การสร้างคุณค่าและเพิ่มมูลค่าให้แก่พืชท้องถิ่นและสมุนไพรไทยในรูปแบบของผลิตภัณฑ์ต่างๆ แน่นอนว่าจำเป็นต้องใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านที่สั่งสมมานานหลายร้อยปีเป็นปัจจัยสำคัญ แต่ยุทธวิธีที่สำคัญในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้สมุนไพรที่ขาดไม่ได้ คือ การวิจัยพัฒนาและนวัตกรรม และถึงแม้ประเทศไทยจะมีแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย ตลอดจนนโยบายต่างๆ จากหลายภาคส่วนที่พยายามขับเคลื่อนการยกระดับอุตสาหกรรมสมุนไพรไทยตลอดห่วงโซ่คุณค่า อย่างไรก็ตาม สำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากพืชท้องถิ่นและสมุนไพรไทยในระดับชุมชน พบว่ายังมีข้อจำกัดเรื่องการเข้าถึงองค์ความรู้เทคโนโลยี และการวิจัยพัฒนา ซึ่งเป็นช่องว่างที่นักวิจัยควรเข้าไปช่วยเติมเต็ม และเป็นโจทย์ที่ดีในการนำเอาองค์ความรู้ และผลงานวิจัยไปต่อยอดและใช้ประโยชน์
NANOTEC Newsletter ฉบับนี้ จะพาไปคุยกับ ดร.อุดม อัศวาภิรมย์ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยการห่อหุ้มระดับนาโน ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ที่จะนำความรู้และความเชี่ยวชาญด้านนาโนเทคโนโลยีช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับพืชสมุนไพรท้องถิ่น สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ โดยเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อให้ได้โจทย์วิจัยที่ตรงกับความต้องการของผู้ใช้ประโยชน์ ช่วยให้ชุมชนสามารถต่อยอดสิ่งที่ชุมชนมีอยู่ สร้างรายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ และในขณะเดียวกัน เพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับคนในชุมชน
ในปีงบประมาณ 2565 ดร.อุดม อัศวาภิรมย์ และทีมวิจัย จับมือกับชุมชนและหน่วนงานภาครัฐในพื้นที่ยกระดับการพัฒนาสารสกัดและผลิตภัณฑ์สมุนไพร ณ พื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ภายใต้ชุดโครงการ “การพัฒนาสารสกัดและผลิตภัณฑ์จากพืชสมุนไพร ณ พื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)” ซึ่งเป็นการต่อยอดความหลากหลายทางชีวภาพของแต่ละชุมชนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ Eastern Economic Corridor (EEC) ประกอบด้วย จังหวัดชลบุรี จังหวัดระยอง และจังหวัดฉะเชิงเทรา ตั้งอยู่ในพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกของประเทศไทย โดยชุดโครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากแผนงานบูรณาการพัฒนาภาคการเกษตรเขตพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ประจำปี 2565 และเน้นแนวทางการดำเนินงานที่สอดรับกับนโยบายเศรษฐกิจ BCG หรือ BCG model ซึ่งเป็นการ บูรณาการการพัฒนาเศรษฐกิจ 3 มิติ คือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ไปพร้อมกัน โดยนำองค์ความรู้มาต่อยอดฐานความเข้มแข็งภายในประเทศไทย ซึ่งก็คือ ความหลากหลายทางชีวภาพและผลผลิตทางการเกษตรที่อุดมสมบูรณ์
ยกระดับพื้นที่เกษตร EEC
ดร.อุดม อัศวาภิรมย์ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยการห่อหุ้มระดับนาโน นาโนเทค สวทช. กล่าวว่า จากแนวทางการขับเคลื่อนสินค้าเกษตรในพื้นที่ EEC ตามที่คณะทำงานจัดทำแผนพัฒนาการเกษตรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกได้เสนอแนวทางไว้ ซึ่งให้ความสำคัญกับ 5 คลัสเตอร์ ได้แก่ ผลไม้ สมุนไพร พืชสำหรับอุตสาหกรรมชีวภาพ (Bio-based Product) สินค้าเกษตรมูลค่าสูง (High Valued Crops) และประมง โดยเน้นการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยขับเคลื่อนการเพิ่มมูลค่าและสร้างรายได้ให้ภาคการเกษตร ทางทีมวิจัยจึงได้เล็งเห็นว่าความเชี่ยวชาญของทีมวิจัยนาโนเทค สามารถที่จะตอบโจทย์ทิศทางการขับเคลื่อนดังกล่าวได้อย่างแน่นอน และเป็นโอกาสที่ดีของนาโนเทค ที่จะนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่ได้จากการวิจัยพัฒนา ไปช่วยแก้โจทย์ปัญหาด้านการพัฒนาสารสกัดและผลิตภัณฑ์สมุนไพรให้กับชุมชน โดยจะสามารถสร้างประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ให้กับทีมวิจัย รวมถึงสร้างโอกาสต่อยอดนำไปสู่การพัฒนาโครงการต่อไป ภายใต้การบูรณาการความร่วมมือกับชุมชน ภาครัฐ ตลอดจนภาคเอกชนในพื้นที่
สร้างอัตลักษณ์ด้วยนวัตกรรมจากพืชสมุนไพรท้องถิ่น
ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยการห่อหุ้มระดับนาโน นาโนเทค สวทช. กล่าวว่า ชุดโครงการ “การพัฒนาสารสกัดและผลิตภัณฑ์จากพืชสมุนไพร ณ พื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)” ประกอบไปด้วย กระบวนการเตรียมแปรรูปวัตถุดิบสมุนไพร การผลิตสารสกัด การทดสอบฤทธิ์ทางชีวภาพ และการพัฒนาสูตรตำรับผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องตามมาตรฐาน ASEAN COSMETIC GMP เพื่อถ่ายทอดให้แก่วิสาหกิจชุมชน 6 ชุมชนในพื้นที่ EEC กระบวนการผลิตสารสกัดมาตรฐาน (Standardized extract) หรือ สารออกฤทธิ์สำคัญ (Active ingredient) ที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน และความปลอดภัย สำหรับผู้ประกอบการ
สำหรับเป้าหมาย 6 พื้นที่ภายในปี 2565 ดร.อุดมชี้ว่า ได้ดำเนินการไปแล้ว 3 พื้นที่ ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรผลิตไม้กฤษณา ต.กะเฉด อ.เมือง จ.ระยอง, วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีฉะเชิงเทรา/ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ฉะเชิงเทรา และศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง/ กลุ่มแม่บ้านเกษตรบ้านหนองบอนแดง อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี, ส่วนอีก 3 พื้นที่ ได้แก่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนคนกับป่าบ้านเขาใหญ่ อ.บ่อทอง จ.ชลบุรี, กลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรบ้านตม อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี และวิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์ตะไคร้หอม อ.ปลวกแดง จ.ระยอง คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงปลายปี 2565 นี้
“หัวใจของการลงพื้นที่ในแต่ละครั้งคือ ชุมชนต้องการเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่เพื่อจะนำไปต่อยอด สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับพืชสมุนไพรที่มีอยู่ในท้องถิ่น เป็นช่องทางใหม่ในการสร้างรายได้ให้กับชุมชน” ดร.อุดมกล่าว พร้อมเสริมว่า การวิจัยและพัฒนาของทีมวิจัยจะเริ่มต้นจากสิ่งที่ชุมชนมีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นพืชท้องถิ่น พืชสมุนไพรที่ปลูกมากในพื้นที่ หรือมีผลิตภัณฑ์อยู่แล้ว และต้องการเพิ่มประสิทธิภาพ หรือแก้ปัญหาที่เผชิญอยู่ อาทิ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง จ.ชลบุรี ได้มีการผลิตและจำหน่ายแชมพูสมุนไพรสด ที่มีอายุการเก็บรักษาสั้น เกิดเชื้อหรือเน่าเสียง่าย และมีการตกตะกอน ทีมวิจัยจึงเข้าไปช่วยแนะนำเรื่องของการเลือกใช้สารกันเสียที่เหมาะสม ตลอดจนการปรับสูตรตำรับให้มีความคงตัว
หรือในมุมของวัตถุดิบ ทางทีมวิจัยจะนำมาศึกษากระบวนการสกัด วิจัยฤทธิ์ทางชีวภาพ เพื่อนำไปสู่การแปรรูป และต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ตามจุดเด่นของฤทธิ์ทางชีวภาพของสารสกัดนั้น
นักวิจัยนาโนเทคเล่าว่า การจะทำงานในแต่ละครั้ง ต้องไปศึกษาก่อนว่า ชุมชนนั้นมีจุดเด่นหรืออัตลักษณ์อะไร และพัฒนาต่อโดยไม่เปลี่ยนวิถีภูมิปัญญาเดิมของชุมชนนั้นๆ โดยอาศัยองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญที่มี ซึ่งในบางครั้งก็รวมถึงการต่อยอดสร้างอัตลักษณ์ใหม่ด้วยผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาขึ้นจากสิ่งที่มีในท้องถิ่นนั้นๆ เช่น ว่านเพชรหึงที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดฉะเชิงเทรา มีการส่งเสริมให้ชุมชนในพื้นที่ปลูก ศึกษาวิจัยเรื่องของการแปรรูปวัตถุดิบ การสกัด การพัฒนาอนุภาคว่านเพชรหึง พร้อมถ่ายทอดสูตรตำรับผลิตภัณฑ์ขัดผิว 2 ชนิด คือ ออร์คิด โททอล ออยล์บอดี้สครับ และเทอเมอริค โททอล ออยล์บอดี้สครับ ที่มีอนุภาคว่านเพชรหึงที่เตรียมได้มาใช้เป็นส่วนผสม เพื่อต่อยอดใช้ประโยชน์เทคโนโลยีสู่ผลิตภัณฑ์ของใช้ของฝากประจำถิ่น สร้างมูลค่าเพิ่มด้วยวัตถุดิบที่มีอยู่ในพื้นที่
หรือในพื้นที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนคนกับป่าบ้านเขาใหญ่ อ.บ่อทอง จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นการเปลี่ยนพืชอาหารช้าง อาทิ กล้วย อ้อย สับปะรด หรืออื่นๆ ที่เดิมชาวบ้านปลูกไว้สร้างรายได้ ซึ่งนำมาสู่การบุกรุกของช้างป่า จึงต้องปรับเปลี่ยนมาปลูกพืชสมุนไพร เพื่อลดปัญหาการขัดแย้งระหว่างคนและช้าง ไม่ว่าจะเป็น ขมิ้นชัน ตะไคร้ ข่าเหลือง โดยทีมวิจัยนาโนเทค ได้เข้าไปช่วยเรื่องการแปรรูปพืชสมุนไพรนั้นให้เป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงอย่างสเปรย์บรรเทาอาการปวดเมื่อย "สเปรย์เหลืองนาโน" เพื่อต่อยอดเพิ่มรายได้นอกเหนือจากการขายสมุนไพรสดสู่การใช้งานในธุรกิจนวดหรือสปา
เช่นเดียวกับผลการตอบรับจากวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรผลิตไม้กฤษณา ต.กะเฉด อ.เมือง จ.ระยองที่ต่างชื่นใจ และมีความสุขที่ได้ผลิตภัณฑ์จากวัตถุดิบเหลือใช้ในกระบวนการผลิตไม้กฤษณา ที่เดิมต้องทิ้งไปเปล่าๆ แต่ทางทีมวิจัยได้นำวัตถุดิบเหลือใช้ดังกล่าวมาศึกษาฤทธิ์ทางชีวภาพ และได้นำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ด้านเครื่องสำอาง คือสเปรย์บำรุงผิวหน้า Agarwood Soothing Spray เป็นการนำวัตถุดิบเหลือใช้กลับมาใช้ใหม่ สอดคล้องกับแนวทางเศรษฐกิจแบบ BCG model เป็นต้น
ขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบ Win-Win
แน่นอนว่า ข้อจำกัดในการทำงานยังมีให้เห็น ดร.อุดมอธิบายว่า การทำงานร่วมกับชุมชนนั้น ต้องเจอเรื่องของความเข้าใจในเทคโนโลยี, เครื่องไม้เครื่องมือที่แตกต่างจากการทำงานในระดับห้องปฏิบัติการของทีมวิจัย ทำให้ต้องเรียนรู้ที่จะปรับเปลี่ยน พลิกแพลงการทำงานให้เอื้อกับชุมชนมากที่สุด
รวมถึงข้อระเบียบในการทำมาตรฐานผลิตภัณฑ์ อาทิ อย. หรือ GMP เพื่อผลักดันผลิตภัณฑ์จากชุมชนให้สามารถผลิต จำหน่าย และทำตลาดได้ในวงกว้าง ซึ่งในกรณีนี้ จำเป็นต้องสร้างความร่วมมือกับภาคส่วนอื่นๆ มาเสริมกันกับความร่วมมือด้าน วทน. ที่นาโนเทคเราทำให้อย่างเต็มที่
“หากถามว่า เราทำไปแล้วได้อะไร ในมุมของผู้รับเทคโนโลยี เรานำทีมเข้าไปช่วยเรื่องของวิจัยและพัฒนา ประโยชน์ที่จะได้ หากเป็นเอกชนขนาดกลางหรือใหญ่ ก็จะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ ในขณะเดียวกัน หากเป็นธุรกิจขนาดกลางและเล็ก รวมถึงชุมชนและวิสาหกิจชุมชนต่างๆ เช่นโครงการนี้ จะเป็นการนำ วทน. มาเพิ่มคุณภาพชีวิต ยกระดับพืชสมุนไพรที่มีอยู่ในท้องถิ่นให้มีมูลค่ามากขึ้น มีการนำไปใช้ประโยชน์ที่สามารถสร้างรายได้กลับมาให้ชุมชน” ดร.อุดมกล่าว พร้อมเสริมว่า ในมุมของนักวิจัยเอง ก็เป็นการเรียนรู้ที่จะเข้าใจโจทย์จากชุมชน ที่มีข้อจำกัดเรื่องของเครื่องมือ ความเข้าใจในเทคโนโลยีต่างๆ พร้อมกับปรับวิธีการ เครื่องมือ และกระบวนการทำงานที่ง่าย และสะดวกกับชุมชนนั้นๆ ในการต่อยอดองค์ความรู้ที่เราถ่ายทอดไปใช้ได้จริง เสริมสร้างมุมมองใหม่ในการทำงานวิจัยและพัฒนาที่จะเป็นการก้าวข้ามกรอบเดิม ก็ถือเป็นอีกความสำเร็จหนึ่งที่ในวันนี้ เราทำได้ในหลายพื้นที่ และจะขยายการทำงานไปให้เต็มความสามารถ ซึ่งสิ่งสำคัญที่ทำให้โครงการนี้สำเร็จได้ นอกเหนือจากความร่วมมือของชุมชน และภาครัฐในพื้นที่ ที่ขาดไม่ได้คือ “Core technology capability” และ “Core team” ที่ร่วมขับเคลื่อนโครงการนี้ด้วยกัน ซึ่งเราร่วมมือกันทั้งฝ่ายวิจัยและฝ่ายสนับสนุน ตลอดจนการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานภายใน สวทช. โดยเฉพาะทีม EECi โดยทุกคนมีเป้าหมายเดียวกัน คือ การนำองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ไปช่วยตอบโจทย์ และยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนให้ได้อย่างแท้จริง