หุบเหวมรณะ (Valley of Death) นับเป็นอุปสรรคสำคัญในการส่งต่องานวิจัยออกไปสู่เชิงพาณิชย์ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับผู้ใช้ รวมถึงเศรษฐกิจ และขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่ง สวทช. หรือสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ มองเห็นและพัฒนา “โครงการพัฒนาบุคลากรวิจัยระดับหลังปริญญาเอก เพื่อทำวิจัยรองรับอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของประเทศไทย (Industrial Postdoctoral Research Fellowship Program to Support Thailand Strategic Industry หรือIndustrial Postdoc)” กลไกในการเชื่อมภาควิจัยและภาคอุตสาหกรรมให้เดินไปด้วยกันอย่างต่อเนื่องจนสามารถส่งต่อนวัตกรรมถึงมือผู้ใช้ปลายทางในที่สุด โดยได้รับทุนสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาการวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.)
ก่อร่าง สร้างสะพานเชื่อม
ดร.วรรณี ฉินศิริกุล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช. กล่าวว่า โครงการพัฒนาบุคลากรวิจัยระดับหลังปริญญาเอก เพื่อทำวิจัยรองรับอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของประเทศไทย (Industrial Postdoctoral Research Fellowship Program to Support Thailand Strategic Industry หรือ Industrial Postdoc) เกิดจาก สวทช. เขียนข้อเสนอโครงการไปยัง บพค. ซึ่งเป็นแหล่งทุนที่มุ่งเน้นด้านการสร้างกำลังคน
โดยโครงการนี้ เป็นการบ่มเพาะนักวิจัยหลังปริญญาเอก เพื่อทำงานวิจัยที่ตอบโจทย์ของภาคอุตสาหกรรมสาขาที่สำคัญของประเทศ โดยขับเคลื่อนโครงการวิจัยต่างๆ ของภาคอุตสาหกรรม เพื่อขยายช่องทางการพัฒนานักวิจัยหลังปริญญาเอกที่จะได้ทำงานวิจัยรองรับอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของประเทศเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม จะยังคงรักษาคุณภาพในการบริหารจัดการรวมทั้งระบบบ่มเพาะนักวิจัยหลังปริญญาเอกไว้ตามมาตรฐาน สวทช. ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จของโครงการคือ ความร่วมมือจากภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดผลงานวิจัยที่ใช้ได้จริง และสามารถยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป
"สำหรับ Industrial Postdoc รุ่นที่ 1 (ปี 2563-2564) นั้น ทางผู้บริหารในขณะนั้น ซึ่งนำโดย ดร.ชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล รองผู้อำนวยการ สวทช. และดร.อ้อมใจ ไทรเมฆ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. สายงานพัฒนากำลังคนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เสนอไป 30 คน และนาโนเทคของเราได้รับการจัดสรรมา 18 คน ถือว่า เป็นการติดอาวุธให้กับนักวิจัยที่เรียนจบระดับปริญญาเอกให้มีโอกาสได้ทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น กลุ่ม BCG ซึ่ง สวทช. เองมีโอกาสทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรมอยู่แล้ว ทั้งผ่านการรับจ้างวิจัย ร่วมวิจัย หรือถ่ายทอดเทคโนโลยี (licensing) ทำให้เรามีศักยภาพในการบ่มเพาะบุคลากรเหล่านี้” ดร.วรรณีกล่าว
นอกเหนือจากเงินสนับสนุนจาก บพค. และโจทย์จากภาคอุตสาหกรรมแล้ว ปัจจัยสำคัญของการสร้างบุคลากรวิจัยชั้นนำคือ การจับมือกันของพี่เลี้ยงจาก 2 ฝ่ายคือ ฝ่ายวิจัยและฝ่ายอุตสาหกรรม ที่จะสนับสนุนข้อมูลเชิงลึก การทำงาน ประสบการณ์ต่างๆ ทั้งดานการทำวิจัย และการตลาด นักวิจัย Industrial Postdoc ก็จะได้เรียนรู้และลงมือทำ โดยที่เห็นภาพตั้งแต่ต้นน้ำคือ การทำวิจัยและพัฒนาในระดับห้องปฏิบัติการ สู่กระบวนการผลิตเชิงอุตสาหกรรม จนถึงมือผู้ใช้ในที่สุด
ปัจจุบัน นาโนเทคมีนักวิจัย Industrial Postdoc ที่ได้รับจัดสรรทั้งสิ้น 41 อัตราจากจำนวน 85 อัตราที่ สวทช. ได้รับการจัดสรรทั้งหมด โดยแบ่งออกเป็นรุ่นที่ 1 (2563-2564) จำนวน 18 อัตรา, รุ่นที่ 2 (2565) จำนวน 20 อัตรา, รุ่นพิเศษ (2565) จำนวน 3 อัตรา และโครงการพิเศษ (2566) ที่อยู่ระหว่างพิจารณา (สวทช.เสนอพิจารณา 45 ทุน โดย ศน.เสนอ 14 ทุน) โดยในขณะนี้ สัญญาสิ้นสุด 8 อัตรา และอยู่ระหว่างสรรหา (รุ่นพิเศษ) 3 อัตรา คงเหลือในปัจจุบัน จำนวน 30 อัตรา ทำวิจัยร่วมกับภาคเอกชน จำนวน 27 แห่ง ซึ่งนักวิจัย Industrial Postdoc รุ่น 1 และ 2 ของนาโนเทค สามารถทำผลงานส่งมอบที่ผ่านมา ได้แก่ 12 Paper (ตีพิมพ์ 7, Required reviewer complete 1, ร่าง 4 ), 5 สิทธิบัตร (ยื่นจด 4, ร่าง 1), 19 อนุสิทธิบัตร (ยื่นจด 18, ร่าง 1) และ 1 ต้นแบบเชิงพาณิชย์
“ระยะเวลา 2 ปี สำหรับโครงการนักวิจัย Industrial Postdoc นั้น ถือเป็น 2 ปีที่จะติดอาวุธ ลับคมให้นักวิจัยไปต่อได้ไกล ผ่านการเสริมกำลังคนคุณภาพสู่ภาคอุตสาหกรรม นาโนเทคเองก็มีโครงการที่ทำงานร่วมกับภาคเอกชนมากมาย ซึ่งหากถามว่า เรานาโนเทคได้อะไร สิ่งแรกเลยคือ กำลังคน ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องการมากๆ และ Industrial Postdoc เข้ามาเสริมเรื่องของบุคลากรที่เรามีจำกัด ต่อมาคือ เครือข่ายนักวิจัยที่แบ่งปันประสบการณ์และองค์ความรู้จากนักวิจัยพี่เลี้ยง และตัวนักวิจัย Industrial Postdoc เองที่ 1 ใน 3 ของบุคลาการเหล่านั้น เรียนจบจากต่างประเทศ อีก 2 ใน 3 จบจากสถาบันภายในประเทศ ซึ่งทุกคนจะมีองค์ความรู้และประสบการณ์การทำงานที่แตกต่างกัน การได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันก็จะช่วยเพิ่มพูนทักษะต่างๆ ได้เช่นกัน” ผู้อำนวยการนาโนเทคกล่าว
ในขณะเดียวกัน ภาคอุตสาหกรรมก็ได้ประโยชน์เช่นกัน นอกเหนือจากจะได้รับผลงานตามแผนงานที่วางไว้แล้ว ก็อาจได้บุคลากรคุณภาพที่สามารถเข้าไปทำงาน ตอบความต้องการของอุตสาหกรรมนั้นๆ ได้เลย โดยไม่ต้องเริ่มนับ 1 ใหม่ ที่สำคัญ ประเทศก็ได้ประโยชน์ด้วย เพราะไทยเราต้องขับเคลื่อนด้วยพลังปัญญาและความรู้ ที่ต้องอาศัยความร่วมมือของทั้งภาคการศึกษา ภาคการวิจัย รวมถึงภาคอุตสาหกรรมที่จะช่วยกันขับเคลื่อนประเทศ
“โครงการนี้ เห็นผลชัดเจนว่า การลงทุนด้วยงบประมาณจากภาครัฐผ่านทุนวิจัยที่สร้างบุคลากรคุณภาพประสบความสำเร็จ และเป็นก้าวสำคัญของประเทศในการลงทุนที่ถูกจุด” ดร.วรรรณีชี้
อย่างไรก็ดี ผู้อำนวยการนาโนเทคมองว่า ในอนาคต ยังคงมีความต้องการบุคลากรรูปแบบนี้อีกมากเนื่องจากความต้องการของภาคอุตสาหกรรม เช่นเดียวกับการขยายระยะเวลาโครงการ จากโครงการที่ผ่านมา ระยะเวลา 2 ปีอาจไม่เพียงพอ ต้องขยายเฟสการทำงานเพื่อให้งานมีประสิทธิภาพและสำเร็จในที่สุด รวมถึงการสร้างเครือข่ายที่จะนำสู่การเรียนรู้ แบ่งปันประสบการณ์ ความร่วมมือ หรือรวมถึงโอกาสในการสรรงบวิจัยเพื่อเดินหน้าทำงานวิจัยให้ต่อเนื่อง ต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ให้ไปได้เร็ว ไม่สะดุด
รับโจทย์อุตสาหกรรม เรียนรู้นอกห้องปฏิบัติการ
“การเป็น Industrial Postdoc โดยส่วนตัวมองว่า ประสบความสำเร็จ เนื่องจากตั้งแต่เรียนจบ เราไม่เคยทำงานร่วมกันกับภาคเอกชนเลย ทำการทดลองวิจัยในห้องปฏิบัติการในมหาวิทยาลัยเท่านั้น ทำให้เราไม่รู้โจทย์ความต้องการของภาคเอกชน จนกระทั่งได้มาเป็น Industrial Postdoc ที่ทำให้รู้ว่า เอกชนต้องการอะไร ผู้บริโภคต้องการอะไร ทำให้การทำงานวิจัยชัดขึ้น เร็วขึ้น สร้างผลงานที่ตอบความต้องการของผู้ใช้ ด้วยประสิทธิภาพและเทคโนโลยี” ดร.ณัฐพงษ์ พินปรุ นักวิจัย Industrial Postdoc จากกลุ่มวิจัยวัสดุผสมและการเคลือบนาโน นาโนเทคกล่าว
เขาเริ่มงานในนาโนเทค สวทช. เมื่อประมาณเดือนเมษายน ปี 2564 ซึ่งแน่นอนว่า ในครั้งแรกรู้สึกแปลกใจบ้าง เนื่องจากรู้จักเพียงแค่ตำแหน่ง Postdoc หรือนักวิจัยหลังปริญญาเอก แต่เมื่อมี Industrial Postdoc ขึ้นมาใหม่ก็สนใจและศึกษาข้อมูล จนได้ทราบว่าเป็นโครงการที่ สวทช. ได้รับทุนจาก บพค. ดังนั้น นับว่าเป็นรุ่นบุกเบิกของ Industrial Postdoc ที่ลักษณะการทำงานวิจัยนั้น แตกต่างจาก Postdoc หรือนักวิจัยหลังปริญญาเอก ด้วยได้รับโจทย์จากภาคอุตสาหกรรมที่มีความชัดเจน
iPlant Multipurpose Spray เป็นสเปรย์ทำความเย็นอัดแก๊สแรงดันสูงที่มีส่วนประกอบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมรวมถึงธาตุอาหารเสริมและรอง เพื่อช่วยลดอุณหภูมิภายในของพืชรวมถึงลดการคายน้ำจากอากาศที่ร้อนจัดทำให้พืชทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่รุนแรงได้ดียิ่งขึ้น ซึ่ง ดร.ณัฐพงษ์กล่าวว่า เป็นการต่อยอดจากโครงการ “การวิจัยพัฒนากระบวนการบดเปียกต่อเนื่องอนุภาคนาโนและนาโนคอมพอสิทสำหรับเส้นใยและสิ่งทอต้านเชื้อแบคทีเรีย” โดย ดร.วรล อินทะสันตา ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจาก บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นการพัฒนาปุ๋ยอนุภาคนาโนที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมการปลดปล่อยธาตุอาหารในดิน เพื่อให้พืชดูดซึมได้เต็มที่ ซึ่ง iPlant เอง ก็มาจากการนำสูตรปุ๋ยอนุภาคนาโนมาพัฒนาต่อ
“โจทย์มาจากภาคเอกชนที่ต้องการผลิตภัณฑ์ที่ช่วยดูแลต้นไม้เมืองหนาว เนื่องจากพืชเมืองหนาวเมื่อมาเจอสภาพอากาศของไทยมักจะช็อค เหี่ยว และตายไป iPlant จึงถูกพัฒนาขึ้นเพื่อให้พืชเย็นขึ้น ลดเครียด และเจริญเติบโตได้ดีจากธาตุอาหารรอง-เสริมที่เพิ่มเข้าไป ทำให้ลดอัตราการตาย และเพิ่ม ShelfLife ได้นานขึ้น”
ความสำเร็จและโอกาสจากโครงการนี้ ไม่เพียงตัวเขาที่ได้ประโยชน์ ดร. ณัฐพงษ์ชี้ว่า ประเทศไทยที่เป็นประเทศอุตสาหกรรมก็จะได้ประโยชน์เช่นกัน เพราะการมีนักวิจัยที่เป็น Industrial Postdoc มากๆ ถือเป็นกำลังคนที่ความรู้ความสามารถในระดับสูง เป็นกำลังสำคัญในการทำองค์ความรู้มาพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของประเทศ หรือต่อยอดจากสิ่งที่มีอยู่ให้ดียิ่งขึ้น ยกระดับเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะด้านเกษตรกรรมที่สามารถทำให้มีมูลค่าสูงขึ้นได้ดังเช่น iPlant ที่ทำมาจากของเหลือจากการเกษตร
สร้างโอกาส กระตุ้นแรงบันดาลใจ
“การทำงานร่วมกับบริษัทเอกชนทำให้ผมได้เรียนรู้ในทุกกระบวนการในการวิจัยและทำงานร่วมกับภาคเอกชนซึ่งแตกต่างไปจากการทำวิจัยในระดับปริญญาเอกและโครงการวิจัยรูปแบบอื่น” ดร.ติ๊ก อุ้ยรัมย์ นักวิจัย Industrial Postdoc จากทีมวิจัยวัสดุตอบสนองระดับนาโน กลุ่มวิจัยวัสดุตอบสนองและเซ็นเซอร์ระดับนาโน กล่าว
ดร.ติ๊กเริ่มเข้ามาเป็นผู้ช่วยปฏิบัติงานวิจัยในทีมวิจัยวัสดุตอบสนองระดับนาโน โดยทำงานเกี่ยวกับการพัฒนาเซ็นเซอร์เคมีไฟฟ้า ซึ่งเป็นความเชี่ยวชาญหลักที่เรียนจบมา จนกระทั่งมีบริษัทเอกชนซึ่งเป็นบริษัทน้ำตาลอันดับต้นๆของไทยให้โจทย์กับทีมวิจัยเกี่ยวกับการคิดค้นสูตรน้ำตาลและวิเคราะห์คุณสมบัติของน้ำตาลที่เรียกว่า Fructooligosaccharide เรียกสั้นว่า FOS ซึ่งจะมีลักษณะเฉพาะคือ มีรสชาติที่หวานคล้ายน้ำตาล เมื่อรับประทานเข้าไปแล้วจะไม่ถูกย่อยในทางเดินอาหาร จึงไม่ให้พลังงานและไม่เพิ่มระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งเป็นผลดีต่อระดับน้ำตาลในเลือดในผู้ป่วยโรคเบาหวาน
“โครงการวิจัยนี้ ทำให้ผมได้เข้าร่วมทีม โดยเป็นนักวิจัย Industrial Postdoc รับผิดชอบวางแผนดูแลภาพรวมทั้งโครงการร่วมกับนักวิจัยพี่เลี้ยง ซึ่งเป็นหัวหน้าโครงการและนักวิจัยท่านอื่น ๆ เราเริ่มคิดค้นสูตรน้ำตาลที่ให้ %FOS มากกว่า 95% ที่สามารถขึ้นรูปในรูปแบบผงได้ดี เก็บได้นาน แต่คุณภาพยังคงเดิม ซึ่งสามารถนำไปเป็นส่วนผสมในอาหาร ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม รวมถึงยาบางชนิดได้ด้วย” ดร.ติ๊กกล่าว พร้อมชี้ว่า หากมีการใช้ FOS แทนน้ำตาลก็จะช่วยลดผลกระทบต่างๆที่เกิดจากน้ำตาล เช่น โรคอ้วน ไขมันอุดตันในเส้นเลือด หรือแม้แต่โรคเบาหวานเอง ผู้ที่เลือกรับประทาน FOS แทนน้ำตาลทั่วไป ก็จะมีสุขภาพดีด้วย
หลังจากส่งมอบผลงานและปิดโครงการเรียบร้อย ในปีที่สองของการเป็น Industrial Postdoc เขายังได้เข้าร่วมกับทีมในการรับโจทย์วิจัยจากภาคเอกชน เกี่ยวกับการสังเคราะห์อนุภาคนาโนและการวิเคราะห์ตลาดในการผลิตอนุภาคนาโนในเชิงพาณิชย์ ซึ่งโครงการนี้ผลได้เรียนรู้ทักษะใหม่เพิ่มมากขึ้น เช่น การเพิ่มกำลังการผลิตอนุภาค การควบคุมคุณภาพการผลิตและผลิตภัณฑ์ในเชิงพาณิชย์
“เราได้เห็นมุมมองที่หลากหลาย เรียนรู้การทำงานกับภาคเอกชน วางแผนการทำงานตั้งแต่ต้นน้ำในระดับห้องปฏิบัติการสู่ปลายน้ำ เพื่อนำผลิตภัณฑ์ออกสู่ท้องตลาดให้ได้ นอกจากการทำงานวิจัยให้สำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้แล้ว ยังต้องมองไปถึงประโยชน์และคุณภาพของตัวผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาขึ้นมา เพื่อประโยชน์ของผู้บริโภค ยิ่งเวลาที่เราได้เห็นคนเลือกซื้อผลิตภัณฑ์วางขายในท้องตลาด เรารู้สึกมีความสุข และเกิดแรงบันดาลใจให้เราได้คิดค้น วิจัย และพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ออกสู่ตลาดต่อไป รวมถึงได้เห็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้เทคโนโลยีในประเทศเรา ทำโดยนักวิจัยไทย ได้ออกสู่ท้องตลาด ไม่ต้องพึ่งพาต่างประเทศไปทุกอย่าง” ดร.ติ๊กกล่าว
เขาย้ำว่า โครงการนี้ ตอบโจทย์อย่างมากสำหรับนักวิจัยรุ่นใหม่ ที่บางคนอาจจะเรียนจบแล้ว แต่โครงการวิจัยยังสามารถไปต่อได้ ในขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสให้นักวิจัยได้เรียนรู้มุมของธุรกิจ อุตสาหกรรม ที่เปิดโอกาสให้บางคนมองเห็นโอกาสและต่อยอดสู่เชิงธุรกิจ หรือทำงานร่วมกับภาคเอกชนต่อไป
เปิดมุมมอง สร้างการเปลี่ยนแปลง
“การทำงานในฐานะนักวิจัย Industrial Postdoc ถือเป็นการเปิดโลกให้ได้เห็นมุมมองที่หลากหลาย และเป็นโอกาสที่จะผลักดันงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ได้อย่างแท้จริง” ดร.จักรภพ พันธศรี นักวิจัย Industrial Postdoc จากทีมวิจัยตัวเร่งปฏิกิริยา กลุ่มวิจัยการเร่งปฏิกิริยาและการคำนวณระดับนาโน กล่าว
ดร.จักรภพทำงานวิจัยภายใต้โครงการการผลิตโลหะเงินเอิบชุ่มถ่านกัมมันต์ระดับประลองที่กำลังผลิตไม่น้อยกว่า 20 ลิตรต่อครั้ง เพื่อใช้เป็นข้อมูลประเมินความคุ้มทุนทางเศรษฐศาสตร์ในการผลิตระดับโรงงาน โดยได้รับเงินสนับสนุนจาก หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) นอกจากนี้ยังได้ร่วมวิจัยกับบริษัท ซี. ไจแกนติค คาร์บอน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำในการผลิตถ่านกัมมันต์ของประเทศไทยอีกด้วย
ทีมวิจัยได้มีการพัฒนาถ่านกัมมันต์เอิบชุ่มด้วยอนุภาคของโลหะเงิน ด้วยกระบวนการที่เป็นมิตรต่อผู้ปฏิบัติงานและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีคุณสมบัติเด่นคือสามารถดูดซับสารอินทรีย์ระเหยง่าย ยับยั้งเชื้อก่อโรค และดักจับโลหะหนักที่ปนเปื้อนในน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น ทีมวิจัยจึงมีความสนใจพัฒนากระบวนการสังเคราะห์ถ่านกัมมันต์เอิบชุ่มด้วยอนุภาคของโลหะเงินในระดับอุตสาหกรรมที่สามารถต่อยอดการผลิตในเชิงพานิชย์ได้
“ส่วนหน้าที่ของตนเองซึ่งเป็นนักวิจัย Industrial Postdoc ที่ได้รับมอบหมาย ได้แก่ การออกแบบการทดลอง ออกแบบกระบวนการผลิตโลหะเงินเอิบชุ่มถ่านคาร์บอนกัมมันต์ระดับประลอง รวมถึงการวิเคราะห์ผลการทดลอง และการต่อยอดผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เช่น แผ่นกรองอากาศคาร์บาโน หรือ CARBANO air filter โดยเป้าหมายของทีมวิจัยนั้น มุ่งหวังให้ผลิตภัณฑ์ของเราส่งผลต่อกลุ่มผู้ผลิตถ่านกัมมันต์ในประเทศไทย โดยในแง่ของการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีมูลค่าสูงมากขึ้น” ดร.จักรภพกล่าว พร้อมชี้ว่า ถ่านกัมมันต์เอิบชุ่มด้วยอนุภาคของโลหะเงิน ที่ผลิตได้มีคุณภาพเทียบเท่าหรือดีกว่าผลิตภัณฑ์ที่มีจำหน่ายในท้องตลาดในปัจจุบัน ทำให้ช่วยลดการพึ่งพาเทคโนโลยีและการนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นแนวทางเริ่มต้นที่สำคัญในต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปสำหรับวัสดุดูดซับในโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ถ่านกัมมันต์เอิบชุ่มด้วยอนุภาคของโลหะเงิน
แม้จะเคยทำงานวิจัยและพัฒนาร่วมกับภาคเอกชนเมื่อสมัยเรียน ทำให้การทำงานเป็นนักวิจัย Industrial Postdoc ไม่ได้สร้างความแตกต่างมากนักต่อการทำงาน แต่หน้าที่และความรับผิดชอบที่มากขึ้น ทำให้ดร.จักรภพมองเห็นภาพใหญ่ของการทำงาน เกิดมุมมองที่หลากหลายมากกว่าเมื่อครั้งทำงานร่วมกับภาคเอกชนในลักษณะของการรับจ้างวิจัย ซึ่งเป็นการเปิดโลกกว้างที่เขาเชื่อว่า จะเป็นประโยชน์อย่างมากกับนักวิจัย โดยเฉพาะหากมีนักวิจัย Industrial Postdoc มากๆ ก็จะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับภาคอุตสาหกรรม และประเทศชาติเช่นกัน โดยเฉพาะการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับสากล