ผลิตภัณฑ์ยับยั้งเชื้อจุลชีพสำหรับทำความสะอาดมือและสเปรย์ฉีดพ่นพื้นผิว เพื่อเป็นทางเลือกทดแทนการใช้เอทานอล
จากสถานการณ์การระบาดของ “โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 (Coronavirus Disease 2019: COVID-19) ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 สายพันธุ์ใหม่ ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อจากไวรัสนี้เป็นจำนวนมากทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย โรคระบาดนี้สามารถติดต่อผ่านระบบทางเดินหายใจและจากการสัมผัสสารคัดหลั่งหรือละอองฝอยที่มาจากร่างกายของผู้ติดเชื้อ ผ่านการไอ จาม และพูดคุย
มาตรการควบคุมและป้องกันการติดเชื้อที่ดี คือ การลดการแพร่กระจายของเชื้อผ่านการสัมผัส เพื่อลดโอกาสการนำเชื้อเข้าสู่ร่างกายผ่านการสัมผัสดวงตา จมูก หรือปาก โดยอาศัยอุปกรณ์สำหรับป้องกันการแพร่และติดเชื้อ ได้แก่ หน้ากากอนามัย และน้ำยาทำความสะอาดมือ ซึ่งผลิตภัณฑ์เจลล้างมือทั่วไป มักมีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ที่สามารถออกฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อได้ดี แต่ด้วยแอลกอฮอล์สามารถระเหยได้อย่างรวดเร็ว จึงไม่สามารถคงประสิทธิภาพได้ยาวนาน
ทีมวิจัยเล็งเห็นว่าการพัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับทำความสะอาดมือและสเปรย์ฉีดพ่นพื้นผิวแข็งที่ออกฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพยาวนาน จะช่วยป้องกันการติดเชื้อโรค ผ่านการสัมผัสพื้นผิวต่างๆ และมือ ซึ่งจะช่วยลดการระบาดของโรคได้ จึงเกิดเป็นโครงการความร่วมมือของศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (NANOTEC) และ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC) โดยห้องปฏิบัติการนาโนเทคโนโลยีเพื่อคุณภาพชีวิตและเวชสำอาง/กลุ่มวิจัยการห่อหุ้มระดับนาโน (NCAP) ห้องปฏิบัติการไวรัสวิทยาและเซลล์เทคโนโลยี/กลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ (AVIG) นำทีมโดย ดร.อุดม อัศวาภิรมย์ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยการห่อหุ้มระดับนาโน
ทางทีมวิจัยจะพัฒนาสารออกฤทธิ์ที่มีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อโรค และพัฒนาสูตรตำรับโดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการกักเก็บสารสำคัญในระดับนาโน (Nanoformulation) เพื่อเพิ่มความคงตัวและเพิ่มประสิทธิภาพของสารออกฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย และไวรัส ซึ่งเป็นสารทางเลือกทดแทนการใช้ ethanol ในรูปแบบผลิตภัณฑ์สำหรับทำความสะอาดมือและสเปรย์ฉีดพ่นพื้นผิวแข็งที่มีฤทธิ์ยับยั้งยาวนาน
โดยในการคัดเลือก (screening) จะพิจารณาจากประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย Escherichia coli (E. coli) และ Staphylococcus aureus (S. aureus) ซึ่งใช้เป็นตัวแทนแบคทีเรียชนิดแกรมลบและแกรมบวกตามลำดับ ส่วนในการทดสอบประสิทธิภาพการฆ่าเชื้อไวรัสจะใช้ Porcine epidemic diarrhea virus (PEDV) เป็นตัวแทนสำหรับการศึกษาประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ในการฆ่าเชื้อไวรัสโคโรนา โดยสารออกฤทธิ์ในโครงการวิจัยนี้จะไปทำลายเยื่อหุ้มไวรัสและโปรตีน spike ที่มีหน้าที่สำคัญในการจับกับ receptor บนผิวเซลล์ ส่งผลให้ไวรัสไม่สามารถจะเข้าสู่เซลล์ และก่อโรคได้
นอกจากนี้ จะทำการทดสอบฤทธิ์การฆ่าเชื้อไวรัส ที่ก่อโรคสำคัญชนิดอื่นๆ ซึ่งสามารถติดต่อผ่านการสัมผัสโดยตรงได้ เช่น ไวรัส Influenza A virus subtype H1N1 ซึ่งก่อให้เกิดโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009, Herpes simplex virus ซึ่งก่อให้เกิดโรคเริม และ Rotavirus ซึ่งก่อให้เกิดโรคท้องร่วง
“เราตั้งเป้าพัฒนาให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือนจากนี้ สู่ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรคที่ออกฤทธิ์ได้นานบนพื้นผิว โดยไม่ใช้แอลกอฮอล์ ที่สามารถต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรคทางเลือกใหม่ในอนาคต”