นอกเหนือจากห้องปฏิบัติการ โลกกว้างยังมีทางอีกมากที่จะเพิ่มพูนทักษะให้นักวิจัย NANOTEC Newsletter ฉบับนี้จะพาไปคุยกับ “ดร. ท็อป-กันตพัฒน์ จันทร์แสนภักดิ์” จากทีมวิจัยวัสดุตอบสนองระดับนาโน กลุ่มวิจัยวัสดุตอบสนองและเซ็นเซอร์ระดับนาโน ที่จะมาแชร์ประสบการณ์เพิ่มพูนทักษะ และขยายเครือข่ายคอนเนคชั่นให้กว้างขวางยิ่งขึ้น หลังเป็นนักวิจัยหนึ่งเดียวของไทยที่ได้รับคัดเลือกจากสถานทูตออสเตรีย ให้เข้าร่วมอบรมโครงการ Austrian Leadership Programs (ALPs) ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา
ดร. กันตพัฒน์ จันทร์แสนภักดิ์ จากทีมวิจัยวัสดุตอบสนองระดับนาโน กลุ่มวิจัยวัสดุตอบสนองและเซ็นเซอร์ระดับนาโน ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า รู้สึกดีใจและเป็นเกียรติที่ได้รับเลือกให้เข้าร่วมโครงการดังกล่าว เนื่องจากผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับการคัดเลือกโดยสถานทูตออสเตรียประจำประเทศนั้นๆ โดยคัดเลือกจากผู้ที่มีความโดดเด่นและเกี่ยวข้องกับธีมของโครงการเป็นหลัก
โครงการ Austrian Leadership Programs หรือ ALPs เป็นโครงการที่จัดขึ้นโดยกระทรวงการต่างประเทศของสาธารณรัฐออสเตรีย ส่วนงานกิจการยุโรปและต่างประเทศ (Federal Ministry for European and International Affairs of Austria) มีวัตถุประสงค์หลัก คือ การสร้าง connection ในระดับนานาชาติ โดยการเชิญผู้มีอำนาจตัดสินใจรุ่นใหม่ (young decision-makers) ที่มีอายุน้อยกว่า 45 ปีจากหลากหลายประเทศทั่วโลก โดยมีเงื่อนไขว่า ต้องเป็นประเทศที่ไม่อยู่ในสหภาพยุโรป มาเข้าร่วมกิจกรรมในโครงการตามธีม (Theme) ของแต่ละครั้ง ซึ่งธีมของโครงการจะมีการเปลี่ยนแปลงทุกปีตามนโยบายทางการทูตของสาธารณรัฐออสเตรีย
โครงการ ALPs ครั้งล่าสุดคือ ครั้งที่ 15 ถูกจัดขึ้นระหว่างวันที่ 16 – 21 เมษายน 2566 ในธีม Life Sciences and Digital Technologies โดยเชิญตัวแทนจาก 20 ประเทศทั่วโลก ได้แก่ ออสเตรเลีย บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา บราซิล ชิลี จีน โคลอมเบีย อียิปต์ จอร์เจีย จาไมกา โคโซโว เลบานอน มอลโดวา มอนเตเนโกร ปากีสถาน เซเนกัล เซอร์เบีย ตูนีเซีย ตุรเคีย สหรัฐอเมริกา และไทย จากหลากหลายอาชีพ ไม่ว่าจะเป็น ผู้บริหารบริษัทสตาร์ทอัพ นักวิจัย อาจารย์มหาวิทยาลัย นักวิจัยหลังปริญญาเอก (postdoc) นักศึกษาปริญญาเอก เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือแม้แต่นักธุรกิจ ที่มีความเกี่ยวข้องกับธีม Life Sciences and Digital Technologies
สร้างการรับรู้ผ่านงานวิจัย
“ทางสถานทูตออสเตรียประจำประเทศไทยได้แจ้งผมเบื้องต้นว่า ได้รู้จักผมผ่านผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับระบบนำส่งนาโนเพื่อการรักษามะเร็งทางเลือกแบบมุ่งเป้า ซึ่งได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2565 จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และขอให้ส่ง CV ให้กับสถานทูตเพื่อทำการคัดเลือกรอบสุดท้าย และทำให้ได้รับเลือกให้เข้าร่วมโครงการในเวลาต่อมา” ดร. กันตพัฒน์กล่าว
งานวิจัยดังกล่าวคือ การพัฒนาการรักษามะเร็งแนวทางใหม่ ซึ่งเป็นการรักษามะเร็งผ่านการกระตุ้นด้วยแสง (Photodynamic therapy) โดยวิธีดังกล่าวนี้ต่างจากการรักษามะเร็งแบบฉายรังสี (Radiotherapy) ตรงที่ การฉายรังสีจะใช้แสงพลังงานสูงเพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง แต่การรักษามะเร็งแบบการกระตุ้นด้วยแสงจะใช้แสงพลังงานต่ำโดยเฉพาะแสงในย่านใกล้รังสีอินฟราเรด (Near infrared region) ซึ่งมีคุณสมบัติในการแทรกตัวผ่านผิวหนังได้ลึก (High penetration depth) และไม่ทำลายเซลล์ข้างเคียง โดยแสงพลังงานต่ำดังกล่าวจะไปกระตุ้นสารก่อภาวะไวแสง (Photosensitizer) ให้เปลี่ยนโมเลกุลออกซิเจนทั่วไป เป็นโมเลกุลออกซิเจนที่ว่องไวต่อปฏิกิริยา (Reactive oxygen species) และมีความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็ง โดยสารก่อภาวะไวแสงจะถูกฉีดเข้าตัวผู้ป่วย และแทรกซึมอยู่ในเซลล์มะเร็งก่อนการกระตุ้น โดยหลังการกระตุ้นด้วยแสง โมเลกุลออกซิเจนที่ว่องไวจะสลายตัวไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ไม่มีสารพิษตกค้างในร่างกายของผู้ป่วยซึ่งเป็นข้อดีที่เหนือกว่าการรักษาด้วยวิธีเคมีบำบัด
งานวิจัยนี้นำไปสู่ “วัสดุนาโนห่อหุ้มสารประกอบเอซา-บอดิปี้ชนิดใหม่ ที่สามารถรักษามะเร็งแบบมุ่งเป้า ด้วยเทคนิคการกระตุ้นด้วยแสงพลังงานต่ำ” ซึ่งเป็นการรักษามะเร็งแนวใหม่ที่กำลังมีการวิจัยอย่างกว้างขว้างในต่างประเทศ ซึ่งวัสดุนาโนดังกล่าวได้ผ่านการทดสอบประสิทธิภาพการยังยั้งเซลล์มะเร็งเต้านมทั้งในระดับเซลล์ และในหนูทดลอง ซึ่งเป็นการยืนยันได้ว่า วัสดุนาโนดังกล่าวมีความเป็นไปได้สูงที่จะนำมาใช้รักษามะเร็งในมนุษย์ ที่สำคัญ ยังเป็นประโยชน์ในระยะยาวคือ เชื่อมโยงความรู้ทางเคมีวัสดุกับเทคนิคทางการแพทย์ ซึ่งเป็นการพัฒนาองค์ความรู้ใหม่เพื่อช่วยในการเพิ่มตัวเลือกในการรักษามะเร็ง นอกจากนี้ยังเป็นการพัฒนานักวิทยาศาสตร์ นักศึกษา และขยายความร่วมมืออย่างต่อเนื่องระหว่างมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มวิจัย และเพิ่มศักยภาพงานวิจัยแนวหน้าให้กับประเทศไทย อีกทั้งยังสามารถขยายองค์ความรู้เพื่อพัฒนาเครื่องมือวิทยาศาสตร์และการแพทย์เพื่อใช้ประโยชน์ในประเทศได้
เพิ่มทักษะทางสังคม-สร้างคอนเนคชั่น
ดร. กันตพัฒน์เล่าว่า กิจกรรมหลักของโปรแกรมจะเน้นไปที่การนำเสนอสาธารณรัฐออสเตรีย ในแง่มุมของ Life Sciences and Digital Technologies ไม่ว่าจะเป็นนโยบายที่เกี่ยวข้อง ถอดบทเรียนปัญหาในอดีต สถานะในปัจจุบันของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึง start-up และ ecosystems ในการสนับสนุนอุตสาหกรรมด้าน Life Sciences and Digital Technologies ผ่านกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น panel discussion และ presentation จากผู้เชี่ยวชาญ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมทั้งการเยี่ยมชมบริษัทเอกชนและหน่วยงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับธีมของโครงการ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทด้านวัคซีน (Valneva), บริษัทผลิตยาและเวชภัณฑ์ (Novartis), บริษัทเครื่องมือแพทย์ที่มุ่งเน้นการผลิตเครื่องช่วยฟังสำหรับผู้พิการด้านการได้ยิน (MED-EL), สถาบันวิจัยทางควอนตัมฟิสิกส์และการคำนวณ (Institute for Quantum Optics and Quantum Information Innsbruck) และระบบนิเวศต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีดิจิทัลต่างๆ เช่น Vienna BioCenter ซึ่งเป็นคลัสเตอร์ที่มีเครื่องมือและสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับสถาบันวิจัยทางด้านชีววิทยาศาสตร์หรือบริษัทด้านเทคโนโลยีชีวภาพ และ Werkstätte Wattens (the international business and creative center) ซึ่งเป็น workspace ให้เช่าสำหรับเจ้าของธุรกิจ, สตาร์ทอัพ และหน่วยงานผู้ให้บริการต่างๆ โดยเน้นบริษัทที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและนวัตกรรม
นอกจากนั้น ยังมีกิจกรรมที่นำเสนอสาธารณรัฐออสเตรีย ในแง่มุมของเมืองท่องเที่ยว โดยการพาชมสถาปัตยกรรมของเมืองเวียนนาและอินส์บรุค ทัศนียภาพของเทือกเขาแอลป์ (Alps) และแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของออสเตรีย เช่น พิพิธภัณฑ์ Swarovski Kristallwelten และ United Nations Headquarters
“เมื่อได้รับเลือกเข้าร่วมในโครงการนี้ ก็ศึกษาข้อมูลของโครงการและโปรแกรมต่างๆ ที่จะมีขึ้น และพบว่า ในโปรแกรมได้จัดให้มี bilateral meeting หรือการพบปะแบบส่วนตัวระหว่างผู้เข้าร่วมโครงการ ALPs กับผู้เชี่ยวชาญของสาธารณรัฐออสเตรียที่เราอยากสร้างคอนเนคชั่นด้วย จึงต้องมีการเตรียมตัวในการหาข้อมูลดังกล่าว โดยผมเลือกที่จะขอพบผู้เชี่ยวชาญในงานวิจัยด้านการรักษามะเร็ง ของมหาวิทยาลัยการแพทย์เวียนนา (Medical University of Vienna) รวมทั้งศึกษาข้อมูลของผู้ร่วมโครงการท่านอื่น เพื่อสร้างคอนเนคชั่นในระยะเวลาอันสั้นได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุด” นักวิจัยนาโนเทคชี้
ดร. กันตพัฒน์ ใช้โอกาสที่ได้รับให้เกิดประโยชน์ที่สุด โดยสร้างคอนเนคชั่นด้านการวิจัยกับ Prof. Dr. Maria Sibilia จาก Comprehensive Cancer Center, the Medical University of Vienna ผ่าน bilateral meeting ที่จัดโดยโครงการ และในวันสุดท้ายของงาน ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคนจะถูกเพิ่มเป็นสมาชิกของ ALPs Alumni Network ผ่านแพลตฟอร์ม Facebook และ LinkedIn ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกทุกคนที่เคยเข้าร่วม ALPs ตั้งแต่ครั้งแรกจนถึงครั้งปัจจุบัน