นวัตกรรมเคลือบผิวนาโน นำร่อง ‘อวท. Living Lab’ ตัวช่วยหนุน นวัตกรรม/สตาร์ทอัพ

งานวิจัยก่อนที่จะออกไปสู่เชิงพาณิชย์ นอกจากการทดสอบในห้องปฏิบัติการต่างๆ การทดสอบใช้งานจริง ในพื้นที่และสถานการณ์จริง ก็นับเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ประชาชนรวมถึงผู้ที่สนใจเข้าใจและเชื่อมั่นในประสิทธิภาพ ก่อนที่จะรับถ่ายทอดเทคโนโลยี หรือเลือกใช้งานจริง เช่นเดียวกับงานวิจัยสารเคลือบนาโน ของทีมวิจัยนวัตกรรมเคลือบนาโน กลุ่มวิจัยวัสดุผสมและการเคลือบนาโนของนาโนเทค สวทช. ที่ได้รับโอกาสในการทำงานร่วมกับ อวท. ซึ่งเปิดกว้างให้นำนวัตกรรมสารเคลือบนาโน สำหรับเคลือบผิวป้องกันฝุ่นและตะไคร่น้ำ เพื่อเพิ่มคุณสมบัติของการกันคราบสกปรกบนพื้นผิว Tower Sign และแผ่นป้ายอะคริลิคที่ติดตั้งบริเวณ Tower Sign ด้านหน้าทางเข้า อวท. จำนวน 5 ทาวเวอร์ 38 ช่องป้าย NANOTEC Newsletter ฉบับนี้ จึงขอชวน “พี่ภา-สุวิภา วรรณสาธพ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. และ ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย (อวท.)” ที่จะมาบอกเล่าถึงที่มาของความร่วมมือครั้งนี้ พร้อมแนวคิด ‘อวท. Living Lab’ เปิดพื้นที่ทดสอบใช้นวัตกรรมจากเพื่อนบ้านในอวท. และ สวทช.

อวท. – Innovation Landmark ที่พร้อมรับนวัตกรรม

อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทยหรือ อวท. เป็นนิคมวิจัยที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ เรียกได้ว่า เป็น Innovation Landmark ของประเทศ จึงชวนทีมมาทำงานร่วมกัน ด้วยมองว่า อุทยานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยควรจะเป็น Representative ของนวัตกร ที่ไม่กลัวการใช้นวัตกรรมหรือเทคโนโลยีล้ำๆ

“พี่ชื่นชมทีมของดร.เผ่า – พิศิษฐ์ คำหน่อแก้ว ที่ทำงานเชิงรุก มานำเสนองานวิจัยสารเคลือบผิวนาโน เพื่อใช้งานภายใน อวท. สำหรับทดสอบและประเมินประสิทธิภาพของงานวิจัยต่อการใช้งานจริง โดยเป็นการนำนวัตกรรมสารเคลือบนาโนไปเคลือบแผงโซลาร์เซลล์ที่อยู่บริเวณดาดฟ้าตึก CC เพื่อเก็บพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ประโยชน์ โดยมีผลลัพธ์แสดงให้เห็นบนหน้าจอบริเวณชั้น 2 ของอาคาร แสดงให้เห็นประสิทธิภาพของสารเคลือบนาโนได้อย่างดี” พี่สุวิภากล่าว

จากความสำเร็จขั้นแรก จากผลงานวิจัยของทีมดร.เผ่า นำไปสู่โจทย์ของ อวท. ในเรื่องของการดูแลรักษาตัว Tower Sign ที่อยู่ด้านหน้าสุด ซึ่งนับเป็นหน้าตาของ อวท. ที่ผู้มาเยี่ยมจะได้พบเห็นเป็นจุดแรก ซึ่งจะมีต้นทุนการดูแลรักษาในแต่ละปีอยู่มาก เนื่องจากคราบสกปรกจากฝุ่นละออง เมื่อเจอกับฝนก็จะเกิดคราบที่ทำความสะอาดยาก ทำให้ตัวป้ายและเสาดูเก่า ขะมุกขะมอม

ผอ. อวท. กล่าวว่า เดิมต้องใช้ช่าง พร้อมนั่งร้านที่มีความสูงมากในการทำความสะอาด ซึ่งเสี่ยงอันตราย จึงเริ่มใช้บริการทำความสะอาดจากบริษัทภายนอกที่มีความเชี่ยวชาญ ซึ่งเป็นต้นทุนที่ต้องจ่ายในการทำความสะอาด Tower Sign ปีละ 6 ครั้ง เราเลยมองว่า นวัตกรรมสารเคลือบนาโนของ ดร.เผ่าน่าจะตอบความต้องการจุดนี้ได้ จึงปรึกษาพูดคุยกัน โดยที่ อวท. ให้ Tower Sign เป็นพื้นที่ทดสอบ ติดตาม และประเมินผลการใช้งานจริง ตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม 2562 เป็นต้นมา โดยในช่วงแรก เป็นการเคลือบพื้นผิวในบางพื้นที่ของ Tower Sign เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพ

จนกระทั่งเห็นประสิทธิภาพชัดเจน อวท. ได้ใช้สารเคลือบนาโนในการเคลือบพื้นผิวและป้ายของ Tower Sign ทั้งหมด

วางกลยุทธ์การตลาดจากผู้ใช้จริง

ความมุ่งมั่นของฝั่งวิจัย เป็นแรงผลักดันสำคัญให้พี่สุวิภามองเห็นโอกาสที่จะช่วยผลักดันนวัตกรรมต่างๆ ที่ออกจาก สวทช. และ อวท. สู่ผู้ใช้งานจริงในที่สุด

“เราต้องเป็นที่ที่นวัตกรได้ทดสอบไอเดียและนวัตกรรมที่พวกเขาพัฒนาขึ้นว่าสามารถนำไปประยุกต์ใช้งานได้อย่างแท้จริง อย่างเช่นนวัตกรรมสารเคลือบนาโนนี้ มีประสิทธิภาพดีมาก และมีความเป็นไปได้อย่างมากในการต่อยอดเชิงพาณิชย์ จากความต้องการในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ อาทิ อสังหาริมทรัพย์ หรือการท่องเที่ยว” พี่สุวิภาชี้

จากการเปิดพื้นที่ให้ทดสอบใช้ Tower Sign ของอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ช่วยให้ อวท. สามารถลดต้นทุนจัดจ้างบริษัทภายนอกในการดูแลรักษา จาก 6 ครั้งต่อปี เหลือเพียง 2 ครั้งต่อปี ลดค่าใช้จ่ายในการทำความสะอาดและบำรุงรักษาได้ปีละประมาณ 45,000 บาท เสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับ อวท. นอกจากนี้ ยังติดตามผลการทดสอบและประสิทธิภาพของนวัตกรรมสารเคลือบนี้อย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมการเป็น Living Lab ให้กับนักวิจัยอีกด้วย

“พี่ภาอยากให้นักวิจัยของเรา หรือแม้แต่บริษัทเอกชนที่มารับถ่ายทอดเทคโนโลยีของเราไปใช้ ได้มีพื้นที่ในการทดสอบใช้งานจริง เนื่องจาก อวท. เองมีพื้นที่ที่มีฟังก์ชั่นการใช้งานที่หลากหลาย รวมถึงมีคณะเยี่ยมชมจำนวนมากในแต่ละสัปดาห์ ซึ่งสามารถใช้เป็นข้อมูลประกอบเพื่อเป็นแม่เหล็กดึงผู้ที่สนใจมาสู่งานวิจัยหรือนวัตกรรมของเราได้ ด้วยการใช้งานจริงในพื้นที่จริง”

“อวท. เป็นเฟืองเล็กๆ ตัวหนึ่งที่จะช่วยเชื่อมโยงงานวิจัยไทยในมิติของการใช้งานจริง  มีประสิทธิภาพ หรือลดต้นทุนแบบจับต้องได้ ไม่ให้เป็นเพียงงานวิจัยบนหิ้ง”

ปัจจุบัน อวท. เป็น Living Lab ให้กับ 3 นวัตกรรม ซึ่งนอกเหนือจากสารเคลือบนาโนของ ดร.เผ่า นาโนเทคแล้ว ยังมี KEEN ที่บริษัท คีนน์ จํากัดมารับถ่ายทอดเทคโนโลยีจากไบโอเทค มาใช้ในพื้นที่ อวท. และ EV Charging Station ของ ดร.ไกรสร อัญชลีวรพันธุ์ จากศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์(PTEC) อีกด้วย

พี่สุวิภาแย้มว่า อวท. ยังเตรียมที่จะร่วมมือกับสตาร์ทอัพอีกหลายบริษัทเพื่อทดลองใช้ในพื้นที่ อวท. อาทิ Anywheel, SHIPPOP หรือDevour Micromart ซึ่งยังชะลอเนื่องจากสถานการณ์โควิด

อวท. Living Lab จะตอบโจทย์นวัตกรรม/สตาร์ทอัพในการช่วย “ขายของ” ให้นักวิจัยและสตาร์ทอัพ โดยพี่สุวิภาชี้ว่า การตลาดเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งการจะทำตลาดแบบ Push หรือ Hard Sell อาจจะไม่ตอบโจทย์ แต่รูปแบบของ Living Lab ที่มีผู้ใช้งานหลากหลายมิติ จะเป็น Soft Sell ที่นักวิจัยไม่ต้องพูดเอง อวท. ที่เป็นผู้ใช้งานจะเป็นผู้พูดให้ จากประสบการณ์การใช้งานจริง (Reference Side)

ปัจจุบัน อวท. เองก็เริ่มหากลไกที่จะทำงานร่วมกับนักวิจัยในลักษณะของ Win-Win และรูปแบบการนำเสนอผลลัพธ์ไปสู่กลุ่มเป้าหมาย ผ่านพันธมิตรต่างๆ ที่เรามี รวมถึงหากต้องการ Spin Off อวท. เองก็มีคอมมิวนิตีของนักลงทุน (Angel Investors) ในการบ่มเพาะ เป็นพี่เลี้ยง และให้ทุนต่างๆ

สำหรับ ดร.เผ่า ต้องขอชมอีกครั้งว่า เป็นทีมที่น่าชื่นชม เป็นกลุ่มแรกๆ ที่เข้ามาหาเรา นำเสนอผลงาน และต้องขอบคุณนาโนเทคที่เข้าใจ และพร้อมจะทำงานร่วมกันแบบ Win-Win Situation

เทคโนโลยีสารเคลือบนาโนจากนาโนเทค สวทช.

ดร.พิศิษฐ์ คำหน่อแก้ว หัวหน้าทีมวิจัยนวัตกรรมเคลือบนาโน กลุ่มวิจัยวัสดุผสมและการเคลือบนาโนของนาโนเทค สวทช. กล่าวว่า เทคโนโลยีสารเคลือบนาโนที่พัฒนาขึ้นนั้น ทีมวิจัยฯ ได้พัฒนาสารเคลือบหลากหลายสมบัติจากซิลิกอนไดออกไซด์ขนาดนาโนเมตร ที่มีสามารถกระจายตัวได้ดีในตัวทำละลายที่มีความปลอดภัยกับมนุษย์และสิ่งแวดล้อม และยังพัฒนาสารเคลือบที่สามารถพ่นเคลือบได้ง่าย ไม่มีความยุ่งยากในการทำงานเคลือบ

ซึ่งเมื่อเคลือบผิวแล้ว ผิวเคลือบมีลักษณะโปร่งใส และมีความบางในระดับนาโนเมตรซึ่งไม่สร้างความแตกต่างกับพื้นผิวไม่ได้รับการเคลือบ สารเคลือบผิวเหมาะสมกับพื้นผิววัสดุก่อสร้างเช่น คอนกรีต กระเบื้อง หรือวัสดุตกแต่งอาคารอื่นๆ

สารเคลือบผิวมีคุณสมบัติ กันฝุ่น กันการซึมน้ำ ป้องกันรา ตะไคร่น้ำและคราบสกปรกที่เกาะอยู่บนพื้นผิวที่ต้องสัมผัสกับสภาวะอากาศกลางแจ้งที่ต้องเผชิญกับ ฝน ฝุ่นและแสงแดด ซึ่งที่ผ่านมาทางทีมวิจัยได้นำสารเคลือบไปใช้งานการวัสดุอาคารของศาสนสถาน ในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ

และสำหรับ Tower Sign ของอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย พบว่า สามารถใช้งานได้ดี ลดการเกิดคราบสกปรกที่เกาะติดพื้นผิวได้เกิน 1 ปี และสามารถเคลือบซ้ำได้ โดยมีต้นทุนที่ต่ำ และประสิทธิภาพที่ดีกว่าท้องตลาด

ซึ่งดร.พิศิษฐ์มองว่า ทีมวิจัยมองเห็นโอกาสในการขยายการใช้งานไปสู่กลุ่มอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง และตกแต่งอาคาร ที่มีพื้นที่ที่ไม่ต้องการคราบสกปรก หรือมีการขัดล้างเป็นประจำ เช่น แท่น barrier หรือแผ่นกันเสียง บริเวณทางด่วนพิเศษ หรือกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ที่ก่อสร้างอาคาร และเกิดปัญหาคราบสกปรกบริเวณบางส่วนของอาคาร ในอนาคตอันใกล้ ทีมวิจัยมีแนวคิดที่จะนำสารเคลือบที่รวมคุณสมบัติกันน้ำ กันน้ำมัน กันฝุ่น เพื่อประยุกต์ใช้กับกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่เน้นมูลค่าเพิ่มจากงานสร้างสรรค์ ศิลปะ และหัตถกรรมอีกด้วย