“ศน. รับมือความท้าทาย ขับเคลื่อนงานวิจัยสู่ผู้ใช้จริง”
ศักยภาพของนักวิจัยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (ศน.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ที่เดินหน้าวิจัย พัฒนา และสร้างนวัตกรรมจากห้องแลป พร้อมส่งต่อไปยังผู้ใช้ ให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน สังคม และประเทศชาติ ซึ่งหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญคือ กลุ่มบุคลากรที่เป็นแรงสำคัญในการผลักดันงานวิจัยสู่การถ่ายทอดเทคโนโลยีไปสู่นวัตกรรมที่เกิดการใช้งานจริง NANOTEC Newsletter ฉบับที่ 8 นี้ จะพาทุกคนไปพบกับ “พี่จูน – ดร.ภาวดี อังค์วัฒนะ” รองผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ ที่จะมาบอกเล่าถึงการทำงานและความสำเร็จของ ศน. ที่จับมือกันขับเคลื่อนงานวิจัยไปจนถึงปลายน้ำ และที่สำคัญ ยังเป็นปีแรกที่ ศน. สามารถสร้างรายได้มากกว่า 100 ล้านบาท แม้จะเป็นช่วงเวลาที่ต้องเผชิญวิกฤตโควิด-19 ก็ตาม
ศน.ดำเนินงานวิจัยและพัฒนาด้านนาโนเทคโนโลยีตอบโจทย์ความต้องการที่สำคัญของประเทศอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกันกับที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ศน. เองก็ได้ปรับแผนการทำงานตามนโยบายระดับองค์กรเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบาย ระดับประเทศ ทั้งฝ่ายวิจัยและพัฒนาและฝ่ายสนับสนุน ซึ่งดร.ภาวดีชี้ว่าในช่วงเวลาวิกฤตที่ทั่วโลกเผชิญนี้ ยังทำให้เห็นโอกาสและความต้องการที่นวัตกรรมจากทั้ง ศน. และ สวทช. จะเข้าไปช่วยเสริมความแข็งแกร่ง แก้ปัญหา หรือเพิ่มขีดความสามารถได้อีกมาก โดยความร่วมมือจากภาคส่วนต่าง ๆ รวมถึงภาคเอกชน ผ่านการรับถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อนำผลงานวิจัยจากห้องแลปไปสู่มือผู้ใช้ในที่สุด
“เรามีนโยบายที่เปลี่ยนไปมีการวางเป้าหมายที่ชัดเจนขึ้นในทุกมิติ ตั้งแต่ด้านการวิจัยและพัฒนาที่เน้นงาน ที่ตอบโจทย์ประเทศและความต้องการต่าง ๆ มากขึ้น และอีกทั้งฝ่ายสนับสนุนที่ทำงานอย่างเข้มแข็งตอบเป้าหมาย ด้านการหารายได้ ซึ่งหนึ่งในกลยุทธ์ที่เราทำตั้งแต่ปีงบประมาณ 2563 คือ การช่วยผลักดัน สนับสนุนช่องทางการขาย การประชาสัมพันธ์ผลงานวิจัยลูกค้า เพื่อเพิ่มโอกาสด้านการขาย การสร้างรายได้ ทั้งจากเครื่องมือของ สวทช. หรือเครื่องมือของพันธมิตร เช่น การเชื่อมโยงธุรกิจให้ในหน่วยงานอื่น เช่น Business matching ของธนาคารต่าง ๆ , หน่วยงานภาครัฐ ฯลฯ เพื่อให้เกิดการสร้างผลกระทบเชิงเศรษฐกิจและสังคม ทั้งทางตรงและทางอ้อม” ดร.ภาวดีกล่าว
โดยเป็นการตอบนโยบายภาพใหญ่จากสวทช.ในการวางเป้าหมายเรื่องของรายได้ที่ชัดเจนควบคู่กับงาน ทางด้านวิจัยและพัฒนาโดยพยายามสร้างรายได้ 25% ของค่าใช้จ่าย ซึ่งศน.มีแผนการดำเนินงานเป็นการเพิ่มแบบขั้นบันได คือ รายได้เป็น 17% ในปี 2563 ก่อนขยับเป็น 18% ในปี 2564, 21% ในปี 2565 และ 2566 และสร้างรายได้ 25% ในปี 2570 ตามแผนงานที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้
ทำ New High สร้างรายได้เกิน 100 ล้าน
ดร.ภาวดีเผยว่า ปีนี้ (2564) นับเป็นครั้งแรกในรอบ 18 ปี ตั้งแต่ก่อตั้ง ศน. มาที่สามารถทำรายได้กว่า 100 ล้านบาท จากเป้ารายได้ 85 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นการก้าวข้ามความท้าทายโดยเฉพาะการทำงาน ในสภาวะวิกฤตเช่นปัจจุบัน
“การทำงานของฝ่ายสนับสนุน ศน. ที่เกี่ยวกับการหารายได้ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายธุรกิจนวัตกรรม และถ่ายทอดเทคโนโลยี (BITT), ฝ่ายบริหารเทคโนโลยีฐานและเครือข่ายวิจัย (PTRD) หรือฝ่ายความร่วมมือและประชาสัมพันธ์ (CPRD) ต่างปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานให้สอดคล้องและเข้มข้น พร้อมตั้ง “คณะทำงานหารายได้จากแหล่งทุนภายนอก” ที่มีทุกฝ่ายงานที่เกี่ยวข้องมาร่วม โดยมี ศ.ดร.สุภาพรรณ เสราภิณ ให้เกียรติเป็นที่ปรึกษา ทุกฝ่ายทำงานเชิงรุก มีการประชุม มอนิเตอร์รายได้ที่เกิดขึ้นในแต่ละเดือน ทำให้เกิดความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง ถือว่าตอบโจทย์นโยบายที่วางไว้ตั้งแต่ต้น” รอง ผอ.ศน. ย้ำ
สัดส่วนรายได้ของ ศน. ในช่วงปีที่ผ่านมายังเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากวิกฤตโควิด-19 ที่ส่งผลต่อสภาพเศรษฐกิจการค้าทั่วโลก ดร.ภาวดีชี้ว่า ปัจจัยดังกล่าวทำให้รายได้จากภาคเอกชน ที่เคยเป็นรายได้หลักของศน. หรือราว 70% ของรายได้ทั้งหมด ลดลงบ้าง แต่ในส่วนของรายได้ที่มาจากทุนสนับสนุน ที่เดิมมีอยู่ราว 30% ของรายได้ กลับเพิ่มสูงขึ้นกลายเป็น 60% ของรายได้ในปีนี้ เนื่องจากนโยบายและรูปแบบการให้ทุนของหน่วยงานต่าง ๆ รวมถึงภาครัฐ ซึ่งให้ความสำคัญกับงานวิจัยที่มีความเป็นไปได้สูงในการต่อยอดใช้ประโยชน์จริง บวกกับการเตรียมความพร้อมของ ศน. ที่เริ่มตั้งแต่ปี 2563 ทำให้มีโครงการวิจัยที่มีความร่วมมือกับภาคเอกชน ทำให้ได้รับทุนวิจัยจากแหล่งทุนต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ในแง่ผลกระทบ (Impact: KS1-A) ที่ตั้งเป้าไว้ 5-7 เท่าของงบประมาณค่าใช้จ่ายหรือประมาณ 3,500 ล้านบาท ในปี 2564 นี้ ศน. สามารถทำได้มากกว่า 4,300 ล้านบาท โดยตัวอย่างโครงการที่ทำและสร้างผลกระทบสูงในปี 2564 อาทิ โครงการวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย ด้วยจุดเด่นคือ ได้สารฆ่าเชื้อแบคทีเรียในฟาร์มปศุสัตว์ที่ไม่ได้เป็นยาปฏิชีวนะ จากสารประกอบไอออนิกคอปเปอร์ ช่วยลดปัญหายาปฏิชีวนะตกค้างในสัตว์ เป็นการใช้องค์ประกอบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจเป็นมูลค่ารวม 2,540 ล้านบาท (เฉพาะปี 2564) เนื่องจากเป็นการช่วยลดอัตราการสูญเสียชีวิตสุกรจากการแพร่ระบาดโรคอหิวาต์แอฟริกา (ใช้ใน 6 ฟาร์ม แม่หมู 16,500 ตัว ลูกหมูราว 4 แสนตัว)
หรือ ปุ๋ยคีเลตธาตุอาหารรอง-เสริม ซึ่งต่อยอดงานวิจัย “สารคีเลตจุลธาตุอาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อเพิ่มการดูดซึมเข้าสู่พืช” ตอบความต้องการของเกษตรกรในด้านธาตุอาหารรองเสริมของพืชที่มีความสำคัญและจำเป็นต่อกระบวนการเจริญเติบโตของพืชให้มีความสมบูรณ์แข็งแรง และส่งผลต่อผลผลิตต่อไร่ที่มากขึ้น ช่วยแก้ปัญหาการตกตะกอน และการสูญเสียธาตุอาหารเสริมทางดิน โดยเมื่อฉีดพ่นสารคีเลตซึ่งมีคุณสมบัติช่วยพาธาตุอาหารเข้าสู่พืชได้ง่ายขึ้นแล้ว พืชจะสามารถนำธาตุอาหารไปใช้ประโยชน์ได้เร็วขึ้น เพิ่มอัตราการเจริญเติบโตของพืช, เพิ่มการดูดซึมธาตุอาหารทางปากใบ, เพิ่มกรดอะมิโนให้แก่พืช นอกจากนี้ ยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยลดอันตรายจากการใช้สารสังเคราะห์ และลดค่าใช้จ่ายของปุ๋ยเคมีที่เกินความจำเป็น สามารถสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจเป็นมูลค่ารวม 975 ล้านบาท (เฉพาะปี 2564) จากการใช้ปุ๋ยเหลวคีเลตกับสวนทุเรียน 10,000 ไร่ ใน 7 กลุ่มจังหวัด ซึ่งพบว่า ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น 20% และสามารถลดปริมาณการใช้ปุ๋ยลง 50% เป็นต้น
โควิด-19 ความท้าทายที่สร้างพลัง
“แน่นอนว่า ช่วงโควิด-19 ทำให้ทุกฝ่ายต้อง WFH รูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนไป เชื่อว่า หลายคนยังปรับตัวไม่ได้ในช่วงแรก แต่นับว่า เราเตรียมพร้อมตั้งแต่ปีที่ผ่านมา มีการวางแผนการทำงานที่ชัดเจน และรูปแบบการประชุมรายงานความก้าวหน้าที่ทำให้งานเดินหน้าไปอย่างต่อเนื่องและได้ประสิทธิภาพ แม้กระบวนการทำงานจะเปลี่ยนแปลง และเข้าสู่รูปแบบออนไลน์มากขึ้น ทั้งการประชุม ลงนามเอกสารสัญญา ฯลฯ อย่างไรก็ดี ความท้าทายหลักตกเป็นของฝ่ายประสานงาน รวมถึงฝ่ายบริหารงานทั่วไป ซึ่งเป็นผู้ดูแลหลัก ทำงานประสานทุกฝ่ายอย่างเข้มแข็ง และทำให้ทุกอย่างเดินหน้าได้อย่างราบรื่น” ดร.ภาวดีกล่าว
ในมุมของงานวิจัยและนวัตกรรมของ ศน. ก็ถือว่า สามารถตอบโจทย์วิกฤตได้อย่างดี ทั้งในเชิงสังคม และเศรษฐกิจ จากการที่เริ่มปูทางสร้าง 7 ผลงานวิจัย โดยทีม Hero นาโนผู้พัฒนา ในปี 2563 ซึ่งหลายงานวิจัยเดินหน้าอย่างแข็งขัน และมีบางผลงานที่สามารถต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ได้ในปี 2564 อาทิ ชุดตรวจคัดกรองโควิด-19 (NANO Covid-19 Antigen Rapid Test) ที่มีบริษัท อินโนไบโอเทคได้ลงนามในสัญญาอนุญาตให้สิทธิใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยแล้ว หรือ nSPHERE หมวกควบคุมแรงดัน ที่มีบริษัท เวลล์เนส อินโนเวชั่น บียอนด์ จำกัด ได้ลงนามในสัญญาฯ เพื่อรับอนุญาตใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยแล้วเช่นกัน
ความสำเร็จจากงานวิจัยดังกล่าว ดร.ภาวดีชี้ว่า เป็นการทำงานวิจัยและพัฒนาที่สามารถตอบความต้องการในช่วงเวลาวิกฤตได้ โดยเฉพาะผลงานวิจัยที่ตอบโจทย์โควิดนั้น นับได้ว่ามีตลาดที่มีความต้องการ (Demand) เป็นจำนวนมากและองค์ความรู้ที่นักวิจัย ศน.ได้พัฒนาขึ้นและเตรียมไว้เป็นแพลตฟอร์ม ทำให้สามารถตอบโจทย์ได้อย่างทันเวลาพอดีและยังสามารถนำไปต่อยอด ปรับเปลี่ยน ประยุกต์ เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมที่จะตอบ ความต้องการอื่น ๆ ได้อีกในอนาคต
นอกจากนี้ ยังเกิดรายได้ในเชิงกิจกรรมเพื่อสังคม (Corporate Social Responsibility: CSR) ถือเป็นรายได้รูปแบบใหม่ที่ ศน. ได้ริเริ่มดำเนินการไปตั้งแต่ปี 2563 ในโครงการ “ลดเปลี่ยนโลก กับโตโยต้า” ส่วนในปี 2564 นี้ ด้วยแนวคิดริเริ่มของงานประชาสัมพันธ์ (PRS) ร่วมกับงานพัฒนาเครือข่ายอุตสาหกรรม (IND) ศน. เราสามารถประสานพลังกับพันธมิตรที่ดี เช่น บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ในเครือ ปตท. ซึ่งได้มีแผนการดำเนินการร่วมกันต่อเนื่องอีกหลายโครงการ เช่น ชุดตรวจ ATK และหมวกควบคุมแรงดัน nSPHERE เป็นต้น
พร้อมรับมือความท้าทายใหม่ในปี 2565
ดร.ภาวดีกล่าวว่า จากความสำเร็จในปีนี้ และผลงานวิจัยที่สร้างความโดดเด่นให้กับ ศน. ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยคีเลต, น้ำยาฆ่าเชื้อ (เบนไซออนและ A-Germgo), ชุดตรวจ ATK, หมวกควบคุมแรงดัน nSPHERE และงานวิจัยชิ้นอื่น ๆ อีกมาก ปี 2565 จะเป็นอีกขั้นของความท้าทาย ที่ ศน. ต้องรับมือให้ได้ และเป็นการรับมือที่มีประสิทธิภาพ
การผลักดันงานวิจัยทางด้านการรับมือโควิด-19 ยังคงต้องทำต่อ ทั้งในแง่ของการนำงานวิจัย ที่เรามีอยู่แล้วไปสู่เชิงพาณิชย์ สร้างลูกค้าใหม่ ในขณะเดียวกันก็ต้องทำหน้าที่พี่เลี้ยง บ่มเพาะบริษัทที่รับถ่ายทอดเทคโนโลยีไปแล้วให้มีความพร้อมในการนำนวัตกรรมออกสู่ตลาดได้ เช่น การสนับสนุนให้บริษัทเข้าสู่ระบบบัญชีนวัตกรรม ที่จะช่วยสร้างโอกาสในตลาดหน่วยงานภาครัฐ ผ่านการจัดซื้อจัดจ้างรูปแบบพิเศษ เป็นต้น
“รูปแบบการทำงานของเรา แม้จะมีการทำงานแบบ New Normal ก็จะมุ่งเน้นการทำงานที่มีประสิทธิภาพ เข้มข้น และเข้มแข็ง ตามรูปแบบที่วางไว้ เพื่อรับมือเป้าหมายใหม่ ทั้งเรื่องของเป้ารายได้ที่เพิ่มขึ้น และข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ แต่จะเป็นความท้าทายที่เราต้องข้ามผ่านข้อจำกัดต่าง ๆ และไปให้ถึงเป้าได้ในที่สุด” ดร.ภาวดีทิ้งท้าย