังไม่มีแผน แต่เมื่อเราสู้ เราอาศัยความมุ่งมั่น ฟอร์มทีมทำงาน สร้างนวัตกรรมที่จะตอบโจทย์วิกฤตโควิดที่ชัดเจน มีผลกระทบ มีผู้ใช้ และผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนที่ชัดเจน แม้จะยังไม่ Achieve อย่างชัดเจน แต่สิ่งที่เราได้คือ องค์ความรู้และการต่อยอดวิจัยที่จะเป็นประโยชน์ต่อภาคประชาชน สังคม และประเทศชาติในอนาคต

หากเรายังตั้ง Mindset ว่า งานวิจัย และทักษะของเราจะทำเพื่อประโยชน์ของตนเอง โอกาสเดินหน้าไปได้ยาก แต่หากเรามีความพร้อมเรื่องของจิตใจ และความเป็นทีมที่มีโจทย์การทำงานที่ชัดเจน ที่จะทำงานเพื่อส่วนรวม เราจะเดินหน้าไปไกลและไปได้เร็ว เช่นสิ่งที่เราทำอยู่ ก็มีงานวิจัยต่อเนื่องอีกมากมาย และหากเกิดวิกฤตใหม่ๆ เราก็จะไม่รู้สึกกลัวที่จะทำในสิ่งที่เราทำได้ และเกิดประโยชน์ส่วนรวม

คน ศน. มีความเป็นผู้เยาว์ ยังไม่อยู่ในช่วงของการทำมาหากิน เหมือนเด็กที่ขอเงินพ่อแม่ รอเวลาที่จะเติบโต ทำงาน สร้างรายได้เพื่อหาเลี้ยงตัวเอง

ดร.ศุภชัย กาญจนโภคิน
ฝ่ายบริหารโครงสร้างพื้นฐานและวิศวกรรมสนับสนุน

เราต้องตอบสนองเร็ว เรื่องจากไม่มีใครรู้ว่าวิกฤตนี้จะเป็นไปในรูปแบบไหน แต่สำหรับเราที่เป็นกลุ่ม Engineering Support เราตอบสนองเร็ว วางแผน BCP และทำงานอย่างรวดเร็วทำให้มีความพร้อมต่างๆ รองรับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความปลอดภัยในอาคาร เจลแอลกอฮอล์ และอื่นๆ

อนาคต เรายังคงต้องเพิ่มการตอบสนองให้เร็วกว่านี้ ต้องมอร์นิเตอร์ตลอดเวลา อย่างเช่นช่วงนี้ เราก็มอร์นิเตอร์ทั้งเรื่องของโควิดอยู่ รวมถึงเรื่องของภัยแล้ง ที่กำลังเป็นปัญหาสำคัญ ต่อมาคือ การร่วมมือร่วมใจ

คน ศน. ตอบสนองเร็ว และเมื่อมีปัญหาก็จะร่วมแรงร่วมใจกันฝ่าฟันปัญหาให้จนได้ไม่ว่าจะเลวร้ายแค่ไหน เคยมีคนกล่าวว่า เราจะก้าวผ่านวิกฤตได้ไม่ใช่แค่ความฉลาด แต่ต้องมี GRIT ที่หมายถึงความอึด ถึก พร้อมทำงานให้เสร็จสมบูรณ์ และคน ศน. เป็นคนกลุ่มนี้

ดร.จามร เชวงกิจวณิช
ห้องปฏิบัติการทีมวิจัยนาโนเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม กลุ่มวิจัยวัสดุผสมและการเคลือบนาโน

ความเป็นคน ศน. และประชาชน ในช่วงวิกฤตที่รัฐบาลเชิญชวนให้ทุกคนอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ งานของเราในส่วนที่สามารถทำจากที่บ้านได้ ก็มี ไม่ว่าจะเป็นงานเอกสารสิทธิบัตร บทความวิชาการต่างๆ ซึ่งเราต้องปรับตัวรับวิถีใหม่ และบุคลิกของคน ศน. เองก็ยอมรับสถานการณ์และปรับตัวง่ายอยู่แล้ว เมื่อเกิดวิกฤต ก็จะไม่บ่น แต่ตอบสนอง วางแผนและแก้ปัญหาให้ได้ ตนเองก็เช่นกัน ต้องพยายามรับผิดชอบให้ดีที่สุด ทั้งหน้าที่การทำงาน รวมถึงการดูแลตนเองในฐานะประชาชน

สิ่งที่ผ่านมาทำให้รู้ว่า เราต้องเปลี่ยนทั้งวิธีคิด และวิธีการทำงาน การใช้ชีวิต เช่นเดิมที่ตนไม่ถนัดเรื่องดิจิทัล แต่เมื่อเราไม่สามารถทำงานตามวิถีเดิมได้ เราก็ต้องปรับ ไม่ว่าจะเป็นการประชุมออนไลน์ หรือแอพพลิเคชั่นต่างๆ ที่สำคัญ สมาชิกในทีมก็มีบทบาทสำคัญ ในการปรับตัวและช่วยเหลือกันให้สามารถทำงานแบบ New Normal ได้อย่างราบรื่น สิ่งที่สำคัญคือ การปรับกลยุทธ์ และต้องนิ่ง ไม่ลน

ดร.วีรยา ขุนแก้ว
งานติดตามและประเมินผล ฝ่ายแผน งบประมาณ และกลยุทธ์องค์กร

ด้วยการวางแผนการทำงานเป็นทีมอย่างมีประสิทธิภาพ รองรับโจทย์ทั้ง KPI และโจทย์ของประเทศ มีการจัดสรรเวลาที่เหมาะสมกับการทำงานไปพร้อมกับความปลอดภัยของสมาชิกในทีมที่สลับกัน WFH ความเป็นทีมเวิร์คนี้ ทำให้ผ่านวิกฤตไปได้

ถ้าจะพร้อมเผชิญและผ่านวิกฤตที่จะมา เราควรจะต้องเพิ่มเติมเรื่องของการสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสร้างทีมขนาดใหญ่ ให้สามารถรับโจทย์ที่ใหญ่ขึ้นได้

คน ศน. เป็นทรัพยากรที่ดีที่สุด มีพลังของคนรุ่นใหม่ กล้าคิดกล้าทำ พร้อมที่จะรับโจทย์ใหม่ๆ ทำให้เราสามารถสร้างงานวิจัยที่นำไปสู่การใช้ประโยชน์ที่หลากหลาย

คุณสุดา สินสุวรรณรักษ์
งานระบบคุณภาพ ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม

สิ่งที่ทำให้เราผ่านวิกฤตมาได้ เป็นการกระทำและสนับสนุนด้วยความห่วงใยเพื่อนๆ ไม่ได้มองว่า เป็นงานของตนเอง แต่เมื่อมีไอเดียอะไรก็จะนำเสนอเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ร่วมมือกันทำงานเป็นทีม

การทำงานเป็นทีม การดูแลซึ่งกันและกันมองว่า เพียงพอที่จะเผชิญวิกฤตทั้งหลายที่จะเข้ามา แต่หากมีการเตรียมพร้อม ก็จะทำให้สามารถก้าวผ่านวิกฤตนั้นๆ ได้อย่างสมบูรณ์

คน ศน. น่ารัก ช่วยเหลือกัน ดูแลใส่ใจกัน และช่วยเหลือกันเป็นทีม ซึ่งเป็นตลอดมาและยังเป็นเช่นนั้นอยู่

 


ดร.สัญชัย คูบูรณ์
ห้องปฏิบัติการทีมวิจัยตัวเร่งปฏิกิริยา กลุ่มวิจัยการเร่งปฏิกิริยาและการคำนวณระดับนาโน

สิ่งที่ทำให้เราผ่านมาได้ มองว่า เพราะคน ศน. มีบุคลิกของการพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง จากอดีตที่ต้องเผชิญวิกฤตใหญ่น้อยมา แต่ก็ทำให้เรามีศักยภาพในการปรับตัวพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ในขณะเดียวกัน การทำงานที่ไม่ได้มองแค่ส่วนของตนเองเท่านั้น แต่พร้อมที่จะมาเติมเต็มช่องว่าง ทำให้งานประสบความสำเร็จได้ โดยที่ทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด และพร้อมที่จะเป็นกำลังให้กันและกัน ทำให้เราสามารถนำส่งผลลัพธ์ไปสู่ผู้ใช้ทั้งหน่วยงาน องค์กร หรืออื่นๆ

บุคลิกและวิธีการทำงานของคน ศน. เท่าที่เห็นนี้ ต่อให้อุปสรรคมากแค่ไหนเราก็พร้อม มุ่งมั่นและฝ่าฟันไปให้ได้ เพื่อส่งมอบสิ่งที่ดีที่สุด เกิดประโยชน์ที่สุดกับประเทศ

ดร.ปองกานต์ จักรธรานนท์
ห้องปฏิบัติการทีมวิจัยตัวเร่งปฏิกิริยา กลุ่มวิจัยการเร่งปฏิกิริยาและการคำนวณระดับนาโน

ในช่วงวิกฤต ทั้งทีมมาคุยกันว่า ปัญหามีอะไรบ้าง เพื่อหาทางแก้ร่วมกัน โดยใช้หลัก Radical Transparency ที่จะไม่มีอะไรปิดบังกัน คุย บอกกันทุกอย่างเพื่อไปสู่เป้าหมายเดียวกัน และเราใช้กับทุกกรณี ไม่ว่าจะเป็นการทำตามเป้าของทีมให้ลุล่วง ตาม BCP ในขณะเดียวกัน ก็ดูแลกันและกันในช่วงที่เสี่ยงกับการติดเชื้อโควิด-19 เราทำโปรแกรม Carpool รับน้องๆ ที่อยู่เส้นเดียวกันมาด้วยกัน ปกป้องน้องๆ ที่เสี่ยงกับการเดินทางด้วยรถสาธารณะ

หลักใหญ่ๆ 3 ข้อของเราคือ ทำให้ดี, ไม่เกี่ยงกัน และShare Goal ที่มีร่วมกัน ทำให้เราเดินหน้าต่อไป เพราะเมื่อเราทำให้ดีที่สุด มีอะไรก็ช่วยเหลือกัน เดินหน้าไปสู่เป้าหมายเดียวกัน เราจะข้ามผ่านวิกฤตได้

ที่เราต้องเผชิญ แน่นอนว่า เราต้องทำงานเต็มที่ ทำสิ่งต่างๆ ให้กระชับกว่าเดิม อะไรต้องอุดก็ต้องอุด อะไรไม่จำเป็นก็ต้องตัด เราต้องดูว่าอะไรสำคัญ อะไรต้องมาก่อน เป้าหมายที่เราวางไว้อาจจะทำไม่ได้ทั้งหมด อาจจะถูกตัดหาไม่จำเป็น แต่เราต้องเปิดอกคุยกัน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เราไปต่อได้ อนาคตอาจจะมี Fail บ้าง ก็เป็นเรื่องปกติ

ดร.ธวิน เอี่ยมปรีดี
ห้องปฏิบัติการทีมวิจัยความปลอดภัยระดับนาโนด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม กลุ่มวิจัยการวิเคราะห์ระดับนาโนขั้นสูงและความปลอดภัย

เราต้องปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ สิ่งที่ตามมาคือ เมื่อเผชิญวิกฤตแล้ว เรื่องของ KPI อาจจะต้องวางไว้ก่อน และปรับตัวให้เร็ว ไม่ยึดติดกับ KPI แต่มุ่งทำในสิ่งที่จะเป็นประโยชน์กับสังคมและประเทศก่อน

เราจะเรียนรู้ และต้องการการปรับตัวที่เร็วมากกว่านี้ เช่นวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา เราเห็นสัญญาณก่อนหน้านี้แล้ว แต่ทุกคนยังนิ่ง แทนที่จะเตรียมรับมือ ดังนั้นหากเรามีการเตรียมความพร้อมรับมือความเสี่ยงหรือวิกฤตที่รวดเร็ว มีแบบแผนและความชัดเจน ก็จะทำให้เรารับมือและผ่านพ้นไปได้

คน ศน. เป็นคนรุ่นใหม่ที่ชอบความท้าทาย มีความคิดสร้างสรรค์ และสู้งาน พร้อมลุยงาน ให้งานเป็นตัวขับเคลื่อน เป็นพลังมากกว่าจะมอง KPI ทำให้ทุกคนทำงานอย่างเต็มที่ เต็มประสิทธิภาพ

 

น.ส.ภัทรพร โกนิล
ห้องปฏิบัติการทีมวิจัยนาโนเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม กลุ่มวิจัยวัสดุผสมและการเคลือบนาโน

ความร่วมมือร่วมใจกันทำหน้าที่ของตนเองและทีมให้ดีที่สุด โดยซัพพอร์ท ดูแลซึ่งกันและกัน และในอนาคต จำเป็นจะต้องมีการวางแผนการทำงานร่วมกันเป็นทีมเวิร์ค

ดร.คมสันต์ สุทธิสินทอง
ห้องปฏิบัติการทีมวิจัยนาโนเทคโนโลยีเพื่อคุณภาพชีวิตและเวชสำอาง กลุ่มวิจัยการห่อหุ้มระดับนาโน

ตนเองและคนในทีมตื่นตัวกับเรื่อง COVID-19 มาก เราศึกษา และพยายามเอางานวิจัยไปตอบโจทย์วิกฤต พร้อมๆ ไปกับการทำงานตอบ KPI ของตนเอง ซึ่งเอกชนที่เป็นพันธมิตร ทำงานกับเราก็กระตือรือร้นที่จะผลักดันงานวิจัยไปช่วยแก้วิกฤตด้วยความเชี่ยวชาญเฉพาะทางของทั้งเราและภาคเอกชน ที่จะผนึกกำลังเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส

เรามีความพร้อมในระดับหนึ่ง ด้วยความที่เราเผชิญวิกฤตมาแล้ว เรามีภูมิต้านทาน ซึ่งคน ศน. ถือว่าเป็นคนรุ่นใหม่ที่มี Passion และความกระตือรือร้น เรามีงานวิจัยที่หลากหลาย และสามารถที่จะนำไปเชื่อมโยงความต้องการเพื่อแก้วิกฤตนี้ได้ในที่สุด

ดร.เวฬุรีย์ ทองคำ
งานความปลอดภัยนาโนเทคโนโลยี

สิ่งแรกที่ทำให้เราผ่านวิกฤตคอ ความเชื่อมั่นว่าทำได้ แต่ต้องไม่ใช่แค่เรา ควรเป็นทุกคนที่ช่วยกัน ผลักดัน ทำงานเป็นทีม ทำให้การทำงานราบเรียบและราบรื่น ทั้งในองค์กรและพันธมิตร

ต่อไป เราต้องเตรียมตัว และเพิ่มความคิดสร้างสรรค์ เพื่อเตรียม “แผนฉุกเฉิน” และต้องมีความยืดหยุ่นเพื่อที่จะปรับตัวอย่างรวดเร็วและ Active รวมถึง Pro Active เพื่อให้เราไปได้เร็ว และไปได้ก่อนคนอื่น

คน ศน. เป็นคนรุ่นใหม่ Young& Activeมีความเชื่อมั่น พร้อมเผชิญความท้าทาย และปรับตัวได้เร็ว

ดร.พงษ์ธนวัฒน์ เข็มทอง
ห้องปฏิบัติการทีมวิจัยตัวเร่งปฏิกิริยา กลุ่มวิจัยการเร่งปฏิกิริยาและการคำนวณระดับนาโน

วิกฤตนั้นเป็นช่วงเวลาที่ตนเองต้องส่งงานให้กับภาคเอกชนพอดี ซึ่งต้องขอบคุณทีมงานที่ทำงานอย่างเต็มที่ ร่วมแรงร่วมใจกันมาทำงาน ทำให้เราผ่านวิกฤตนั้นมาได้

สิ่งที่ควรทำต่อไปคือ ต้องเพิ่มการวางแผนให้ดี เนื่องจากเรามีประสบการณ์จากวิกฤตโควิดแล้ว เราจึงควรมีแผนรับมือให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

คน ศน. เป็นเด็กรุ่นใหม่ที่มีความ Active กระตือรือร้น และพร้อมที่จะเรียนรู้

ดร.รัฐพร แสนเมืองชิน
ห้องปฏิบัติการทีมวิจัยการวิเคราะห์ระดับนาโน กลุ่มวิจัยการวิเคราะห์ระดับนาโนขั้นสูงและความปลอดภัย

6 เดือนที่ผ่านมา เป็นครั้งแรกที่เราเจอปัญหาแบบนี้ ตัวเองนั้นทำงานที่นาโนเทคได้เพียง 7-8 เดือน และมาทำงานด้วยรถบริการ ที่มีคนมาจากที่ต่างๆ มากมาย ตัวเองจึงเริ่มหลีกเลี่ยงการใช้รถสาธารณะ และทำงานจากที่บ้าน แต่การเป็นนักวิจัย ยังคงต้องมาทำงานที่แลป ทีมจึงมีการปรับแผนการทำงานที่รอบคอบรัดกุม สลับกันมา เพื่อให้เจอคนน้อยลง คนในห้องแลปน้อยลง พร้อมกันนี้ ทีมจะมีการตรวจสอบความพร้อมในการทำงานของสมาชิกแต่ละคน และซัพพอร์ทกันทำหน้าที่ที่จำเป็น
ความท้าทายที่อาจจะมีขึ้นตามมาหลังจากนี้ ทุกคนจะเข้าใจและปรับตัวได้ง่ายขึ้น แก้ไขปัญหาได้ดีกว่านี้ ช่วยกันโดยทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุดในแต่ละด้าน ดูแลตัวเองให้ปลอดภัย แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องออกไปใช้ชีวิตบนความระมัดระวังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และวางแผนในทุกๆ ด้านอย่างรอบคอบ โดยที่งานวิจัยของ สวทช. และนาโนเทค จะเข้ามาตอบโจทย์ เป็น Solution ให้กับทุกวิกฤตได้

คน ศน. เป็นคนรุ่นใหม่ มีแนวคิด และพร้อมรับฟังคนอื่น กล้าทำ กล้วที่จะเปลี่ยน ไม่มีปัญหาเรื่องของช่องว่างระหว่างวัย จากการทำงานที่ใกล้ชิด ทำให้เรากล้าคิด กล้าพูด กล้าปรึกษา สร้างบรรยากาศที่อบอุ่นเหมือนอยู่บ้าน

ดร.กิตติพงษ์ ตันติสันติสม
ห้องปฏิบัติการทีมวิจัยเข็มระดับนาโน กลุ่มวิจัยวัสดุตอบสนองและเซ็นเซอร์ระดับนาโน

Teamwork เป็นคีย์เวิร์ดสำคัญที่ทำให้เราผ่านมาได้ เพราะในฐานะนักวิจัยของศูนย์แห่งชาติ ก็มาคิดกันว่า เรามีอะไรหรือช่องทางไหนที่จะนำความรู้ความสามารถของเราไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้บ้าง ซึ่งหลายคนในทีม เจอวิกฤตมาแล้ว เช่น น้ำท่วมใหญ่ที่ผ่านมา แต่ก็ผ่านมาได้ โดยที่เราทำงานของเราให้ดี และช่วยเหลือกันทุกฝ่าย ดังนั้น อะไรที่เราทำได้ ก็จะใช้ความคิดสร้างสรรค์ประยุกต์จากเทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญมุ่งไปที่ความช่วยเหลือ มากกว่าจะคิดถึง KPI ของตนเอง เกิดเป็นการระดมสมองและแรงกายช่วยกันสร้างสิ่งใหม่ สร้างนวัตกรรมที่จะมาช่วยแก้ปัญหา โดยไม่คิดถึงประโยชน์ของตัวเอง

ในเชิงงานวิจัยหรือนวัตกรรม เรามองระลอก 2 ไว้บ้างแล้ว ซึ่งหากจะเป็นโรคอุบัติใหม่ หรือวิกฤตอื่นๆ เข้ามา เชื่อว่า เราจะพร้อม เพราะทีมเราตั้งแต่หัวหน้าทีมไปจนถึงน้องๆ NCR ทุกคนมีความมุ่งมั่นและชัดเจน เมื่อเล็งเห็นว่า สิ่งที่ทำจะเกิดประโยชน์กับส่วนรวม เราก็พร้อมจะลงมือทำเลย

คน ศน. มีหลายบุคลิก เป็นการรวมตัวกันของคนหลายส่วน หลายสาขาความเชี่ยวชาญ และเป็นคนรุ่นใหม่ ซึ่งความแตกต่างเหล่านี้ พอมาอยู่รวมกันก็จะผนึกกำลังกันได้เร็ว เชื่อมโยงความรู้ความสามารถในด้านต่างๆ นำไปสู่การทำงานที่รอบด้านและรวดเร็ว ยิ่งคนรุ่นใหม่ ไฟแรงและมุ่งมั่น เหมือนทีมเรา ก็จะเห็นว่า เราไม่ยอมแพ้ และพร้อมที่จะลงมือทำทันที

นายวธัญญู เตชปุญยง
งานเครือข่ายวิจัย ฝ่ายบริหารเทคโนโลยีฐานและเครือข่ายวิจัย

วิกฤตที่ผ่านมา เป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ แต่การวิเคราะห์ด้วยตนเองพบว่า สิ่งที่ทำให้เราผ่านพ้นมาได้คือ นโยบายการรับมือจาก สวทช. ส่วนกลางและ ศน. เอง ที่มีเครื่องมือต่างๆ มารองรับการทำงานให้พร้อม สะดึด ไม่ว่าจะเป็น WFH WebEx หรืออื่นๆ ที่สำคัญคือ การทำงานเป็นทีม ทำให้เผชิญวิกฤตและผ่านไปได้

สำหรับอนาคต สิ่งที่มีดีอยู่แล้ว แต่หากจะให้ดีต้องมีการสื่อสารให้เร็ว วางบริบทของแต่ละฝ่ายงานให้ชัดเจน และเข้าใจมากขึ้น

คน ศน. เป็นคนที่เป็นมิตร เข้าถึงง่าย ไม่ถือตัว น่ารักทุกคน

ดร.สุพล มนะเกษตรธารี
ห้องปฏิบัติการทีมวิจัยเข็มระดับนาโน กลุ่มวิจัยวัสดุตอบสนองและเซ็นเซอร์ระดับนาโน

ความเป็นทีมเวิร์คทำให้เราทำงนอย่างเต็มที่ เต็มกำลัง และผ่านวิกฤตได้ โดยในทีมมีการวางแผนและกระจายงานให้กับสมาชิกทำงานที่ตอบทั้ง KPI และวิกฤตโควิดที่เราเจอ

อนาคต สิ่งที่เราทำ มองว่า เพียงพอที่จะก้าวข้ามวิกฤตใหม่ๆ ที่จะมา เพราะนอกจากทีมเวิร์คและการวางแผน เราใช้กระบวนการ PDCA คือ Plan Do Check Act มาใช้ในทุกกระบวนการทำงาน ทำให้มีกรอบการทำงานที่ชัดเจนทั้งในสถานการณ์ปกติและช่วงเวลาที่มีความเสี่ยงต่างๆ

คน ศน. เป็นคนที่ร่วมแรงร่วมใจกันทำงานเป็นทีม เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน รับฟังและใส่ใจดูแลซึ่งกันและกัน จับมือกันทำให้งานเดินหน้าไปสู่เป้าหมายได้ พร้อมทั้งช่วยเหลือสังคมให้ดีขึ้น

น.ส.วิรียา เชาว์จิรพันธุ์
ห้องปฏิบัติการทีมวิจัยการวินิจฉัยระดับนาโน กลุ่มวิจัยวัสดุตอบสนองและเซ็นเซอร์ระดับนาโน

เราพึ่งจะเคยเจอวิกฤตแบบนี้ ซึ่งเมื่อเกิดขึ้น ทีมวิจัยเราก็มีการคุยกันในทีม ปรึกษากันว่า อะไรที่เราต้องทำ เพื่อให้งานเดินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมกับการดูแลตนเองให้ปลอดภัย จึงมีการวางแผนเปลี่ยนกัน WFH

การทำงานเป็นทีมและการวางแผนที่ดีนาจะทำให้เราผ่านวิกฤตอื่นๆได้แต่ต้องคุยกัน วางแผนการทำงานที่ปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์

คน ศน. เป็นคนอายุน้อย ที่ Fresh& Passionate ที่มั่นใจในตัวเอง เป็นตัวของตัวเอง มีความเชื่อมั่น เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มุ่งมั่นในเรื่องงานแต่ก็ยังคง Work-Life Balance

ดร.สมประสงค์ ทองคำ
ห้องปฏิบัติการทีมวิจัยนวัตกรรมเส้นใยนาโน กลุ่มวิจัยวัสดุผสมและการเคลือบนาโน

แต่ละทีมมีการทำงาน มีแอคชั่นที่แตกต่าง แต่ที่ผ่านมา ทีมตนเองไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก แต่ก็มีการคุยกันว่า จะมีการวางกฎเกณฑ์ใหม่เพื่อการทำงานในแบบ New Normal นี้ยังไง เพราะสิ่งสำคัญคือ การปรับตัว

การวิจัยและพัฒนาจำเป็นต้องมีความสามารถที่หลากหลาย ใช้ทักษะต่างๆ ช่วย ดังนั้น การปรับตัวก็เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องมีเพื่อเตรียมความพร้อมในอนาคต ในขณะเดียวกัน ก็ต้องมีอีก 3 สิ่งหลักคือ ความสดใหม่ ไอเดียสร้างสรรค์ และ Passion ที่ทำให้คน ศน. เผชิญความท้าทายและก้าวข้ามวิกฤต

น.ส.ภัททิยา ชูชาติ
งานพัสดุ ฝ่ายบริหารงานทั่วไป

ทีมเวิร์คสำคัญมากสำหรับการทำงานในช่วงเวลานั้น ซึ่งทีมเรามีการพูดคุยกันเพื่อวางแผน เพราะงานพัสดุถือว่ามีความท้าทายสูงมาก ด้วยเป็นงานที่ต้องประสานเชื่อมโยงให้ทุกฝ่ายงานใน ศน. สามารถทำงานได้อย่างราบรื่น ทำให้เราต้องผสานการทำงานที่ปลอดภัยต่อทีมงานทุกคน

ต่อไป ทีมเวิร์คยังจำเป็นอย่างมาก แต่สิ่งที่ต้องเพิ่มคือ การเตรียมพร้อม เนื่องจากงานพัสดุต้องใช้เครื่องมือต่างๆ ที่จะซัพพอร์ทการทำงานของทุกทีมหรือการทำงานในระบบใหม่ๆ

คน ศน. เป็นคนทันสมัย มุ่งมั่น และพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง แม้เราจะเป็นนาโนเล็กๆ แต่เราจะก้าวไปอย่างยิ่งใหญ่ในอนาคต