โลกร้อน บ้านร้อน ค่าไฟร้อนกว่า NANOTEC Newsletter ฉบับนี้ ขอชวนมาฟังไอเดียจาก “ดร. ศรัณย์ อธิการยานันท์” ที่ต่อยอดองค์ความรู้ และความเชี่ยวชาญด้านการเคลือบนาโน (Nano Coating) พัฒนา “Nano Cool Paint” สีทาภายนอกเพื่อลดอุณหภูมิพื้นผิว โดยสามารถลดอุณภูมิพื้นผิวได้ดีกว่าสีทั่วไป 3-4 องศา ตอบโจทย์ผู้บริโภคด้วยการช่วยลดค่าไฟฟ้าได้ดีกว่าสีทั่วไปถึง 15% จนสามารถคว้ารางวัล “ผลงานที่น่าลงทุนที่สุดปี 67” จากเวที Investment Pitching ในงาน Thailand Tech Show 2024 Science for Exponential Growth: Tech to Biz พร้อมส่งต่อผู้ประกอบการเพื่อต่อยอดเชิงพาณิชย์
ดร. ศรัณย์ อธิการยานันท์ ทีมวิจัยนวัตกรรมเคลือบนาโน กลุ่มวิจัยวัสดุผสมและการเคลือบนาโน ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) นำเสนอภายในงานถึงภาพของอนาคตที่เราจะต้องพบเจอคือ ค่าไฟที่เตรียมเพิ่มขึ้นในอนาคตจากภาวะโลกร้อน โดยข้อมูลจาก International Energy Agency, Southeast Asia Energy Outlook 2019 ชี้ว่า ภายใน 20 ปี ค่าไฟของไทยจะเพิ่มขึ้น 100%
“เรามองเห็นช่องว่าง (Gap) ของสีที่มีอยู่ในท้องตลาดปัจจุบัน ที่มีประสิทธิภาพในการลดความร้อนจากดวงอาทิตย์ราว 85% แต่ด้วยองค์ความรู้ที่เรามี สามารถพัฒนาให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นได้ถึง 94%” นักวิจัยนาโนเทคกล่าว พร้อมชี้ว่า เขาประยุกต์หลักการทางธรรมชาติจากแมลงปีกแข็งสีขาว “Coolest” ที่มีคุณสมบัติตัวเย็นที่สุดแม้จะเดินในทะเลทราย โดยการศึกษาปรากฏการณ์ของแมลงตัวนี้พบว่า สามารถทำความเย็นทางรังสี ซึ่งมีกระบวนการอยู่ 2 อย่าง คือ การสะท้อนแสงอาทิตย์และการแผ่รังสีออกสู่ชั้นบรรยากาศ
นักวิจัยจึงพัฒนาสู่อนุภาคนาโนปรับขนาดให้มีประสิทธิภาพการทำความเย็น สามารถใช้ในสีได้ โดยจุดเด่นของ Nano Cool Paint ช่วยลดความร้อนจากดวงอาทิตย์ จาก 86% เป็น 94% เพิ่มการปล่อยความร้อนออกสู่ภายนอกจาก 90% เป็น 93%
เมื่อทำการทดสอบภาคสนามเปรียบเทียบกับสินค้าทั่วไปพบว่า ลดอุณภูมิพื้นผิวได้ดีกว่าสีทั่วไป 3-4 องศา นอกจากนี้ ยังช่วยลดค่าไฟฟ้าได้ดีกว่าสีทั่วไปถึง 15% โดยอนุภาคนาโนใช้การผลิตสีทั่วไปแบบมาตรฐาน ใช้งานง่าย ทาสะดวก แห้งไว อนุภาคนาโนยังสามารถใช้ได้ในสีหลากหลายชนิดนอกจากสีทาอาคาร
“ในอนาคตที่อุณภูมิโลกจะร้อนขึ้น การจะหลบร้อนในบ้านหรืออาคารจะต้องไม่ร้อนตาม ประกอบกับค่าไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้น การเปิดแอร์แม้ช่วยลดความร้อน แต่ค่าไฟก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น วิธีที่จะลดอุณหภูมิพื้นผิวโดยไม่ต้องพึ่งการใช้ไฟฟ้า ด้วยการใช้ทาสีภายนอกเพื่อให้อุณภูมิภายในลดลง แต่ให้ประสิทธิภาพแตกต่างจากสีในท้องตลาดทั่วไปนั้น เป็นโอกาสที่ดีทางการตลาด สำหรับผลิตภัณฑ์สีทาบ้าน สารเคลือบพื้นผิว หรืออื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งในลักษณะของผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือเพิ่มประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่แล้วก็สามารถทำได้เช่นกัน” ดร. ศรัณย์กล่าว พร้อมชี้ว่า ปัจจุบัน Nano Cool Paint อยู่ระหว่างเสาะหาผู้รับถ่ายทอดเทคโนโลยี ทั้งกลุ่มอุตสาหกรรมสีทาบ้าน รวมถึงอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
สำหรับเวทีการนำเสนอผลงานวิจัยเด่นที่น่าลงทุน (Investment Pitching) ในปีนี้ มีจำนวนทั้งสิ้น 8 ผลงานจาก สวทช. 5 ผลงาน และพันธมิตร 3 ผลงาน ซึ่งผลปรากฏว่ารางวัลผลงานที่น่าลงทุนที่สุดประจำปี 2567 จากการโหวตจากนักลงทุนและประชาชนที่เข้าร่วมงาน ได้แก่ ผลงาน Nano Cool Paint สีทาภายนอกเพื่อลดอุณหภูมิพื้นผิว จากศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช. ของ ดร. ศรัณย์ อธิการยานันท์ สำหรับรางวัลผลงานที่นำเสนอดีที่สุด ได้แก่ ดร. ธีศิษฏ์ ลีลาสวัสดิ์สุข นักวิจัยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค)
ส่วนผลงานเด่นของ สวทช. อีก 3 ผลงาน ได้แก่ ไซโปร®️ : สายพันธุ์ยีสต์และกระบวนการผลิตไซลิทอล (ไบโอเทค), AgriPV: แผงโซลาร์เซลล์ ลดรังสียูวีและสะท้อนความร้อนเพื่อการเกษตร (เอ็นเทค) และ Ross (รอส) Motion-Assist Exosuit: ผู้ช่วยคนใหม่ของเหล่าผู้ดูแล (เอ็มเทค) และ ผลงานจากหน่วยงานพันธมิตร 3 ผลงาน ได้แก่ สารออกฤทธิ์ทางชีวภาพสำหรับเคลือบบรรจุภัณฑ์ ข้อเข่าเทียมสุนัขสำหรับรักษากระดูกสะบ้าเคลื่อนหลุด: นวัตกรรมเพื่อสัตว์เลี้ยง และ เปปไทด์จากจิ้งหรีด: โปรตีนทางเลือกใหม่