ชุดตรวจหาเชื้อในกลุ่มโคโรนาไวรัสแบบรวดเร็วเพื่อการคัดกรองเบื้องต้น
“การตรวจคัดกรอง ยิ่งทำได้เร็ว ยิ่งช่วยให้คนเข้าถึงการรักษาได้เร็ว ถือเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยให้วิกฤตนี้คลี่คลายได้เร็วขึ้น แพลตฟอร์มพื้นฐานจากงานวิจัยที่ ศน. มีจึงถูกพัฒนาต่อยอดสร้างชุดตรวจตรวจเชื้อ COVID-19 พร้อมไปกับพันธมิตรที่จะเสริมการทำงานฝ่าวิกฤตให้ไปได้เร็วและแข็งแกร่งยิ่งขึ้น”
เมื่อเกิดวิกฤตโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 (COVID-19) ดร.ณัฐปภัสร วิริยะชัยพร ทีมวิจัยวัสดุตอบสนองระดับนาโน กลุ่มวิจัยวัสดุตอบสนองและเซนเซอร์ระดับนาโน ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (ศน.) สวทช. กล่าวว่า เราใช้แพลตฟอร์มของ NanoFlu มาต่อยอด หลังจากเห็นว่า สามารถพัฒนาเพื่อใช้เป็นชุดตรวจสำหรับโรคโควิด-19 ได้ จึงหารือ ดร.เดือนเพ็ญ จาปรุง ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยวัสดุตอบสนองและเซ็นเซอร์ระดับนาโน ซึ่งเห็นด้วยและสนับสนุน ทีมวิจัยชุดตรวจจึงเริ่มเดินหน้างานวิจัยทันที
ชุดตรวจเชื้อ COVID-19 แบบรวดเร็ว (เทคนิค LFA) อาศัยหลักการไหลในแนวราบ และการจับกันแบบจำเพาะของแอนติบอดีต่อโปรตีนของเชื้อโคโรนาไวรัส โดยแอนติบอดีจะถูกติดสลากด้วยวัสดุนาโนตอบสนองชนิดพิเศษ ร่วมกับการพัฒนาและปรับสภาพองค์ประกอบต่างๆในชุดตรวจเพื่อให้สัญญาณ/เพิ่มสัญญาณจนอ่านสัญญาณได้ภายใน 5-10 นาที
ความท้าทายของงานชิ้นนี้ คือ โมเลกุลที่จำเพาะกับเชื้อไวรัสโคโรนา ซึ่งต้องใช้เวลาในการเลือก และการปรับสภาวะขององค์ประกอบต่างๆรวมทั้งน้ำยาในการวิเคราะห์ให้เหมาะสม ซึ่งทีมเรามีพันธมิตรที่ดีอย่างศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ศช.) ที่สามารถผลิตโปรตีนสังเคราะห์ และโมเลกุลที่มีความจำเพาะเพื่อใช้ทดสอบได้
“หลายคนมองว่า การเริ่มงานวิจัยช่วงวิกฤต อาจไม่ทันใช้งานได้ แต่สำหรับการระบาดของโควิด-19 อาจจะยาว เราจึงมุ่งพัฒนาชุดตรวจในระยะแรก เพื่อให้สามารถนำมาพัฒนาต่อยอด รวมทั้งการขยายความร่วมมือจากหน่วยงานพันธมิตรภายนอก ศน. ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลรามาธิบดีที่ร่วมกันทำ NanoFlu มาแล้ว หรือมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดลที่จะเข้ามาสนับสนุนงานวิจัยนวัตกรรมต้านโควิดนี้ ให้เดินหน้าต่อไป”