กลับมาอีกครั้งกับงานประชุมวิชาการด้านนาโนเทคโนโลยีระดับสากลอย่าง การประชุมวิชาการและนิทรรศการนานาชาติทางนาโนเทคโนโลยี ครั้งที่ 8 (NanoThailand 2023) ที่สมาคมนาโนเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ร่วมกับสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) และศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 พ.ย. – 1 ธันวาคม 2566 ณ โรงแรมดุสิตธานี พัทยา ภายใต้กรอบแนวคิด “Nanotechnology for Sustainable World” NANOTEC Newsletter ฉบับนี้ ได้รับเกียรติจาก “ดร.วรรณี ฉินศิริกุล” ในฐานะนายกสมาคมนาโนเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย, และ “ดร.วิยงค์ กังวานศุภมงคล” ในฐานะ ประธานอำนวยการ NanoThailand 2023 ที่จะมาบอกเล่าถึงงาน NanoThailand ที่จะถึงนี้ทั้งในมิติของเทคโนโลยีและองค์ความรู้ด้านนาโนเทคโนโลยีจากทั่วโลก และศักยภาพด้านนาโนเทคโนโลยีของไทย
การประชุมวิชาการและนิทรรศการนานาชาติทางนาโนเทคโนโลยี (NanoThailand) เป็นเวทีสากลที่รวมนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงอาจารย์ นักเรียนนักศึกษา และผู้ที่สนใจทางด้านนาโนเทคโนโลยีร่วมกันนำองค์ความรู้และประสบการณ์จากทั่วโลกมาร่วมแบ่งปัน แลกเปลี่ยน และจับมือกันพัฒนาด้านนาโนเทคโนโลยี ซึ่งจะจัดขึ้นทุก ๆ 2 ปี โดยในปี 2023 นี้นับเป็นครั้งที่ 8 ในครั้งนี้สมาคมนาโนเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ร่วมกับสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) และศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกันจัดขึ้นภายใต้กรอบแนวคิด “Nanotechnology for Sustainable World” มีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมงานกว่า 350 คน โดยเป็นผู้ร่วมงานชาวต่างชาติ 100 คนจาก 20 ประเทศทั่วโลก
ดร. วรรณี ฉินศิริกุล ในฐานะนายกสมาคมนาโนเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ชุดที่ 6 กล่าวว่า สมาคมนาโนเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยนั้น ได้จดทะเบียนก่อตั้งสมาคมขึ้นเมื่อปี 2553 โดยมีวัตถุประสงค์ เป็นหน่วยงานประสานงานเผยแพร่และแลกเปลี่ยนความรู้ทางนาโนเทคโนโลยีระหว่างสมาชิก และผู้ที่สนใจทางนาโนเทคโนโลยีทั้งภายในและภายนอกประเทศ รวมถึงพัฒนาการศึกษาและสนับสนุนส่งเสริมการวิจัยทางนาโนเทคโนโลยีทุกสาขา ส่งเสริมให้บริการและเผยแพร่ความรู้ทางนาโนเทคโนโลยีแก่ประชาชน เพื่อยกระดับคุณภาพของชีวิต ซึ่งการประชุมวิชาการและนิทรรศการนานาชาติทางนาโนเทคโนโลยี (NanoThailand) จะเป็นกิจกรรมที่ตอบโจทย์ในด้านการแลกเปลี่ยนและเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการ ผลงานวิจัย รวมทั้งการนำความรู้ด้านนาโนเทคโนโลยีไปประยุกต์จากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และนำไปสู่การสร้างความร่วมมือการวิจัยกับทั้งภายในและภายนอกประเทศ
การประชุมวิชาการนานาชาติ NanoThailand 2023 ที่กำลังจะเริ่มขึ้นนี้ อยู่ภายใต้แนวคิด “Nanotechnology for Sustainable World” ที่ประกอบด้วย 13 หัวข้อดังนี้ (1) Nanoencapsulation and Functional Ingredients (2) Theory and Simulation for Nanosystems (3) Nanosafety & Standard (4) Nanomaterials and Nanotechnology for Electronic/Optoelectronic Devices and Sensors (5) Nanomedicine, Nanosensor and Nano-Biotechnology (6) Nanotechnology for Energy Storage and Management (7) Nanotechnology for Environment and Agriculture (8) Nanotechnology for Catalysis and Industrial Applications (9) Nanotechnology for Startups and Industrial Enterprises (10) Nanocharacterization & Instrumentation และมี Special session อีก 3 sessions ได้แก่ (11) Advanced Nanostructured Materials for a Global Circular Economy (12) Symposium on Bio-Based Chemicals & Fuels from Lignocellulose 2023 (Hub of Knowledge) และ (13) The 2nd Thailand Symposium on Nanopore technology
นอกจากนี้ ยังได้รับเกียรติจากสถาบันวิทยสิริเมธีหรือ VISTEC เป็นเจ้าภาพร่วมกับนาโนเทค สวทช. และสมาคมฯ จัดงานประชุมฯ ในครั้งนี้ โดยมีส่วนช่วยในการสนับสนุนงาน ในด้านต่าง ๆ เช่น การเชิญวิทยากรชั้นนำที่เป็นผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ การร่วมมือกับศูนย์เครือข่ายการวิจัยด้านนาโนเทคโนโลยีในการนำเสนอผลงานวิจัยเพื่อแสดงความก้าวหน้าด้านนาโนเทคโนโลยีของประเทศ นอกจากนี้ ยังได้เชิญชวนภาคเอกชนที่สนใจงานด้านนาโนเทคโนโลยีมาร่วมในงานอีกด้วย
“ดิฉันคาดหวังให้งานนี้เป็นเวทีที่ผสานพลังของเครือข่ายพันธมิตรด้านนาโนเทคโนโลยีจากทั่วโลก ทั้งด้านวิจัยและด้านการศึกษา แลกเปลี่ยนและเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านนาโนเทคโนโลยี เพื่อพัฒนานวัตกรรมที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรโลก บูรณาการการทำงานร่วมกับพันธมิตรผ่าน Ecosystem หรือระบบนิเวศด้านนาโนเทคโนโลยีที่เข้มแข็ง อันเกิดจากความร่วมมือในเวทีโลกเช่นงาน NanoThailand นี้ และนำไปสู่ความร่วมมือระหว่างกันในอนาคต เพื่อขับเคลื่อนความก้าวหน้าทางด้านนาโนเทคโนโลยีของโลก และของไทยเรา” ดร.วรรณีกล่าว
ดร. วิยงค์ กังวานศุภมงคล ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยการวิเคราะห์ระดับนาโนขั้นสูงและความปลอดภัย นาโนเทค สวทช. ในฐานะ ประธานอำนวยการ NanoThailand 2023 กล่าวว่า ไฮไลท์ในงานประชุมครั้งนี้ เราได้รับเกียรติจากวิทยากรกิตติมศักดิ์ (plenary speaker) ซึ่งเป็นนักวิจัยในระดับแนวหน้าของโลก 2 ท่าน คือ Prof. Susumu Kitagawa จากสถาบัน Institute for Integrated Cell-Material Sciences (iCeMS), Kyoto University, Japan บรรยายในหัวข้อเรื่อง “Chemistry and Application of Soft Porous Crystals from MOFs/PCPs” และ Prof. Cees Dekker จากสถาบัน Kavli Institute of Nanoscience, Delft University of Technology, Netherlands ผู้เชี่ยวชาญด้านนาโนพอร์ (nanopore) บรรยายในหัวข้อเรื่อง “Employing Nanotechnology for Single-molecule Biology: From Nanopore Protein Sequencing to Chromosome Organization”
Prof. Susumu Kitagawa จากสถาบัน Institute for Integrated Cell-Material Sciences (iCeMS), Kyoto University, Japan เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการสังเคราะห์และศึกษาสมบัติของโครงสร้างโลหะ-อินทรีย์ (metal-organic frameworks, MOF) หรือพอลิเมอร์แบบโคออร์ดิเนตที่มีรูพรุน (porous coordination polymers, PCPs) โดยในค.ศ. 1997 Prof. Kitagawa เป็นคนแรกที่ค้นพบและตรวจสอบเอกลักษณ์ “ความพรุน” ของสารประกอบเชิงซ้อนของโลหะด้วยการทดลองการดูดซับแก๊ส และเรียกวัสดุเหล่านี้ว่า PCPs หรือ MOFs จนถึงปัจจุบัน MOF ถูกจัดประเภทเป็นวัสดุที่มีรูพรุนประเภทใหม่ ซึ่งแตกต่างจากการจำแนกวัสดุอนินทรีย์และคาร์บอนทั่วไป Prof. Kitagawa ยังเป็นผู้บุกเบิกเคมีเชิงฟังก์ชันของ MOF และค้นพบ MOF ที่มีสมบัติยืดหยุ่น ซึ่งมีสมบัติแตกต่างไปจากวัสดุที่มีรูพรุนทั่วไป และปัจจุบันมี MOF ที่แตกต่างกันจำนวนมาก
การพัฒนางานวิจัยที่เกิดจากการค้นพบของ Prof. Kitagawa นำไปสู่การปฏิวัตินวัตกรรมในสาขาวัสดุศาสตร์ โดยมีผลกระทบในวงกว้างทั้งในด้านวิชาการและอุตสาหกรรม บริษัทอุตสาหกรรมเคมีกำลังผลิตวัสดุ MOF สำหรับใช้ในการแยกสาร ทำให้บริสุทธิ์ การจัดเก็บ และการขนส่งแก๊ส รวมถึงการใช้งานอื่น ๆ และจากความสำเร็จของ Prof. Kitagawa ท่านได้เป็นผู้บุกเบิกและเปิดประตูสู่ยุคใหม่สำหรับวัสดุที่มีรูพรุน ซึ่งมีความสำคัญต่อการจัดการปัญหาด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของมนุษยชาติให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน
ด้าน Prof. Cees Dekker จากสถาบัน Kavli Institute of Nanoscience, Delft University of Technology, Netherlands นั้น เป็นผู้ค้นพบสมบัติทางอิเล็กทรอนิกส์ใหม่ ๆ ของท่อนาโนคาร์บอน และมีงานวิจัยที่เกี่ยวกับการอัดขึ้นรูปวงดีเอ็นเอ (DNA loop) และการขดตัวยวดยิ่งไปจนถึงการเคลื่อนย้ายดีเอ็นเอ (DNA translocation) ผ่านนาโนพอร์ ปัจจุบัน Prof. Dekker สนใจเกี่ยวกับการสร้าง DNA origami turbine ที่ขับเคลื่อนด้วยการไหลระดับนาโน การอ่านลำดับของเปปไทด์โดยอาศัยนาโนพอร์ และการถ่ายภาพเวลาจริงของการอัดขึ้นรูปวงดีเอ็นเอด้วย condensin/cohesin SMC complexes
นอกจากนี้ในงานยังมีการนำเสนอผลงานเด่นของนาโนเทค ได้แก่ เทคโนโลยีนาโนเอ็นแคปซูเลชันและส่วนประกอบเชิงฟังก์ชัน (nanoencapsulation technology and functional Ingredients) ชุดตรวจ (sensor) ต่าง ๆ และเทคโนโลยีการดักจับคาร์บอน (carbon capture utilization, CCU) รวมถึงมีผลงานนวัตกรรมที่นำเสนอความก้าวหน้าทางด้านนาโนเทคโนโลยีจากพันธมิตรที่แข็งแกร่งของไทยอีกมากมายด้วยเช่นกัน