ความสำเร็จและภาคภูมิใจของนักวิจัยนาโนเทค สวทช. บนเวทีระดับนานาชาติอย่าง iENA 2022 ไม่ว่าจะเป็น แผ่นกรองอากาศคาร์บาโน (CARBANO air filter), กระบวนการผลิตเข็มขนาดไมครอนบนผืนผ้าแบบรวดเร็วและสามารถปรับเปลี่ยนฟีเจอร์ และ 'แมงกานีสเซนส์' ชุดทดสอบไอออนแมงกานีสปนเปื้อนในน้ำ รวมถึงเวที SIIF 2022 อย่าง ริเชอรอล เนเชอรัล เฟเชียว ซีรั่ม และ ไบโอแคลเซียมคาร์บอเนตรสำหรับอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง ที่ยกขบวนกันไปขนรางวัลกลับมา NANOTEC Newsletter ฉบับนี้ จะพาไปคุยกับ 5 หนุ่มนักวิจัย ดร.โอ๋-ไพศาล ขันชัยทิศ, ดร.ตู่-พงษ์ธนวัฒน์ เข็มทอง, ดร.ท็อป-กันตพัฒน์ จันทร์แสนภักดิ์, ดร.ธง-ธงชัย กูบโคกกรวด และ ดร.บาส-ชุติพันธ์ เลิศวชิรไพบูลย์ ที่เป็นตัวแทนทีมไปนำเสนอผลงานไกลถึงเยอรมนี และเกาหลีใต้ มาช่วยแชร์ประสบการณ์การเตรียมความพร้อมก่อนไป ล้วงเทคนิคการนำเสนอ และประสบการณ์ที่ได้จากงานในครั้งนี้
งาน “The International Trade Fair – Ideas, Inventions and New Products” (iENA 2022) ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 27 – 30 ตุลาคม 2565 ณ เมืองนูเรมเบิร์ก สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี โดย AFAG Messen und Ausstellungen GmbH โดยการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 74 แล้ว โดยเป็นเวทีการประกวดผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมระดับนานาชาติที่สำคัญในสหภาพยุโรป โดยมีนักประดิษฐ์และนักวิจัยจากทั่วโลกนำผลงานเข้าประกวดและจัดแสดงกว่า 500 ผลงาน จากกว่า 20 ประเทศ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมชมงานมากกว่า 10,000 คน โดยผลงานจากประเทศไทยที่ วช.นำเข้าร่วมประกวดในครั้งนี้ เป็นผลงานที่ผ่านการพิจารณาโดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในการกลั่นกรองในเกณฑ์ที่ให้ความสำคัญ ได้แก่ มาตรฐานของผลงานประดิษฐ์คิดค้นและผลงานวิจัย ความพร้อมในการนำผลงานไปใช้ประโยชน์ ผลงานที่มีกระบวนการยื่นจดทรัพย์สินทางปัญญา รวมทั้ง ผลงานที่ได้รับรางวัลในเวทีระดับประเทศ อาทิ รางวัลการวิจัยแห่งชาติ เป็นต้น
ในขณะที่การประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมระดับนานาชาติในงาน Seoul International Invention Fair 2022 (SIIF 2022) ซึ่งจัดขึ้นที่ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี ระหว่างวันที่ 16-19 พฤศจิกายน 2565 ซึ่ง SIIF เป็นเวทีการประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมระดับนานาชาติที่มีขนาดใหญ่และสำคัญมากในเอเชีย ในแต่ละปีมีผลงานสิ่งประดิษฐ์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมจากประเทศต่างๆ เข้าร่วมนำเสนอและประกวดกว่า 1,000 ผลงาน
ชัดเจน เข้าใจ และเข้าถึง
ดร.ไพศาล ขันชัยทิศ จากทีมวิจัยเข็มระดับนาโน กลุ่มวิจัยวัสดุตอบสนองและเซ็นเซอร์ระดับนาโน กล่าวว่า สำหรับการเตรียมตัวนั้น เขาเตรียมตัวก่อนไปค่อนข้างดี ด้วยตัวงานที่เป็นไมโครนีดเดิล ซึ่งค่อนข้างใหม่ จึงปรับการนำเสนอจากเดิมที่เป็นเชิงเทคนิค ก็ปรับหน้าตาของโปสเตอร์ให้เน้นผลิตภัณฑ์หรือฟีเจอร์ให้ชัดเจน และพยายามเล่าถึงผลิตภัณฑ์ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่นำไปใช้ในแอพพลิเคชั่นที่หลากหลาย โดยเน้นให้เห็นภาพชัดเจน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้เข้าชมทั่วไป โดยอาจจะเปรียบเทียบกับสิ่งที่เขาเคยเห็นหรือเคยใช้มาก่อน ซึ่งจะทำให้เข้าใจง่าย ในขณะเดียวกัน ก็เตรียมของ เตรียมผลิตภัณฑ์ต้นแบบไปด้วยเพื่อให้ผู้เข้าชมได้สัมผัสของจริง ที่จะเชื่อมโยงให้เห็นการใช้งาน
"Do you have a minute?" คือเคล็ดลับของงานนี้ ที่ดร.ไพศาลกระซิบมา เพราะเขาอาศัยเดินไปเรียกคนมาที่บูทเลย
“ด้วยลักษณะงานที่เราไม่เห็นหน้างานมาก่อน ทำให้เมื่อไปถึง บริเวณที่เราอยู่เป็น section ที่แยกออกมาจากงานใหญ่ เนื่องจากเป็นงานใหญ่มาก ทำให้ต้องกระจายออกไป โดยคนที่เดินเข้ามาใน section ของบูทเรา อาจจะไม่มีพื้นฐานทางด้าน วทน. มากนัก บวกกับคนเยอรมัน ที่ไม่ได้เชี่ยวชาญภาษาอังกฤษเท่าไหร่ ทำให้บางคนแม้จะสนใจงานของเรา แต่ก็ไม่กล้าเข้ามา ทำให้ตัดสินใจที่จะเดินออกไปชวนคนเข้ามาในบูทและนำเสนองานวิจัยของเรา” ดร.ไพศาลเล่าพร้อมเสริมว่า นอกจากนี้ พยายามใช้โปสเตอร์ที่เตรียมจากไทย ทำเป็น handouts ที่อธิบายได้ง่าย ชัดเจน ช่วยให้คนฟังตามสิ่งที่เราอธิบายทัน เพราะเป็นเทคโนโลยีใหม่เทคนิคการเล่าเรื่องจึงสำคัญ โดยเตรียมพร้อมโดยถือเป็นการเล่าให้กับคนที่ไม่รู้เรื่องนี้มาก่อนฟัง
แม้จะมีความท้าทายมากมาย แต่สิ่งที่ได้กลับมาคือ ความภูมิใจ เพราะไม่ใช่แค่ได้มาร่วมงาน แต่เราได้คำชมมากมายจากคนที่มาที่บูท การตอบรับดีมาก มีคำชมแปลกๆ ที่หากอยู่ในหมวกของนักวิจัยจะไม่ค่อยได้ยิน ไม่ว่าจะเป็นคำว่า เจ๋ง (Cool) หรือ Congratulation ที่เกิดจากการมองงานของเราเป็นผลิตภัณฑ์นวัตกรรมมากกว่างานวิจัย เป็นความสำเร็จอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะมีคนถามว่า มาจากประเทศอะไร และไทยเราสามารถทำได้ถึงขนาดนี้เลยหรือ รวมถึงเป็นที่น่ายินดีว่า เราเป็นที่สนใจของ exhibitors ของชาติอื่นๆ ที่เป็นคู่แข่ง โดยเฉพาะเกาหลี ไต้หวันที่คุ้นชินกับเทคโนโลยีไมโครนีดเดิล
สร้างโอกาส สร้างภาพจำ
ด้าน ดร.พงษ์ธนวัฒน์ เข็มทอง จากทีมวิจัยตัวเร่งปฏิกิริยา กลุ่มวิจัยการเร่งปฏิกิริยาและการคำนวณระดับนาโน ที่พา แผ่นกรองอากาศคาร์บาโน หรือ CARBANO air filter ไปไกลถึงเยอรมนีนั้น เรียกได้ว่า เตรียมตัวมาเป็นอย่างดี
"ต้องบอกว่า น้องๆ ทีมงานทุกคนทำงานหนักมากเพื่อให้ผลงานออกมาดี โดยตั้งเป้าว่า CARBANO air filter ต้องกลายเป็นสิ่งที่ต้องตาของผู้เข้าร่วมงาน เห็นแล้วต้องหันกลับมามองอีกครั้ง" ดร.พงษ์ธนวัฒน์กล่าวพร้อมเผยเคล็ดลับว่า ทีมวิจัยวางแผนเตรียมเนื้อหาข้อมูลให้สั้นกระชับ ได้ใจความ เข้าใจได้ง่ายทุกสาขาอาชีพ มีการเตรียมสื่อหลายแบบเพื่อนำเสนอในแต่ละกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะคำโปรยและวลีเด็ดที่พร้อมจะเป็นไวรัล (Viral)
นอกจากนี้ ยังเตรียมตัวเพื่อนำเสนอในผลงานประดิษฐ์ในเวทีกลางภายในระยะเวลา 5 นาที ซึ่งเขากล่าวว่า โชคดีที่ปีนี้ CARBANO Air Filter ได้รับคัดเลือกให้ขึ้นไปนำเสนอ ทำให้มีช่วงขายของที่เรียกพันธมิตรได้อย่างมีอรรถรส ซึ่งเราจะเน้นจุดเด่นของผลงาน รวมถึงการประชาสัมพันธ์ให้คนมาเยี่ยมชมที่บูท
หลังลงทุน ลงแรงเตรียมตัวมามากมาย ดร.พงษ์ธนวัฒน์เล่าว่า สำหรับผลลัพธ์ที่ได้ครั้งนี้ ยอมรับว่า สะพรึงมาก เพราะคว้ารางวัลระดับนาชาติมาได้ถึงสองรางวัล เนื่องจากเป็นการเข้าร่วมงานงานประกวดแบบตัว onsite ครั้งแรกของตัวเอง จึงรู้สึกตื่นเต้นมาก เปิดประสบการณ์และโลกทัศน์แบบสุดๆ แต่สิ่งที่ทำให้รู้สึกหายเหนื่อยทันทีคือ การได้เห็นคนให้ความสนใจในผลิตภัณฑ์ ซึ่งมีเข้ามาตลอด จนแอบตกใจ รวมถึงได้รับทาบทามเพื่อร่วมงานในอนาคต
ประสบการณ์การเข้าร่วมงานประกวดระดับนานาชาติ ที่ทำให้ได้เจอผู้คนจากทั่วโลก และได้พูดคุย แลกเปลี่ยนประสบการณ์ เขายังได้ข้อคิดจากคนที่มาร่วมว่า นอกจากเทคโนโลยีที่น่าสนใจแล้ว เรายังต้องตระหนักว่า ผลิตภัณฑ์ของเราจับต้องได้ไหมและเข้าถึงได้ง่ายหรือไม่ รวมถึงไอเดียในการสร้างแบรนด์ของผลิตภัณฑ์ให้มีคนสนใจ ซึ่งทางทีมก็มุ่งมั่นว่า สักวันหนึ่งชื่อ CARBANO จะกลายเป็นผลิตภัณฑ์ ที่ใครๆ ก็กล่าวถึง และอยากจะใช้งานในอนาคต
ดึงดูดสายตา สร้างเครือข่ายพันธมิตร
ในขณะที่ ดร.กันตพัฒน์ จันทร์แสนภักดิ์ จากทีมวิจัยวัสดุตอบสนองระดับนาโน กลุ่มวิจัยวัสดุตอบสนองและเซ็นเซอร์ระดับนาโน เล่าว่า ก่อนที่จะไป เขาต้องเขียนรายละเอียดของผลงาน ‘แมงกานีสเซนส์’ ชุดทดสอบไอออนแมงกานีสปนเปื้อนในน้ำ ที่ต้องศักยภาพในการนำไปใช้จริง และมีผู้ใช้ประโยชน์ (user) ที่ชัดเจน ให้ทาง วช. พิจารณาและคัดเลือกอยู่แล้ว เมื่อผ่านการคัดเลือกก็ไปดำเนินการจดสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตรสำหรับสิ่งประดิษฐ์ให้เรียบร้อยก่อนงานนิทรรศการ จากนั้น เตรียมสื่อการนำเสนอไม่ว่าจะเป็นโปสเตอร์ แผ่นพับ วิดีโอนำเสนอผลงาน และต้นแบบผลงานวิจัยต่างๆ ให้ครบถ้วน
ซึ่งการเตรียมความพร้อมดังกล่าว ก็เชื่อมโยงกับเทคนิคการนำเสนอ ที่ ดร.กันตพัฒน์ เผยว่า ด้วยเป็นการแสดงนิทรรศการ ตัวบูทและสิ่งจัดแสดงต่างๆ ต้องมีความโดดเด่น สะดุดตา รายละเอียดของผลงานต้องชัดเจน เพื่อดึงดูดผู้เข้าร่วมงานให้เข้ามาที่บูท ซึ่งการวางแผนและเตรียมความพร้อมมาก็ไม่ทำให้ผิดหวัง
“ประสบการณ์ นับเป็นบทเรียนที่มีคุณค่ามาก โดยเฉพาะตนเองที่มีโอกาสได้ประสบการณ์การนำเสนอผลงานสิ่งประดิษฐ์ในระดับนานาชาติ ได้เห็นตัวอย่างการนำเสนอผลงานจากนานาประเทศทั้งจากบริษัทเอกชน บริษัทสตาร์ทอัพ มหาวิทยาลัย และหน่วยงานวิจัยของรัฐ ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้ในการนำเสนอผลงานสิ่งประดิษฐ์ของตนเองในอนาคตได้” ดร.กันตพัฒน์กล่าว พร้อมชี้ว่า นอกจากนี้ ยังได้ประสบการณ์ในเรื่องของการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เช่น การติดต่อประสานงานกับผู้จัดนิทรรศการ การเดินทางต่างประเทศ เป็นต้น รวมถึงได้สร้างพันธมิตร สร้างเครือข่ายกับหน่วยงานที่มีชื่อเสียงด้านผลงานสิ่งประดิษฐ์ ทั้งหน่วยงานของประเทศไทยด้วยกันและหน่วยงานต่างประเทศอีกด้วย
นำเสนอกระชับ เห็นภาพชัดเจน
ดร.ธงชัย กูบโคกกรวด ทีมวิจัยนาโนเทคโนโลยีเพื่อคุณภาพชีวิตและเวชสำอาง กลุ่มวิจัยการห่อหุ้มระดับนาโน นำ “ริเชอรอล เนเชอรัล เฟเชียว ซีรั่ม จากเทคโนโลยีการกักเก็บสู่นวัตกรรมเครื่องสำอาง (REISHURAL : NATURAL FACIAL SERUM, From Encapsulation technology to cosmetic Innovation )” คว้ารางวัล Gold Prize จากเวที SIIF 2022 ซึ่งเคล็ดลับหนึ่งของความสำเร็จคือ การเตรียมความพร้อม นั่นเอง
"เราเตรียมพร้อมอย่างมาก เริ่มจากการเตรียมตัวก่อนไป ที่ต้องเตรียมเนื้อหาผลงานที่กระชับ เข้าใจง่าย และมีความถูกต้องทางวิชาการ รวมทั้งการแสดงถึงการมีเทคโนโลยี การมีทรัพย์สินทางปัญญา เป็นสิทธิบัตร หรืออนุสิทธิบัตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับบริษัทเอกชน ในขณะเดียวกันก็ต้องเตรียมผลิตภัณฑ์ในการแสดงผลงาน เนื่องจากผลงานของนาโนเทค เป็นผลงานวิจัยต้นแบบ และได้ถ่ายทอดให้กับบริษัทเอกชนที่รับถ่ายทอดแล้ว ทีมวิจัยจึงเตรียมไปทั้ง 2 แบบ เพื่อให้เห็นถึงการทำงานวิจัยในระดับห้องปฏิบัติการ อธิบายผลิตภัณฑ์ และเตรียมผลิตภัณฑ์ที่บริษัทผลิตและขายแล้วในตลาดไปด้วย จะทำให้เห็นถึงแนวคิดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ งานวิจัย การถ่ายทอดเทคโนโลยี จนสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางการตลาดได้" นักวิจัยนาโนเทคกล่าว พร้อมเพิ่มเติมถึงการเตรียมโมเดลในการอธิบาย ด้วยผลงานที่พัฒนาขึ้นเป็นสารสกัดเห็ดหลินจือ, อนุภาคนาโนสารสกัดเห็ดหลินจือ ซึ่งการอธิบายระบบที่เล็กมากๆ เข้าใจได้ยาก นักวิจัยจึงเตรียมโมเดลอนุภาคจำลอง เพื่อใช้อธิบายกลไกการทำงานของอนุภาค และการเพิ่มประสิทธิภาพของอนุภาค คณะกรรมการที่รับฟังจะเข้าใจได้ง่ายขึ้น
นอกจากนี้ ดร.ธงชัย ยังแบ่งปันเทคนิคการนำเสนอผลงานว่า ตนเองทราบเวลาโดยประมาณว่า คณะกรรมการจะมาช่วงไหน เมื่อกรรมการเข้ามา เราสามารถอธิบายเนื้อหาที่กระชับ เข้าใจง่าย และมีความถูกต้องทางวิชาการ รวมทั้งได้แสดงถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยี การมีทรัพย์สินทางปัญญา เป็นสิทธิบัตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับบริษัทเอกชน และมีตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการจดแจ้งจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีเซรั่มให้กรรมการได้ลองใช้ที่บูธ โดยไม่ต้องรีบเร่งอธิบาย นำเสนอทีละประเด็น พร้อมยกตัวอย่างที่เข้าใจง่ายในชีวิตประจำวันด้วย
ผลลัพธ์จากการเตรียมพร้อม การวางแผนงานอย่างดี ทำให้ได้ผลตอบแทนที่สร้างความปลาบปลื้ม เพราะนอกจากรางวัลเหรียญทองแล้ว ประสบการณ์ที่ได้มาก็มีคุณค่าเช่นกัน
"เราได้ผองเพื่อน พี่น้อง ที่เป็นนักประดิษฐ์คิดค้นที่เป็นตัวจี๊ด เก่งมากๆ ของไทย และบอกได้เลยว่า แต่ละท่านที่ร่วมเดินทางไปมีความรู้ความสามารถ และประสบการณ์มากมาย โดยจากการเดินทางร่วมกับคณะนักประดิษฐ์ที่เดินทางร่วมกับทีม วช. มีกิจกรรมร่วมกันทั้งตอนเดินทาง การเตรียมงาน การร่วมแข่งขัน ได้รับประสบการณ์ คำแนะนำ มิตรภาพและแรงบันดาลใจ ให้เราได้พัฒนาผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ พัฒนาผลงานที่ตอบรับความต้องการของภาคธุรกิจ ภาคสังคมที่ไม่ได้หวังผลกำไร และคนที่จะได้กำไรจากผลงานเหล่านี้คือ คนไทย และหลายผลงานที่ร่วมเข้าแข่งขันครั้งนี้สามารถสร้างผลกระทบกับสังคมโลกได้ในวงกว้าง" ดร.ธงชัยกล่าวพร้อมทิ้งท้ายว่า แนะนำให้นักวิจัย ทีมผู้บริหารได้เข้าร่วมกิจกรรมประกวดระดับนานาชาติบ่อย ๆ ครับ แล้วเราจะเห็นว่า ผลงานวิจัย สิ่งปะดิษฐ์ ที่พัฒนาขึ้นมีช่องทางที่จะต่อยอดอีกมากมาย ผู้คนจะได้รับประโยชน์จะสิ่งที่เราทำครับ
สื่อสารชัดเจน นวัตกรรมจับต้องได้
ในขณะที่ "ไบโอแคลเซียมคาร์บอเนตสำหรับอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง ( Bio-Calcium Carbonate for Cosmetic Industry)" ที่ได้รับรางวัล Bronze Prize จากเวที SIIF 2022 นั้น ดร.ชุติพันธ์ เลิศวชิรไพบูลย์ ตัวแทนจากทีมวิจัยการวินิจฉัยระดับนาโน กลุ่มวิจัยวัสดุตอบสนองและเซ็นเซอร์ระดับนาโน เผยว่า เขาศึกษาตลาดที่จะไปก่อนว่า สอดคล้องกับงานวิจัยที่จะเตรียมไปมากน้อยแค่ไหน เนื่องจากเกาหลีเป็นประเทศที่อุตสาหกรรมเครื่องสำอางเข้ามามีบทบาทมากอยู่แล้ว แคลเซียมคาร์บอเนตเองก็เป็นวัตถุดิบสำคัญที่ใช้ในอุตสาหกรรมนี้ ส่วนนวัตกรรมไบโอแคลเซียมคาร์บอเนตที่พัฒนาขึ้นจากเปลือกหอยมุกนั้น ผ่านทดสอบแล้วว่า ประสิทธิภาพดี และปลอดภัยในการใช้เป็นส่วนประกอบสำหรับเครื่องสำอาง ก็เริ่มเตรียมการเพื่อสื่อสารงานวิจัยของตนให้ดีที่สุด
"เนื่องจากไบโอแคลเซียมคาร์บอเนตของเราเป็นวัตถุดิบกลางน้ำ การจะสื่อสารให้ผู้เข้าชมงานหรือคณะกรรมการเข้าใจอาจจะยาก ดังนั้น วิธีการนำเสนอของเราก็จะยกกระบวนการตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำมาให้เห็น เริ่มจากเปลือกหอยมุกที่ลักษณะโครงสร้างเหมือนกับหอยมุก กระบวนการต่างๆ 1 2 3 4 จนกระทั่งเป็นไบโอแคลเซียมคาร์บอเนต โดยเราก็เตรียมไป 2 ขนาดที่เป็นที่นิยมคือ 5 ไมครอนและ 100 ไมครอน พร้อมกับต้นแบบผลิตภัณฑ์ที่จะชี้ให้เห็นว่านวัตกรรมของเราทำประโยชน์อะไรได้บ้าง อย่างสบู่ที่ผสมไบโอแคลเซียมคาร์บอเนตขนาด 5 ไมครอน ที่จะช่วยให้เกิดโฟมได้เร็ว เพิ่มสมบัติการชะล้างได้ดียิ่งขึ้น และสครับผสมไบโอแคลเซียมคาร์บอเนตขนาด 100 ไมครอน เป็นทางเลือกจากธรรมชาติทดแทนการใช้ไมโครพลาสติกหรือแร่ธาตุอื่นๆ" ดร.ชุติพันธ์อธิบาย
แต่การดึงดูดความสนใจของคนก็จำเป็น นักวิจัยนาโนเทคใช้เทคนิคดึงความสนใจด้วยแผ่นเปลือกหอยมุกขนาด 1 กิโลกรัม ที่มีสีสันสวยงามเหมือนหอยมุก ผสานการบอกเล่าเชื่อมโยงเปลือกหอยมุกกับข้อมูลโครงสร้าง สีสัน และการนำไปสู่ไบโอแคลเซียมคาร์บอเนต พร้อมกับของที่ระลึกเล็กๆ อย่างสบู่ผสมไบโอแคลเซียมคาร์บอเนตแจกไปพร้อมกับโบรชัวร์
ประสบการณ์ที่ดีจากเวทีการประกวดระดับนานาชาตินี้ ดร.ชุติพันธ์ กล่าวว่า สิ่งแรกที่เห็นคือ ไม่ว่าจะเป็นคนที่มางาน หรือคณะกรรมการจะมองหาผลิตภัณฑ์กลุ่มปลายน้ำที่จับต้องได้หรือนำมาใช้ได้เลย ในขณะที่งานของเราเป็นกลางน้ำ เป็นความท้าทายอย่างมาก นอกจากนี้ การได้ไปเห็นนวัตกรรมจากทั้งของไทยเอง หรืออีกกว่า 20 ประเทศที่เข้าร่วมแสดงผลงาน ทำให้เราได้รู้ว่า เขาไปถึงไหนกันแล้ว ทำให้ย้อนกลับมาดูตัวเราว่า จะพัฒนาต่อไปอย่างไร เพื่อผลักดันให้งานของเรากลายเป็นผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่จะคว้าเหรียญทองมาได้ในอนาคต นอกจากนี้ มิตรภาพและความผูกพันธ์ของนักวิจัยไทยที่ได้ใช้เวลาร่วมกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ก็ทำให้เกิดเครือข่ายสังคมนักวิจัยที่อาจนำไปสู่ความร่วมมืออื่นๆ ได้ในอนาคต